xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” สอนมวย “บรรยง ที่ปรึกษา คสช.” หลังอ้างปิโตรเลียมจะกลายเป็นของราคาถูก ต้องรีบขุดมาขาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้าย) นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หนึ่งในคณะกรรมการซูเปอร์บอร์ด และที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ASTVผู้จัดการ - “ธีระชัย” โพสต์เฟซบุ๊กโต้ “บรรยง พงษ์พานิช” กรณีซูเปอร์บอร์ด รสก.-ที่ปรึกษานายกฯ อ้างทฤษฎี Peak Oil ระบุปิโตรเลียมกำลังจะเสื่อมค่าต้องรีบเปิดสัมปทานรอบ 21 ขุดมาขายก่อนกลายเป็นโคลน-อากาศไร้ค่า ยันภาคประชาชนไม่ได้ค้านการขุดขึ้นมาใช้ เพียงขอให้วิธีการบริหารจัดการทำให้ชาติและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด แถมติงให้ทัศนะดูถูกข้าราชการไทยไม่มีปัญหาบริหารทรัพยากร ชี้เท่ากับยอมแพ้การทุจริตตั้งแต่อยู่ในมุ้ง

จากกรณีที่ นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หนึ่งในคณะกรรมการซูเปอร์บอร์ด และที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เผยแพร่บันทึกผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา เรื่อง ว่าด้วยสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งในเวลาต่อมาเว็บไซต์ไทยพับลิก้าได้นำบันทึกดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อ โดยบันทึกดังกล่าวของนายบรรยง เป็นผลมาจากการกรณีในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา ในญัตติขอให้ที่ประชุมลงมติเห็นชอบต่อข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปเสียงข้างมาก เรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และรายงานเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และแนวทางการบริหารจัดการพลังงานปิโตรเลียมอย่างยั่งยืน จากจำนวนผู้เข้าประชุม 230 คน มีผู้ไม่เห็นด้วย 130 คน งดออกเสียง 21 คน และ เห็นด้วย 79 คน

ทั้งนี้ นายบรรยงได้เขียนบันทึกระบุว่า ตนเองหนุนสุดตัวที่จะต้องให้มีการเดินหน้าเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพราะภายในอนาคตไม่นานปิโตรเลียมจะลดความสำคัญลงอย่างมาก และรู้สึกผิดหวังไม่น้อยที่สภาปฏิรูปฯ มีมติไม่เห็นด้วยต่อการเปิดสัมปทาน

“จะเห็นได้ว่า เรื่องของน้ำมันที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งในโลกปัจจุบันนั้นมันเพิ่งจะเกิดจะเป็นในช่วงสี่สิบปีนี่เอง และอีกไม่กี่สิบปี มันก็จะลดความสำคัญจนเป็นแค่สินค้าเล็กๆ ที่ไม่มีใครสนใจอีกต่อไป ดังนั้นใครมีจึงมักรีบขุดเอาออกมาใช้ประโยชน์กันจ้าละหวั่น ไม่มีใครคิดจะเก็บเอาไว้ให้ลูกหลานอีกต่อไป มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านถึงกับกล้าฟันธงว่า เราจะไม่มีทางได้เห็นน้ำมันราคา 100 เหรียญ (มูลค่าปัจจุบัน) อีกแล้วในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

“ผมแน่ใจเลยว่ามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนและเข้าใจผิดอยู่ไม่น้อย ใครเกี่ยวข้องช่วยเร่งแก้ไขเถิดครับ อย่าให้ลูกหลานต้องมานั่งบ่นว่า ‘เก็บน้ำโคลน เก็บอากาศที่ใช้ไม่ได้ไว้ให้พวกกูทำไมวะ พวกกูเลยยังยากจนอยู่ ไม่เหมือนไอ้พวกลูกหลานชีคแถบโน้น ที่พ่อแม่มันรู้จักเปลี่ยนของใต้ดินให้เป็นเงินทอง เอามาพัฒนาประเทศ’” ที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ และซูเปอร์บอร์ด รสก.ระบุ
(อ่านบันทึกทั้งหมดของนายบรรยงได้ที่นี่ “ว่าด้วยสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21”)

ต่อมาเมื่อคืนวานนี้ (26 ม.ค.) จนถึงช่วงเช้าวันนี้ (27 ม.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก @Thirachai Phuvanatnaranubala ซึ่งมีเนื้อหาตอบโต้ความเห็นของนายบรรยง ซึ่งอ้างเหตุผลว่า ภายในอนาคตไม่นาน ปิโตรเลียมจะลดความสำคัญลงอย่างมาก ประเทศไทยในฐานะเจ้าของทรัพยากรจึงควรรีบเปิดสัมปทานให้เอกชนและต่างชาติเข้ามาประมูล โดยนายธีระชัยระบุว่า

“มีคนอ้างทฤษฎี Peak Oil ที่โด่งดังแพร่หลายของ M. King Hubbert ที่ระบุว่า การใช้น้ำมันในโลกจะถึงจุดสูงสุดในช่วงปี 2010-2020 นี้ เมื่อโลกใช้ประมาณวันละ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ทฤษฎีนี้อ้างว่าหลังจากนั้นการใช้จะลดลงอย่างรวดเร็ว จะลดเหลือแค่ 60 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2050 คือในอีก 35 ปีข้างหน้า และจะลดลงไปอีกเหลือ 20 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2100 และกลับไปเหลือแค่ 5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2200 คือในอีก 85 ปี และ 185 ปีข้างหน้า

ทฤษฎีนี้มองไกลมากจนกระทั่งจะไม่มีใครในยุคนี้มีชีวิตอยู่ที่จะยืนยันความถูกต้องได้เลย มีคนยกเอาทฤษฎีนี้เป็นข้ออ้างว่า ตามทฤษฎีนี้ไทยจึงควรจะเร่งเปิดสำรวจรอบ 21 เพราะมิฉะนั้นไทยจะขาดความมั่นคงทางพลังงาน

ข้ออ้างทั้งสองเรื่องนี้ขัดกันในตัวครับ เพราะเมื่อคาดการณ์ว่าการผลิตพลังงานจะมีจนล้นโลกอย่างนี้ ไทยจะบริหารความมั่นคงทางพลังงานได้ไม่ยาก ด้วยวิธีทำสัญญาซื้อล่วงหน้าจากประเทศต่างๆ นั่นเอง

การที่จะเปลี่ยนจากระบบสัมปทานไปเป็นระบบแบ่งผลผลิต ถ้าหากว่าจะทำให้การเริ่มสำรวจรอบ 21 ช้ากว่าวิธีการใช้ระบบสัมปทานไปบ้าง ก็จะไม่เกินกำหนดเวลา 7-8 ปีที่คาดกันว่าก๊าซในอ่าวไทยที่พบอยู่เดิมจะหมดลง

นอกจากนี้ คนดังกล่าวยังได้วิจารณ์อีกว่าไทยควรเร่งสำรวจและนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้อย่างด่วนจี๋ อย่าให้ลูกหลานต้องมานั่งบ่นว่า เก็บน้ำโคลน และเก็บอากาศที่ใช้ไม่ได้ไว้ให้พวกเขาทำไม เพราะเก็บไว้นานมูลค่ามีแต่จะลดลง

แต่มีผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลกับผมว่า ถึงแม้ปริมาณการใช้ปิโตรเลียมในประเทศพัฒนาแล้วจะไม่ขยายตัว แต่ลำพังประเทศจีนและอินเดียในอนาคตเมื่อประชากรมีพฤติกรรมการขับรถคล้ายคลึงกับประเทศอาเซียน ความต้องการก็จะสูงขึ้นมากต่อเนื่องไปอีกนาน

ดังนั้น ที่ทฤษฎี Peak Oil คาดเดาว่าการใช้น้ำมันจะลดฮวบอย่างนั้น ผมคิดว่าไม่ถูกต้อง

ส่วนการจะใช้พลังงานอื่นเพื่อขับรถนั้น ถึงแม้เป็นไปได้ แต่จะไม่เกิดขึ้นแบบปุบปับ เพราะต้นทุนการเคลื่อนย้ายพลังงานรูปแบบอื่นยังสูงกว่าปิโตรเลียมอยู่มาก

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการใช้ปิโตรเลียมในอนาคตจะลดลงมากหรือน้อย

ประชาชนที่เคลื่อนไหวไม่ได้คัดค้านการที่ไทยจะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มนะครับ เพียงแต่ขอให้วิธีการบริหารจัดการทำให้ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดเท่าที่จะพึงได้เท่านั้น


นอกจากนี้ นายธีระชัยยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า “คุณบรรยง พงษ์พานิช บรรยายในข่าวนี้ว่าระบบแบ่งปันผลผลิตนั้น “เป็นการแนะนำให้รัฐลงทุนเองไปก่อน ซึ่งจะเป็นภาระมาก เพราะรัฐจะต้องลงทุนซื้อเครื่องจักร ลงทุนแท่นขุด ว่าจ้างบุคลากร ตั้งหน่วยงานใหม่”

คุณบรรยงเป็นผู้ที่มีความรู้ตลาดทุนดี ผมเคยแต่งตั้งเป็นกรรมการฝ่ายไทยร่วมกับอดีต รมว.คลังฟิลิปปินส์เพื่อแนะนำ ก.ล.ต.อาเซียนพัฒนาตลาดทุน และขณะนี้ คสช. ก็ได้แต่งตั้งเป็นกรรมการและที่ปรึกษาหลายคณะ

แต่แนวคิดอย่างนี้จะเป็นการดูถูกข้าราชการของไทย คือคิดเอาว่าเขาทำได้แต่เพียงไปนั่งเป็นกรรมการบริษัทพลังงาน แต่ทำเรื่องบริหารพลังงานจริงๆ ไม่เป็น

ไม่ต่างอะไรจากรูปที่ผมเคยแสดงก่อนหน้า ที่พยายามสื่อในหัวข้อ “การลงทุน/ความเสี่ยง” ว่าในระบบสัมปทาน เอกชนเป็นคนลงทุนและรับความเสี่ยงเองทั้งหมด แต่กลับกันในระบบแบ่งผลผลิต รัฐต้องเสี่ยงลงทุนร่วมกับเอกชน

ในข้อเท็จจริง ในระบบแบ่งผลผลิตรัฐไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อเครื่องจักร หรือลงทุนแท่นขุด หรือว่าจ้างบุคคลากร หรือตั้งหน่วยงานใหม่ หรือแม้แต่ลงทุนร่วมกับเอกชนครับ เพียงแต่รัฐต้องเปิดประมูลว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ทำการเจาะสำรวจเพื่อให้ได้ข้อมูลธรณีวิทยาเบื้องต้น ซึ่งเงินลงทุนแต่ละหลุมก็ไม่สูงมาก เพราะมิใช่ขุดลงไปให้พบปิโตรเลียม และจะเน้นพื้นที่ติดกับแปลงที่ผลิตอยู่ก็ได้ เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ถ้าโอกาสดังกล่าวสูงพอ รัฐจึงเปิดให้ธุรกิจน้ำมันเข้ามาประมูลแข่งขันกัน

ส่วนภาระการลงทุนเพื่อสำรวจและผลิตในรอบจริงนั้น เป็นหน้าที่ของบริษัทเอกชนทั้งสิ้น

ดังนั้นข้อมูลว่ารัฐจะต้องลงทุนซื้อเครื่องจักร ลงทุนแท่นขุด ว่าจ้างบุคลากร ตั้งหน่วยงานใหม่นั้น ไม่น่าถูกต้อง และเมื่อรัฐได้ส่วนแบ่ง รัฐก็เพียงแต่แจ้งบริษัทผู้ผลิตให้ดำเนินการอย่างไร

โรงกลั่นหรือโรงไฟฟ้าหรือบริษัทปิโตรเคมีภายในประเทศต้องการจะซื้อมากหรือน้อย ก็ควรจะซื้อในราคาตลาดโลก เว้นแต่รัฐจะมีนโยบายพิเศษเกี่ยวกับราคาน้ำมัน

กรณีที่รัฐยังไม่ต้องการใช้ปิโตรเลียมภายในประเทศนั้น ก็สามารถสั่งให้บริษัทเอกชนขายในตลาดสากลได้เลย

ส่วนข้อคิดแบบของคุณบรรยงว่า “โอกาสที่รัฐจะพบปิโตรเลียมคงใกล้เคียงศูนย์ จึงควรเก็บเงินเอาไว้ให้รัฐบาลหน้ารับจำนำข้าวดีกว่า เพราะถึงจะเจ๊งยับรั่วไหลขนาดไหนก็ยังถึงมือชาวนาบ้าง” นั้น เป็นความคิดที่ยอมแพ้การทุจริตตั้งแต่อยู่ในมุ้ง

ประการแรก วงเงินลงทุนของรัฐไม่สูงมาก เพียง 30-60 ล้านบาทต่อจุด ไม่ใช่ระดับหกแสน หรือเจ็ดแสนล้านบาทเหมือนโครงการจำนำข้าว

ประการที่สอง สามารถควบคุมทั้งการลงทุนและส่วนแบ่งของรัฐไม่ให้รั่วไหล

ผิดกับโครงการจำนำข้าวที่มีความเสี่ยงรั่วไหลทุกขั้นตอน โดยเฉพาะเงินอาจจะเข้ากระเป๋านักการเมืองมากกว่าชาวนา

ประการที่สาม ประชาชนมั่นใจว่ารัฐจะได้ประโยชน์เต็มที่ และมั่นใจว่าจะไม่ลำเอียงให้แก่บริษัทใดดีกว่าระบบสัมปทาน

ผิดกับโครงการจำนำข้าว ที่มีข่าวการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทหนึ่งโดยทำการขายในประเทศให้ดูเหมือนการขายแบบ G to G

ประการสุดท้าย ข้าราชการอาเซียนอื่นก็สามารถบริหารระบบแบ่งผลผลิตกันได้ ไม่ว่ากัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย

ตรงนี้ถึงแม้เปรียบเทียบยากเพราะประเทศอื่นไม่ได้ทำโครงการจำนำข้าว แต่ถ้าบอกว่าระบบราชการไทยบริหารระบบแบ่งผลผลิตไม่เป็น ถ้าบอกว่าข้าราชการไทยต้องใช้เวลาศึกษาอีกหลายปี ทั้งที่นั่งเป็นกรรมการบริษัทพลังงานมานาน และทั้งที่บริษัทเอกชนจ่ายเงินค่าฝึกอบรมข้าราชการต่อเนื่องหลายปีมาแล้ว ก็ควรจะเปลี่ยนข้าราชการกันยกใหญ่แล้วละครับ”



นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

กำลังโหลดความคิดเห็น