รองนายกฯ รับตาม รธน.ชั่วคราว รัฐบาลเมินเสียง สปช. เดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบ 21 ได้ แต่โดยมารยาทควรให้เกียรติ อ้าง ปธ.ต่อต้านคอร์รัปชัน ระบุ สปช.ไม่ได้ตีตกทั้งหมด แค่ท้วงติงบางส่วน หากปรับวิธีการ เดินหน้าต่อคงไม่มีปัญหา โยน ก.พลังงานแก้ไข ส่วน รธน.ใหม่ให้สิทธิ ปชช.ฟ้องศาล รธน. เชื่อไม่ทำให้วุ่น แนะเพิ่มจำนวนตุลาการศาลฯ บอก 9 คนน้อยไป ปัดวิจารณ์อำนาจถอดถอน สนช. ชี้เรื่องไปไกลแล้ว
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช. ในการพิจารณาเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ว่า เรื่องนี้นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ในฐานะสมาชิก สปช.ได้ชี้แจงในระหว่างการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ร่วมกับนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่ามติของ สปช.ไม่ถึงขนาดตีตกทั้งหมด เพียงแต่เป็นการท้วงติงในเรื่องวิธีการเท่านั้น หากมีการปรับวิธีการคาดว่าจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด รายละเอียดในส่วนนี้คงต้องให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้ชี้แจง ทั้งนี้ ในวันที่ 15 ม.ค.นี้ ตนได้มีนัดหารือกับทางประธานคณะกรรมาธิการ 18 คณะของ สปช.เกี่ยวกับการประสานงานกับรัฐบาลอยู่แล้วก็จะได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อ สปช.มีมติในลักษณะนี้ รัฐบาลจำเป็นจะต้องชะลอหรือทบทวนโครงการหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขอตั้งหลักก่อน เพราะยังไม่เห็นรายละเอียดของมติและข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปพลังงาน ทาง สปช.จะต้องส่งมติไปให้กระทรวงพลังงานในฐานะผู้รับผิดชอบเสียก่อน
ต่อข้อถามว่า รัฐบาลสามารถตัดสินใจดำเนินโครงการต่อไปได้โดยไม่ต้องฟังมติ สปช.หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตรงนี้คือหลักการตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ระบุว่า รัฐบาลมีความรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อ สปช.มีข้อเสนอแนะมา รัฐบาลก็สามารถที่จะพิจารณาได้ว่าจะรับทำหรือไม่ ยกตัวอย่าง สปช.เสนอให้ออกกฎหมาย หากรัฐบาลเห็นว่าไม่จำเป็นก็อาจจะไม่เสนอ ซึ่งกรณีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 นั้น นางจุรี วิจิตรวาทการ สมาชิก สปช.เองก็บอกว่า เมื่อข้อเสนอแนะของ สปช.เป็นเช่นนี้ แต่ที่สุดแล้วอยู่ที่รัฐบาลจะทำอย่างไร จะไม่ทำตามก็ได้ เพราะมองว่า สปช.อาจจะขาดข้อมูลบางอย่าง หรือไม่ทราบว่ารัฐบาลได้เริ่มดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง หากจะยกเลิกหรือทบทวนก็อาจจะทำไม่ได้แล้ว ซึ่งส่วนตัวไม่ทราบรายละเอียดเรื่องนี้ ต้องสอบถามนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน โดยตรง
“โดยมารยาทรัฐบาลควรจะให้เกียรติ รับฟังข้อเสนอของ สปช. ทำได้ก็ทำ ทำได้บางส่วนก็ทำบางส่วน หรือจะไม่ทำตามก็ต้องชี้แจงกลับไปว่า ขอบคุณสำหรับคำแนะนำ แต่ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้เพราะอะไร และเปิดเผยให้สาธารณชนรู้ด้วย อันนี้เป็นการพูดตามกฎหมาย ไม่ใช่จะไปต่อล้อต่อเถียงกับ สปช.”
ส่วนที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีข้อสรุปในการเปิดช่องให้ประชาชนสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ในกรณีพบเห็นการกระทำในลักษณะล้มล้างการปกครอง ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าอาจจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคต เพราะก่อนหน้านี้มีหลายฝ่ายไม่ยอมรับศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว นายวิษณุกล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการตีความมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ทำให้เกิดไม่แน่ใจว่าการตีความดังกล่าวถูกหรือผิด แต่เมื่อเขียนให้ประชาชนสามารถยื่นเรื่องโดยตรงได้ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการตีความ ศาลรัฐธรรมนูญสามารถเตรียมการรับมือกรณีที่ประชาชนจะเดินทางเข้ามายื่นเรื่องจำนวนมากได้ เช่น กำหนดให้ยื่นเรื่องที่ไหน มีใครตรวจสอบก่อน ครั้งที่แล้วเตรียมตัวไม่ทัน เพราะเกิดจากการตีความชั่วข้ามคืน หลังจากนี้จะมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดเอาไว้ว่าหากยื่นตามมาตรา 68 ต้องทำอย่างไร เหมือนกับมาตรา 7 ที่ระบุถึงประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็มีการถกเถียงกัน จึงได้ที่มีการเพิ่มวรรค 2 ให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ ฝ่ายบริหาร หรือคณะกรรมการกฤษฎีกา สามารถร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ในกรณีที่ไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ประชาชนไม่สามารถส่งได้ ก็จะทำให้เหลือเรื่องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มาก
ผู้สื่อข่าวถามว่าเห็นด้วยกับการเพิ่มอำนาจให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิษณุกล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่ใช่การเพิ่มอำนาจให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชน เพราะยังไม่ถึงขั้นตอนพิจารณาอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งต้องดูใน 3 ส่วนด้วยกัน คือ ที่มา จำนวน และอำนาจ
“ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความสมเหตุสมผล เราอาจจะวางใจ หากมีที่มาเช่นเดิมเราอาจไม่วางใจ ส่วนเรื่องจำนวนที่ทุกวันนี้มี 9 คน ต่อไปจะมีกี่คน ผมเห็นมาตลอดว่า 9 คนน้อยไป เพราะถึงเวลาลงคะแนน ผลออกมา 5 ต่อ 4 บางคนงดออกเสียง บางคนก็ไปเมืองนอก ดังนั้นทั้งที่มา จำนวน และอำนาจหน้าที่ต้องสอดคล้องกัน เราจะไว้ใจให้อำนาจหน้าที่ต่อเมื่อเราไว้ใจที่มาและจำนวน ซึ่งคนที่ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นต้องดูบทเรียนในอดีตทั้งของไทยและต่างประเทศด้วย”
ส่วนที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่าจำเป็นต้องมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนั้น นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้ยังทำไม่ได้ หากคิดว่าจำเป็นต้องลงประชามติ ก็เสนอมาแล้วต้องไปแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ส่วนการทำประชามติสำหรับประเทศไทยจะได้ผลดีหรือไม่นั้น ก่อนหน้านี้ก็เคยลงมาครั้งหนึ่ง ซึ่งก็มีการเถียงกันว่าไม่ค่อยจะได้ผล ประชามติจะมีได้เฉพาะประเด็น แต่จะมาถามเรื่องใหญ่ทีเดียวก็จะเกิดความรู้สึกรักพี่เสียดายน้อง เมื่อเลือกไม่ได้สุดท้ายกลายเป็นเหมาเข่ง การทำประชามติเป็นเรื่องยาก ทั่วโลกจึงทำเป็นประเด็นๆ ตัวเลือกต้องไม่มากนัก
“ส่วนตัวไม่ขัดข้องหากเห็นว่าสมควรทำ แต่การร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ลุล่วง จึงเร็วไปที่จะถามว่าจะทำประชามติก่อนหรือไม่ ให้ร่างกันอย่างสุดฝีมือแล้ว ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าดีแล้วไม่ต้องลงประชามติก็ทำให้เราประหยัดเงินและเวลา แต่ถ้าดูแล้ว สองจิตสองใจค่อยคิดกันอีกที”
ผู้สื่อข่าวถามถึงอำนาจในการพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สามารถทำได้หรือไม่ ตามบทบัญญัติมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 นายวิษณุกล่าวว่า การที่ สนช.รับเรื่องไว้จนตอนนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณา ก็แปลว่าขณะนี้ สนช.เข้าใจไปแล้วว่ามีอำนาจพิจารณาถอดถอน แต่ สนช.บางส่วนหรือคนที่เห็นว่า สนช.ไม่มีอำนาจก็อาจจะมีการยื่นฟ้องร้องตามมาในภายหลังก็ได้ แต่ตอนนี้เป็นเรื่องของ สนช.ที่เชื่อว่าตัวเองมีอำนาจก็ต้องดำเนินการไป มิเช่นนั้นอาจจะถูกฟ้องว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน ตรงนี้รัฐบาลคงจะเข้าไปก้าวก่ายไม่ได้
“ตอนนี้ก็ได้เข้าสู่กระบวนการของ สนช.ไปแล้ว คงไม่มีการย้อนกลับมาโหวตว่า สนช.มีอำนาจหรือไม่ หาก สนช.คนไหนคิดว่าไม่มีอำนาจ ก็โหวตไม่ถอดถอนในตอนท้าย แต่จะไปเปลี่ยนใจไม่รับเรื่องก็คงไม่ทันแล้ว”