กมธ.ยกร่างฯ แจ้ง สนช.ชะลอพิจารณาร่าง กม.ป.ป.ช.ไว้ก่อน เหตุมีบางมาตราขัดแย้งกับแนวทางหลักของร่าง รธน. พร้อมให้ตัดคำว่า “เฮตสปีช” ในบทที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพสื่อ เพราะอยู่ในบททั่วไปอยู่แล้ว
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมของ กมธ.ยกร่างฯ ในที่ 22 ม.ค.ว่า กมธ.ยกร่างฯ มีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้สอบถามมายังนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ และนายบวรศักดิ์ได้มอบหมายให้นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานอนุ กมธ.พิจารณาการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะ 8 เป็นผู้พิจารณาในเบื้องต้น โดยเห็นว่าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จำนวน 7 มาตรา ยังมีปัญหาบางประการที่ขัดแย้งกับแนวทางหลักของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กมธ.ยกร่างฯจึงทำหนังสือขอให้ สนช.ชะลอการพิจารณาในส่วนนี้ไว้ก่อน
นายคำนูณกล่าวว่า อีกเรื่องที่ กมธ.ยกร่างฯ พิจารณา คือ การเขียนถ้อยคำที่ว่า “เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติหรือศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน” (Hate Speech) เมื่อได้สำรวจดูร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ในขณะนี้แล้วปรากฏว่ามี Hate Speech อยู่ในมาตรา (1/2/1) 1 และมาตรา (1/2/2)14 ซึ่งอยู่ในบททั่วไป ครอบคลุมถึงพลเมืองทุกคนอยู่แล้ว ดังนั้นในมาตรา (1/2/2) 20 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน จึงไม่จำเป็นต้องมีอีก เพราะสื่อมวลชนเองก็ถือว่าเป็นพลเมืองเช่นกัน กมธ.ยกร่างฯ จึงเสนอให้ตัดส่วนนี้ในมาตรา (1/2/2) 20 ออก เพื่อป้องกันการนำบทบัญญัติดังกล่าวไปอ้างเพื่อจำกัดหรือลิดรอนสิทธิสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะครอบคลุมถึงกรณีที่มีสื่อมวลชนต่างประเทศได้ใช้สิทธินำเสนอข้อมูลข่าวสารซึ่งเข้าข่าย Hate Speech หรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ในส่วนดังกล่าวจะอยู่ในส่วนของบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาตรา (1/2/2) 14 วรรคสอง กล่าวถึงหลักเกณฑ์ของการใช้สิทธิเสรีภาพ โดยบทบัญญัติดังกล่าวจะครอบคลุมถึงการใช้สิทธิบุคคลทุกคนที่อาศัยในแผ่นดินไทย คือ คนไทย และคนต่างชาติ