ที่ประชุมคณะทำงานศึกษาแนวทางปรองดองพิจารณาเยียวยาเหยื่อการเมือง “แม่เกด” แนะเน้นประกันตัว ด้าน “นิชา” แนะจัดเสวนาให้เข้าใจปรองดองตรงกัน “บุญเลิศ” ชี้คดีไม่ถึงที่สุดยังบริสุทธิ์ ยังไม่พูดถึงคดีหมิ่นฯ แย้มถกฝ่ายเกี่ยวข้องเรื่องประกันตัว ชงรัฐตั้ง คกก.เยียวยาฯ ผู้รับผลกระทบการเมือง รับถอด “ปู” กระทบปรองดองบ้าง แต่ไม่ห่วงความร่วมมือ
วันนี้ (27 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะรองประธานคณะทำงานศึกษาแนวทางการสร้างการปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้ที่ประชุมคณะทำงานศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ได้พิจารณากรณีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548-2557 ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ โดยที่ นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุชุมนุมทางการเมืองปี 2553 เสนอให้มุ่งเน้นการอำนวยความยุติธรรมผู้ที่ถูกคุมขังคดีการเมืองที่ยังไม่ได้รับการประกันตัวให้ได้รับความยุติธรรม ให้ได้รับการประกันตัวออกมาโดยเร็วที่สุด ส่วนนางนิชา ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เสนอให้ภาครัฐดำเนินการจัดเสวนาในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันต่อกระบวนการสร้างความปรองดอง
นายบุญเลิศกล่าวต่อว่า คณะทำงานฯ เห็นว่าการอำนวยความยุติธรรมมีความสำคัญมาก เพราะตามหลักการผู้ถูกต้องขังถ้าคดียังไม่ถึงที่สุดจะยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ อีกทั้งอิสรภาพของประชาชนที่ถูกคุมขังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างมาก และยังเป็นการคำนึงถึงมนุษยธรรมสำหรับผู้ต้องขังที่มีความพิการด้วย แต่ในส่วนของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ยังไม่มีการพูดถึง เพราะสังคมเห็นว่าข้อหาดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรง นอกจากนี้ หากสปช.จะไปเยี่ยมผู้ถูกคุมขังทางการเมือง เพื่อแสดงความเอื้ออาทรก็จะมีการพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป ขณะเดียวกันจะมีการประสานไปยัง นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน รวมถึงญาติผู้ได้รับความเสียหาย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อคณะทำงานฯ โดยไม่เลือกสีเลือกฝ่าย
นายบุญเลิศกล่าวว่า คณะทำงานฯ ยังมีแนวคิดที่อยากพูดคุยกับภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการให้ประกันหรือไม่ให้ประกัน รวมถึงการสร้างความยุติธรรม เช่น ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ประธานศาลฎีกา อัยการสูงสุด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ คณะทำงานฯ จะเสนอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการเยียวยาดูแลและอำนวยความยุติธรรม ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548-2557 โดยประกอบด้วยบุคคลจากหลายฝ่ายที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะตอบรับข้อเสนอหรือไม่ ซึ่งขณะนี้คณะทำงานฯ ได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยจะจัดทำเป็นจดหมายให้ ประธาน สปช.ลงนาม เพื่อเสนอรัฐบาลโดยเร็ว นอกจากนี้ คณะทำงานฯ จะทำงานแข่งกับเวลา และเห็นว่าในเดือน ก.พ.ซึ่งเป็นเดือนแห่งความรัก และในเดือน เม.ย.ซึ่งมีวันขึ้นปีใหม่ไทย และวันผู้สูงอายุ จึงอาจมีกิจกรรมที่ทำให้คนไทยหันหน้าเข้าหากัน
นายบุญเลิศกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังได้พูดถึงกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าคงจะมีผลกระทบต่อบรรยากาศของความปรองดองอยู่บ้าง เพราะการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี อาจทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งรู้สึกผิดหวัง ต้องการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ลงมาสมัครรับเลือกตั้งอีก แต่ในส่วนของความร่วมมือตามพื้นที่ต่างๆ ต่อกระบวนการสร้างความปรองดอง คณะทำงานฯ ไม่มีความเป็นห่วงในจุดนี้ อย่างไรก็ตาม คณะทำงานฯ ยังคงต้องทำงานกันต่อไป โดยเริ่มต้นจากปัญหาของประชาชนที่เดือดร้อนก่อน ส่วนเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งนอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ของเราก็วางไว้