ที่ประชุม ครม. นายกฯ ย้ำอย่ายัดเยียด 12 ค่านิยม หวังให้ซึมซับกันเอง บ่น สปช.- สนช.หลงทางปฏิรูป สั่ง “วิษณุ - สุวพันธุ์” ติวด่วน ผ่าน กม.8 ฉบับรวด กรุยทางผุด ก.ดิจิตอล ไฟเขียว “อยุทธ์ หรินทรานนท์” เป็นอธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมตั้ง กก.2 ชุด ชำแหละคำพิพากษาคดี “พระวิหาร” สั่งประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนรับทราบด้วย
เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ก่อนเข้าวสู่วาระการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณคณะรัฐมนตรี ข้าราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ได้ช่วยกันทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทางกลับบ้านและดูแลความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ และแม้อัตราการสูญเสียชีวิตและอัตราการเกิดอุบัติเหตุของปีนี้จะลดลงจากปีที่แล้ว แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจของรัฐบาล เพราะเรื่องของความปลอดภัยและชีวิตถือเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการที่จะดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนต่อไป นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมรายละเอียดสถิติของการเกิดอุบัติเหตุให้ โดยให้ได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน เพื่อจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไขและลดจำนวนการสูญเสียและการเกิดอุบัติเหตุให้ได้ในช่วงวันหยุดยาวและวันนักขัตฤกษ์โอกาสต่อไป
ในส่วนของปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯได้แสดงความเป็นห่วง จากการติดตามข้อมูลพบมีราคาสินค้าในประเทศบางรายการ เช่น เครื่องอุปโภคบริโภค หรืออาหารต่างๆ มีราคาสูงจนเกินไป จึงได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ ติดตามเรื่องดังกล่าวและให้มีการดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์และออกกฎกติกาที่ชัดเจน เพื่อแก้ไขปัญหาไม่ให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ ให้ยึดอัตราราคาน้ำมันเป็นหลัก โดยให้เทียบสัดส่วนอัตราราคาน้ำมันกับราคาสินค้าแต่ละประเภทว่าเกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันอย่างไร เช่น เมื่อราคาน้ำมันลดลงราคาสินค้าควรจะลดลงมาจำนวนเท่าไร เป็นต้น
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดงานวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2558 นายกฯได้มีคำขวัญว่า “ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต” โดยปีนี้จะเน้นการรณรงค์เรื่องค่านิยม 12 ประการ ซึ่งนายกฯได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่จัดกิจกรรมงานวันเด็กฯให้ระมัดระวังการจัดกิจกรรม เนื่องจากไม่ต้องการให้เด็กมาท่องเรื่องของค่านิยม แต่อยากให้สร้างพื้นฐานให้เด็กเยาวชน และประชาชน ได้รู้ว่าถ้าปฏิบัติตนและยึดหลักในเรื่องของคุณธรรม 12 ประการ ตนเอง ครอบครัวและสังคมจะดีขึ้นอย่างไร และถึงแม้ว่าได้มีการนำไปปฏิบัติแล้วปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็สามารถยกระดับสังคมให้ดีขึ้น ทั้งนี้ นายกฯได้ฝากให้มีการสอดแทรกเรื่องของความมั่นคง สังคมจิตวิทยา วัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามของไทยเข้าไปในกิจกรรมด้วย เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับรู้ว่าวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของไทยเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันอาจให้มีการสอดแทรกเรื่องการเฝ้าระวังการแจ้งเหตุ หัวข้อข่าวสารสำคัญ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ช่วยเจ้าหน้าที่ของรัฐในการแจ้งข้อมูลและเบาะแสต่างๆ เมื่อพบเหตุที่ไม่ปกติขึ้น
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า นายกฯได้กล่าวถึงเรื่องการวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีว่า เมื่อครั้งที่ได้เดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้สอบถามพบว่าจีนมีนักวิทยาศาสตร์ประมาณ 60,000 - 70,000 คน ซึ่งถ้าเทียบสัดส่วนกับประเทศไทยแล้วตัวเลขนักวิทยาของไทยอาจจะไม่ชัดเจน แต่คาดว่าตัวเลขของประเทศไทยยังน้อยอยู่มาก ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลต่อเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ นายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้ นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป โดยนายกฯได้ให้แนวทางว่า อย่ามองในเรื่องของหน่วยงานราชการ เพราะหน่วยงานราชการอย่างเดียวขับเคลื่อนในเรื่องของการวิจัยพัฒนาและสร้างนักวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องยากลำบากพอสมควร จึงให้มีการตั้งโครงสร้างขึ้นมาและดึงภาคเอกชนเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยต้องมีการทำงานที่เชื่อมโยงกันระหว่างโครงสร้างที่ตั้งขึ้นกับสถาบันการศึกษา และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อจะได้เริ่มกระบวนการตั้งแต่การส่งเสริมสนับสนุนให้มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ในสถาบันการศึกษาและมีการคิดค้นวิจัยพัฒนาจนถึงสามารถนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้ในระดับโรงงานอุตสาหกรรม
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า นายกฯยังได้กล่าวถึงกระบวนกการปฏิรูปประเทศ โดยระบุว่า มีส่วนสำคัญอยู่ 3 ส่วน คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และรัฐบาล โดยที่ผ่านมาในฐานะที่เป็นนายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการติดตามการทำงานของ สนช. และ สปช. พบว่าในหลายกรณีทั้งสองส่วนยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ จึงได้มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ข้อมูลกับ สนช. และ สปช. ได้รับทราบว่ารัฐบาลมีข้อมูลเดิมอย่างไรบ้าง มีแนวความคิดในการปฏิรูปอย่างไร รวมถึงมีบรรทัดฐานขั้นต้นอย่างไร และมีอะไรเป็นต้นทุนบ้างแล้ว เพื่อ สนช. และ สปช. จะได้นำไปเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป
ด้าน ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ในส่วนของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎหมายเพื่อรองรับแนวทางการการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาลเพิ่มเติมอีก 8 ฉบับ จากก่อนหน้านี้ได้เห็นชอบไปแล้ว 2 ฉบับเมื่อการประชุม ครม. วันที่ 16 ธ.ค. 57 โดยร่างกฎหมายทั้ง 8 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ (เป็นการโอนสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2545) 2. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะการทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ หลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนพิเศษแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ การให้สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมันคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติเป็นหน่วยงานกลาง ตลอดจนการให้สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลังสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ 3. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... กำหนดหลักเกณฑ์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นการโอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทุนและทรัพย์สินของสำนักความมั่นคงปลอดภัย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ไปเป็นของสำนักงานตาม พ.ร.บ.นี้)
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า 4. ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเก็บรวบรวม การใช้หรือเปิดเผย และข้อปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งสามารถทำให้ระบุตัวบุคคลนั้นได้ สิทธิของเจ้าของข้อมูล หลักเกณฑ์การร้องเรียน และการให้มีคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 5. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล พ.ศ. .... เป็นการกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอลแห่งชาติ และการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ 6. ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. .... เป็นการจัดตั้งกองทุนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และให้มีคณะกรรมการกองทุนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 7. ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ให้ยกเลิกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม และแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และ 8. ร่างพระราชกฟษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
ร.อ.นพ.ยงยุทธ ยังได้เปิดเผยมติ ครม. ในส่วนของการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนตำแหน่งต่างๆ ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง จำนวน 3 ราย ดังนี้ 1. นายอยุทธ์ หรินทรานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นอธิบดีกรมปศุสัตว์ 2. นายสุรเดช เตียวตระกูล รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง และ 3. นายธนิตย์ เอนกวิทย์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง พร้อมทั้งมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง จำนวน 3 ราย ดังนี้ 1. นายเชิดชู รักตะบุตร อัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม 2. นายรัศมี จิตต์ธรรม กงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน และ 3. น.ส.อังสนา สีหพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ รัฐอิสราเอล
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. ได้รับทราบคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ และพิจารณามอบหมายสำนักงบประมาณอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการและคณะทำงานต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ประกอบด้วย หัวหน้า คสช. เป็นประธานกรรมการ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายวิษณุ เครืองาม เป็นที่ปรึกษาประธานกรรมการ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. เป็นรองประธานกรรมการ ในส่วนกรรมการประกอบด้วย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร พลร.อ.ไกรสร จัรทร์สุวานิชย์ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายประมนต์ สุธีวงศ์ นายบรรยง พงษ์พานิช นางจุรี วิจิตรวาทการ นายต่อตระกูล ยมนาค นางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ นายวิชัย อัศรัสกร รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ และ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับคำพิพากษาคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 จำนวน 2 คณะ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ได้แก่ 1. คณะกรรมการเพื่อวิเคราะห์คำพิพากษาและแนวทางการดำเนินการ โดยมีองค์กระกอบดังนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานกรรมการ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นรองประธานกรรมการ ที่ปรึกษากรรมการประกอบด้วย นายอแลง แปลเล่ต์ (Alain Pellet) นายเจมส์ คลอฟอร์ด (James Crawford) นายโดนัลด์ แม็คเรย์ (Donald McRae) น.ส.อลีนา มิรอน (Alina Miron) นายโธมัส แกรนด์ (Thomas Grant) นายอลาสแตร์ แมคโดนัลด์ (Alastair Macdonald) นายมาร์ติน แพลตต์ (Martin Pratt) และมีกรรมการประกอบด้วย เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เจ้ากรมพระธรรมนูญ เจ้ากรมแผนที่ทหาร อธิบดีกรมสารนิเทศ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกองบัญชาการกองทัพไทย ผู้แทนกองทัพบก ผู้แทนกองทัพเรือ ผู้แทนกองทัพอากาศ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ นายจตุรนต์ ถิระวัฒน์ นายสราวุธ เบญจกุล นายกนก อินทรัมพรรย์ นายพนัส ทัศนียานนท์ โดยมี นายวีรชัย พลาศรัย เป็นกรรมการและเลขานุการ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
“คณะกรรมการฯชุดนี้มีหน้าที่ในการศึกษา วิเคราะห์ คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกรณีกัมพูชาขอให้ศาลฯตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 เพื่อจัดทำคำอธิบายคำพิพากษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อเสนอต่อรัฐบาลไทย รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์ผลของคำพิพากษาในทุกด้าน เพื่อเสนอแนะการดำเนินการต่อไปของรัฐบาล” ร.อ.นพ.ยงยุทธ ระบุ
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า 2. คณะกรรมการแปลเอกสารในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 มีหน้าที่ดำเนินการจัดทำคำแปลและตรวจสอบความถูกต้องของคำแปลเอกสารที่เกี่ยวข้องในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 พร้อมประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนรับทราบ รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติงานตามความเหมาะสมด้วย โดยมีองค์ประกอบดังนี้ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมสารนิเทศ เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ผู้แทนราชบัณฑิตยสถาน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาและการแปลจากมหาวิทยาลัย ที่ประธานคณะกรรมการแต่งตั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาและการแปลจากมหาวิทยาลัย ที่ประธานคณะกรรมการแต่งตั้ง ผู้แทนกรมพระธรรมนูญ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้อำนวยการกองต่างๆของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เจ้าหน้าที่กรมสารนิเทศ เจ้าหน้าที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยมี เลขานุการกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ เจ้าหน้าที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ