“กมธ.เอนก” เผยพิจารณาข้อเสนอแนะอนุฯ กมธ.เหลือแค่ชุดที่ 9 ส่วนใหญ่เห็นชอบเอาคะแนน ส.ส.เขตไปคำนวนที่นั่งบัญชีรายชื่อ นายกฯ มาจากสภา แต่ให้แนบชื่อ ครม.หาเสียงได้ บอกซาวเสียงไม่น่าจะเอาเลือกโดยตรง ยันปรองดองต้องเข้าใจและอภัยกันหนุนนิรโทษแต่บางส่วนค้านเขียนสุดขั้ว ต้องดูเหมาะสม ไม่รวมคดีโกง, ฆ่า และหมิ่นสถาบัน
วันนี้ (14 ธ.ค.) นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานอนุกรรมาธิการว่าด้วยการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง และกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ขณะนี้กมธ.ยกร่างฯได้พิจารณาข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมาธิการสารัตถะที่รับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ และประมวลออกมาเป็นข้อมูลในการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เหลือเพียงชุดที่ 9 คือคณะปฏิรูปที่จะขอฟังความเห็นจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ 15-17 ธ.ค.นี้ก่อน ส่วนใหญ่เห็นชอบกับข้อเสนอของอนุกรรมาธิการสารัตถะในเบื้องต้น โดยเฉพาะหมวด 1 ระบบผู้แทนที่ดีและผู้นำการเมืองที่ดี และคณะรัฐมนตรี ที่มีนายสุจิต บุญบงการ เป็นประธาน และเสนอให้มี 2 สภา โดยสภาผู้แทนราษฎรมี ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่เปลี่ยนการนับคะแนนใหม่ยึดแบบเยอรมันที่ให้นำคะแนน ส.ส.เขตไปคำนวณเป็นคะแนนนิยมสำหรับบัญชีรายชื่อ และที่มาของนายกรัฐมนตรีให้มาจากการเลือกในสภา แต่สามารถมีบัญชีรายชื่อคณะรัฐมนตรีแสดงเพื่อหาเสียงได้ อย่างไรก็ตาม ได้มีการหยิบยกของเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองของ สปช.ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธานมาพูดคุย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง ฟังดูแล้วส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเท่ากับเป็นการเปลี่ยนระบบรัฐสภาเป็นระบบอื่น อย่างไรก็ตาม ในการประชุมร่วมกับ สปช.ในวันที่ 15-17 ธ.ค.นี้ก็จะได้รับฟังเหตุผล และในส่วนของกรรมาธิการยกร่างฯ ก็อาจจะมีการแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้
“เรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง เท่าที่ฟังดูในคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เห็นว่าไม่น่าจะรับ เพราะเท่ากับเราจะเปลี่ยนระบบรัฐสภาเป็นระบบอื่น ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก และคิดว่าไม่น่าจะผลีผลาม ไม่อย่างนั้นเราต้องมีธรรมเนียมประเพณีใหม่” นายเอนก กล่าว
สำหรับข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการฯปรองดองนั้น นายเอนกกล่าวว่า เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปรองดองซึ่งได้เสนอว่าการจะปรองดองได้ควรต้องมีความเข้าใจและให้อภัยกัน จึงได้เสนอเรื่องการนิรโทษกรรม แต่ก็มีเสียงใน กมธ.ยกร่างที่เตือนว่าอย่าเขียนนิรโทษกรรมจนสุดขั้วจนเกิดปัญหาความร้าวฉานเหมือนในอดีต อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเรื่องความปรองดองเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และการนิรโทษกรรมต้องทำในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ต้องดูความรู้สึก และอารมณ์ของคนในขณะนั้น ซึ่งไม่ติดใจว่าจะระบุไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะสามารถออกเป็น พ.ร.บ. หรือออกเป็นประกาศก็ได้ ในอดีตก็เคยทำมา แต่อนุกรรมาธิการฯปรองดองได้ยืนยันในหลักการว่าจะต้องไม่นิรโทษกรรมให้กับคดีทุจริต คดีที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต และคดีหมิ่นสถาบัน
นายเอนกกล่าวว่า ขณะนี้นางกาญจนรัตน์ ลีวิโรจน์ ประธานอนุกรรมาธิการยกร่างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญได้รวบรวมข้อเสนอของภาคส่วนต่างๆเขียนออกมาเป็นรายมาตราเพื่อให้มีกรอบของกฎหมายมากขึ้น แต่ยังรับฟังความเห็นไปเรื่อยๆ จนถึงกลางเดือนเมษายน จะรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ อีกรอบ ทั้งจาก สปช. สนช. คสช. ครม. และเอามาปรับแก้ภายใน 2 เดือน จึงส่งกลับไปขอความเห็นชอบจาก สปช.เพื่อให้ความเห็นชอบ หากเห็นชอบก็ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป