xs
xsm
sm
md
lg

“พรเพชร” แจงที่ต้องถอดถอน “ปู” แม้ไร้ตำแหน่ง เหตุมีพ่วงตัดสิทธิ 5 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธาน สนช.แจงมติถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” ไม่มีเลศนัย 190 เสียงท่วมท้น คาดสมาชิกเข้าใจพยานหลักฐาน และอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายสามารถทำได้ ส่วนที่ต้องถอดถอนแม้ไม่มีตำแหน่ง เพราะมีวรรคที่ระบุให้เพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปีด้วย ขณะที่กรณี “สมศักดิ์-นิคม” สนช.เสียงส่วนใหญ่อาจเห็นว่าเมื่อ รธน.ปี 50 ถูกยกเลิกไปแล้ว ความผิดน่าจะไม่ครบองค์ประกอบ



นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประเมินผลมติถอดถอนของทั้งนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่ากระบวนการลงมติในวันนี้ สนช.ทุกคนใช้ดุลพินิจโดยอิสระเพราะเป็นเอกสิทธิ์ และไม่ได้ทำอะไรที่แฝงประโยชน์หรือมีเลศนัยใดๆ ทั้งสิ้น และจนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฏข้อมูลว่าชักจูงว่าให้สมาชิกทำอย่างหนึ่งอย่างใด แม้แต่ตนก็ไม่เคยพูดเรื่องดุลพินิจในการลงมติ สมาชิกมีความกระตือรือร้นการตระหนักในหน้าที่ว่าต้องใช้ดุลพินิจโดยคำนึงหลักกฎหมาย นิติธรรม และความเป็นธรรม จริงอยู่ที่ผ่านมาจะเคยมีการประชุมทั้งเปิดเผยและลับไม่ว่าจะในวิป สนช.และสภาใหญ่ ตนก็ไม่มีสิทธิ์ถามสมาชิกว่าจะลงมติอย่างไร

นายพรเพชรกล่าวว่า ในฐานะประธาน สนช.ต้องประเมินการทำหน้าที่ของ สนช.ว่าเป็นไปด้วยหลักการหรือเหตุผลใด โดยกรณีของนายสมศักดิ์ และนายนิคม ตนประเมินว่าการที่มีมติไม่ถอดถอนเพราะสำนวนข้อกล่าวหาเป็นไปตามข้อกฎหมายกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญปี 50 จึงมีข้อถกเถียงว่าเมื่อรัฐธรรมนูญ 50 ยกเลิกแล้ว ความผิดที่ระบุไว้ยังคงอยู่หรือไม่ อีกทั้งความผิดของนายนิคม ป.ป.ช.ยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภาก่อนมีการรัฐประหาร เมื่อตนมารับหน้าที่ประธาน สนช.จึงส่งเรื่องไปสอบถามยัง ป.ป.ช.จะแก้ไขหรือไม่ แต่ ป.ป.ช.ยืนยันกลับมาว่าจะใช้ข้อกล่าวหาเดิม ตนจึงขอความเห็นสมาชิกกระทั่งมีมติรับไว้พิจารณา เมื่อกระบวนการถอดถอนของนายสมศักดิ์และนายนิคมสิ้นสุด เห็นว่าสมาชิกส่วนใหญ่ใช้ดุลพินิจตามข้อกฎหมาย ที่เห็นว่าไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามรัฐธรรมนูญ

นายพรเพชรกล่าวต่อว่า ขณะที่สำนวนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ค่อยมีปัญหาด้านข้อกฎหมาย แม้จะมีข้อโต้แย้งในบางเรื่อง คือ อำนาจของ สนช.ไม่อาจพิจารณาถอดถอนได้ แต่ สนช.มีข้อสรุปแล้วตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 กำหนดให้ สนช.ทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ดังนั้นอำนาจการถอดถอนจึงเป็นไปตามประเพณีการปกครอง ย่อมเป็นอำนาจของ สนช.ที่ไม่อาจปฏิเสธได้

“อีกข้ออ้างหนึ่ง คือ ผู้ถูกกล่าวหาจากพ้นตำแหน่งแล้วไม่อาจถอดถอนออกจากตำแหน่งได้อีกซึ่งก็ควรเป็นเช่นนั้น หากไม่มีวรรคที่ระบุว่าเมื่อถอดถอนแล้วให้เพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง เป็นเวลา 5 ปี ด้วยเหตุนี้ถือว่าหลักกฎหมายหนักแน่นไม่มีข้อโต้แย้ง อีกทั้ง ป.ป.ช.ยื่นข้อกล่าวหาว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และแม้ว่า ป.ป.ช.อ้างว่าผิดตามรัฐธรรมนูญปี 50 ด้วย แต่ข้อกล่าวหาก็ยังอ้างความผิดหลักซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.บริหารราชการฯ โดยปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว จึงทำให้ปัญหาด้านข้อกฎหมายมีน้อย ดังนั้น สนช.จึงต้องไปพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น”

นายพรเพชรกล่าวอีกว่า กรณีที่ สนช.มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถึง 190 คะแนน เข้าใจว่าสมาชิกมีความเข้าใจในพยานหลักฐานตามที่ ป.ป.ช.นำมากล่าวอ้างและแสดงถึงข้อเท็จจริงต่างๆ จึงเป็นเรื่องสมาชิกมีความเห็นต่างกันในการรับฟังข้อเท็จจริงจากกระบวนการในการพิจารณาของ สนช. และการฟังจากสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.



กำลังโหลดความคิดเห็น