เพชรบุรี - “ช่างปูนปั้นเมืองเพชร” แถลงข่าวยันปั้นหนุมานชู 3 นิ้ว ที่อยู่บริเวณเชิงเขาภายในวัดไร่ดอน (เขากิ่ว) ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ไม่มีเจตนาต้าน คสช.
วันนี้ (22 ธ.ค.) ที่วัดไร่ดอน (เขากิ่ว) ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี นายสำรวย เอมโอษฐ อายุ 63 ปี ช่างปูนปั้นเพชรบุรี ซึ่งเป็นน้องชายของช่างทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี 2554 ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนถึงกรณีการปั้น “หนุมานชู 3 นิ้ว” ที่อยู่บริเวณเชิงเขาภายในวัดว่า การที่ตนปั้นหนุมานชู 3 นิ้วนั้นไม่ได้บ่งชี้ หรือต้องการต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่อย่างใด แต่ความหมายของการชูมือซ้ายของหนุมานที่ชูนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง 3 นิ้วนั้น เป็นสัญลักษณ์ที่เชิดชู 3 สถาบันหลักของชาติ คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยให้เกิดความรักใคร่ปรองดองกันและอยู่อย่างสันติของคนในชาติ
นายสำรวย เอมโอษฐ กล่าวว่า เนื่องจากทางวัดต้องการให้สร้างน้ำตกบริเวณเชิงเขากิ่ว ซึ่งเป็นภูเขาขนาดย่อมภายในบริเวณวัด เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่โดยรอบให้เป็นสวนศิลป์สวนธรรมะ โดยกำหนดให้ปั้นรูปหนุมาน เนื่องจากบริเวณนี้มีลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้ร่วมกับนายธานินทร์ ชื่นใจ ช่างเขียนลายรดน้ำของจังหวัดเพชรบุรี เป็นผู้ออกแบบท่าทางของหนุมานให้ลักษณะหมอบคลาน และอ้าปากกว้างเพื่อเปิดเป็นช่องทางน้ำไหล มือขวาถือตรีเพชรเป็นอาวุธ
โดยผลงานมีความสูงประมาณ 3 เมตร ความยาม 6 เมตร ขึ้นรูปด้วยโครงเหล็กฉาบปูนซีเมนต์ และใช้ปูนซีเมนต์ปั้นสำเร็จรูปผสมปูนขาว ทรายละเอียด กาวเคมีเป็นวัสดุในการปั้นหนุมาน
ส่วนที่เป็นสีสันต่างๆ ใช้สีฝุ่นผสมให้เป็นสีสันตามต้องการแทนการใช้สีน้ำมัน ซึ่งจะอยู่คงทนกว่าและมองดูไม่ฉูดฉาดเป็นธรรมชาติ และความพิเศษของผลงานชิ้นนี้คือ ใช้หินน้ำ หรือหินสีจำนวนกว่าพันก้อนในการประดับตกแต่งลวดลาย แต่ละก้อนจะมีสีสันความสวยงามที่แตกต่างกัน
ที่สำคัญเป็นผลงานชิ้นแรกของจังหวัดเพชรบุรี ที่ใช้หินสีประดับตกแต่ง เพราะส่วนมากปูนปั้นเมืองเพชรจะประดับด้วยกระจกสี หรือเป็นกระเบื้องเคลือบ อีกทั้งที่เขี้ยวของหนุมานยังประดับด้วยเพชรจากประเทศเชโกสโลวะเกีย จำนวน 1 พันเม็ด ให้เป็นเขี้ยวเพชรสมชื่อเมืองเพชรบุรีอีกด้วย
ด้านพระครูศรีธรรมรัตน์ เจ้าคณะตำบลไร่ส้ม เจ้าอาวาสวัดไร่ดอน กล่าวว่า หากเป็นเมื่อก่อนจะมองไม่ออกว่าตรงนี้ควรจะเป็นอะไร ซึ่งมองดูแล้วเป็นหน้าผาที่งดงาม โดยมีความตั้งใจจะปรับภูมิทัศน์ด้วยการทำเป็นน้ำตก เวลาคนเข้ามาแล้วจะได้นั่งพักผ่อน จึงได้ประสานกับช่าง และได้แนะนำว่าให้สร้างเป็นหนุมานเนื่องจากในวัดมีลิงเยอะ โดยจะมีน้ำตกออกจากปากหนุมาน จึงได้มอบหมายให้ช่างสำรวย ปั้นขึ้น
โดยมีสัญลักษณ์ที่เขี้ยวของหนุมานขอเป็นเขี้ยวเพชร เพราะจะได้เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี แต่เมื่อปั้นเป็นประติมากรรมแล้วถ้าเป็นของที่วัดทุกอย่างจะต้องเกี่ยวกับหลักความจริงของพระพุทธศาสนา เพราะประเทศไทยเรามีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และมีหลักของพระพุทธศาสนา คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ทุกอย่างที่เป็น 3 อย่างนี้คือ สัญลักษณ์ที่เป็นของประเทศไทย จะไม่เกี่ยวกับเรื่องอื่นอย่างแน่นอน
ด้าน ส.อ.ธนกฤต นักดนตรี เป็นพลดุริยางค์ มบท.15 เปิดเผยว่า ได้เข้าสำรวจดูรูปปั้นหนุมานยกนิ้ว 3 นิ้ว ซึ่งจากการฟังเจตนารมณ์ของช่างปูนปั้นทราบว่า ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะต่อต้านคณะ คสช. แต่เป็นการชูนิ้วเพื่อแสดงสัญลักษณ์ในการนับถือชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เท่านั้น อีกทั้งทางเจ้าอาวาสวัดได้กล่าวเช่นเดียวกันว่า เราชาวพุทธมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ 3 ประการนี้เช่นกัน