xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” รับไร้บทสวดหยุดคอร์รัปชัน แนะถือมงคลสูตรช่วยชาติสงบ บอกแผ่เมตตาคนด่าทุกวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เผยสวดมนต์ระหว่างนั่งรถมาทำงานทุกวัน บอกให้ทานคนที่ด่า แนะยึดถือมงคลสูตรช่วยบ้านเมืองสงบ มีสัจจะเป็นสิ่งสำคัญ ระบุคอร์รัปชันบาปหนาเอาทรัพย์คน 65 ล้านเข้ากระเป๋า แต่ไม่มีบทสวดไหนจะหยุดได้ ยกพระราชดำรัสในหลวงถึงพุทธศาสนาประจำชาติ แต่ยันต้องมีกฎหมายส่งเสริม

วันนี้ (24 ม.ค.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวในระหว่างบรรยายสัมมนาเรื่อง อานิสงส์ของการสวดมนต์ ที่ทางคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการด้านการศาสนา จัดขึ้นตอนหนึ่งว่า การสาธยายมนต์ หรือการสวดมนต์ เป็นการทำบุญแบบง่ายๆ ทันที 6 ประการ เชข่น กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต และเป็นการให้ทาน ตนสวดมนต์ทุกวันระหว่างนั่งรถมาทำงาน คนขับรถมาใหม่ๆ ก็แปลกใจว่าตนสวดอะไร การสวดมนต์เป็นการให้ทาน ตนก็สวดให้คนที่ด่าตนทุกวัน โดยเฉพาะสื่อที่เขียนด่าตนก็รับเอาไป

นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับมนต์ที่จะช่วยทำให้บ้านเมืองสงบ อยู่ในมงคลสูตรหากทุกคนยึดถือ และปฏิบัติก็จะทำให้บ้านเมืองสงบสุขได้ ตนอยู่ในวงการปราชญ์ ซึ่งมีการตกลงกติกากันไว้ แต่พอถึงเวลาจริงๆ กลับไปทำอีกอย่างหนึ่ง และคนส่วนใหญ่ก็เอาด้วย และลงมติไปตามนั้น ดังนั้น สัจจะจึงเป็นสิ่งสำคัญมากทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น ส่วนการคอร์รัปชันเป็นการทำบาปที่ยิ่งใหญ่ เป็นการเอาทรัพย์ของคน 65 ล้านคนมาเป็นของตัวเอง การชวนคนมาปราศรัยด่ากัน ตีกัน ก็เป็นวจีทุจริต อย่างไรก็ตาม ไม่มีบทสวดมนต์ไหนที่จะทำให้คนหยุดคอร์รัปชันได้ พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้คนเอาพุทธมนต์มาใช้ในทางนี้ การคอร์รัปชันเป็นพฤติกรรมของบุคคลเอาศาสนาไปบังคับไม่ได้

นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ก็จะรับไว้พิจารณา เรื่องนี้พระพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีกระแสพระราชดำรัสว่าทุกคนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา มีเพียงพระองค์ที่ถูกรัฐธรรมนูญ และกฎมณเฑียรบาลกำหนดให้เป็นทรงเป็นพุทธมามกะ ซึ่งต้องไปคิดกันดูว่าหมายถึงอะไร การที่ไม่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญคงมีเหตุผล ต้องเข้าใจทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และไม่สนับสนุนว่ามีเหตุผลอะไร แต่ส่วนตัวคิดว่าต้องมีกฎหมายในการส่งเสริมพระพุทธศาสนา ซึ่งควรพิจารณาขอบเขตของเนื้อหา นอกจากนี้ เห็นว่าควรมีวิทยุ และโทรทัศน์ที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ และนำหลักธรรมเข้าไปสอนในโรงเรียน


กำลังโหลดความคิดเห็น