มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน 4 ฉบับ ก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีชมพู แคราย - มีนบุรี และสายสีเขียว หมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต มีอายุ 4 ปี ให้ รฟม. มีอำนาจเวนคืนที่ดิน
วันนี้ (24 ธ.ค.) ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกฤษีกา (พ.ร.ฎ.) 4 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และเขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตบึงกุ่ม เขตคันนายาว เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2557, พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชนในท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และเขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตบึงกุ่ม เขตคันนายาว เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2557, พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางเขน เขตหลักสี่ เขตสายไหม เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร และอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี พ.ศ. 2557 และ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชนในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางเขน เขตหลักสี่ เขตสายไหม เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร และอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี พ.ศ. 2557
โดยมีสาระสำคัญในภาพรวม คือ โดยที่เป็นการสมควรกําหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนดังกล่าว เพื่อดําเนินกิจการรถไฟฟ้า ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดสร้างโครงการขนส่งด้วยระบบรถไฟฟ้า สถานที่จอดรถสําหรับผู้โดยสาร และกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟฟ้าตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียวช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต โดยพระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับได้มีกําหนดสี่ปี ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานที่ดําเนินการ โดยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ โดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
สำหรับแนวเวนคืนที่ดินตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี กำหนดจุดเริ่มต้นบริเวณสี่แยกแคราย ไปตามถนนติวานนท์ ถึงห้าแยกปากเกร็ด แยกขวาไปตามถนนแจ้งวัฒนะ ผ่านทางพิเศษศรีรัช แยกหลักสี่ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เข้าสู่ถนนรามอินทรา ถึงสามแยกมีนบุรี เข้าสู่ถนนสีหบุรานุกิจ ก่อนแยกขวาบริเวณสะพานข้ามคลองสามวา ข้ามคลองแสนแสบ สิ้นสุดที่ถนนรามคำแหง ระหว่างสะพานข้ามคลองตานวย และถนนร่มเกล้า โดยมีเขตเวนคืนกว้าง 200 เมตร บริเวณห้าแยกปากเกร็ดกว้าง 450 เมตร และบริเวณอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเขตเวนคืนกว้าง 400 เมตร ส่วนจุดสิ้นสุดมีแนวเขตทางกว้าง 330 - 940 เมตร ความยาวตามแนวขนานไปกับคลองตานวย 820 เมตร และขนานไปกับถนนร่มเกล้า 480 เมตร
ส่วนแนวเวนคืนที่ดินตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต กำหนดจุดเริ่มต้นบริเวณถนนพหลโยธิน ต่อเนื่องเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอสเดิม ไปตามถนนพหลโยธิน ผ่านห้าแยกลาดพร้าว สี่แยกรัชโยธิน สี่แยกเกษตรศาสตร์ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ถึงสามแยกลำลูกกา แยกขวาไปตามทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่ทางโค้ง กม. 25 ข้ามคลองสอง ไปตามถนนลำลูกกา สิ้นสุดที่ถนนลำลูกกาก่อนถึงสะพานข้ามคลองสาม โดยมีเขตเวนคืนกว้าง 200 เมตร แยกรัชโยธินมีเขตเวนคืนถนนรัชดาภิเษกกว้าง 200 เมตร ยาว 1.4 กิโลเมตร บริเวณอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญกว้าง 400 เมตร หน้าโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชเพิ่มอีก 100 เมตร ส่วนที่กว้างที่สุดเป็นช่วงแยกขวาบริเวณทางโค้ง กม. 25 แนวเวนคืนกว้าง 800 เมตร ยาว 1 กิโลเมตร และเวนคืนที่ดินขนานไปกับซอยสายไหม 1 และขนานไปกับถนนสายไหมยาว 780 เมตร
ผู้สื่อข่าว ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบผ่านเว็บไซต์กูเกิลแมป พบว่าจุดสิ้นสุดโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี บริเวณถนนรามคำแหงเป็นช่วงสะพานข้ามคลองตานวย ซึ่งเป็นสะพานสูง ด้านทิศใต้ของถนนเป็นที่ดินเปล่ากว้างขวาง ส่วนด้านถนนร่มเกล้าจะอยู่ช่วงระหว่างห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาร่มเกล้า กับมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต วิทยาเขตร่มเกล้า ส่วนใหญ่เป็นที่ดินเปล่า คาดว่าเป็นจุดก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง ส่วนจุดสิ้นสุดโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต พบว่าเป็นย่านที่อยู่อาศัยระหว่างกรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ กองทัพอากาศ กับซอยพหลโยธิน 54/2 เป็นอาคารประตุกรุงเทพพลาซ่า ก่อนจะผ่านที่ดินเปล่าขนานไปกับซอยพหลโยธิน 54/2 ถึงซอยพหลโยธิน 54/1 และข้ามคลองสองไปยังถนนลำลูกกา ที่น่าจับตามองคือการเวนคืนที่ดินเลียบคลองถนน ตั้งแต่ปากคลองถนน ถึงถนนสายไหม และขนานไปกับถนนสายไหมยาว 780 เมตร พบว่าเป็นที่อยู่อาศัย คาดว่าเป็นจุดก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง
จุดสิ้นสุดโครงการสายสีชมพู
จุดสิ้นสุดโครงการสายสีเขียว