xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบสวนยางเริ่มเคลื่อน คนกันเองที่อดทนรอไม่ไหว !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อำนวย ปะติเส
ผ่าประเด็นร้อน

หากพูดถึงเกษตรกรชาวสวนยาง แน่นอนว่าสัญลักษณ์แบบนี้ย่อมต้องนึกถึงทางภาคใต้มาก่อน แม้ว่าเวลานี้การปลูกยางพารามีทั่วทุกพื้นที่ทั้งประเทศแล้ว ดังนั้น หากเกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อนจากราคาผลผลิตตกต่ำ นั่นก็ต่องหมายความว่า “เดือดร้อนกันทั่วประเทศ”

อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ที่ก่อหวอดยื่นเรื่องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หาทางช่วยเหลือให้ราคายางสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่โดยเสนอ “แบบบอกผ่าน” ให้สูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 80 บาท จากในเวลานี้ราคาลดต่ำลงเรื่อยๆ จนเหลือราวๆ กิโลกรัมละ 30 กว่าบาท จนเรียกรวมๆ ว่า “3 กิโลร้อย” ซึ่งเป็นเรื่องที่ตลกไม่ออก แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาล โดยรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จะอ้างว่าได้ใช้มาตรการทุกทางในการพยุงราคายาง โดยให้ราคาสูงขึ้นมาอย่างน้อยกิโลกรัมละ 60 บาท ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ก็ยังทำไม่ได้ผล ราคายังรูดลงไป ทั้งที่ในช่วงเวลานี้ในภาคใต้อยู่ในช่วงฤดูฝน ปริมาณน้ำยางออกมาน้อย เพราะกรีดยางได้ไม่มาก เนื่องจากมีฝนตกดังกล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการเพิ่มรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อำนวย ปะติเส เข้ามาใหม่ ซึ่งถือว่ามีความเชี่ยวชาญในการเจรจา รวมทั้งเข้าใจปัญหาด้านสินค้าเกษตรมาพอสมควร ก็เริ่มระดมมาตรฐานในการรับซื้อเพื่อกระตุ้นนำตลาดออกมา แต่ก็ยังเพิ่งเริ่ม ยังไม่ปรากฏผลออกมา ขณะที่ รมว.ปรีดิยาธร เทวกุล กลับอ้างว่าที่ผ่านมาที่ทำให้การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางยังทำไม่ได้ผล เป็นเพราะมีอุปสรรคจากขั้นตอนระบบราชการมากมาย กลายเป็นตัวถ่วงไม่ทันการณ์

มองในแง่ดีนี่คือการพูดแบบเปิดอก ให้รับรู้ถึงปัญหาอุปสรรคที่ทำให้การแก้ปัญหาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งมันสะท้อนให้เห็นถึง “ความไม่เอาไหน” ของฝ่ายผู้บริหารในรัฐบาล โดยเฉพาะการบริหารงานภายใต้ “อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด” ใช้อำนาจพิเศษเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาทุกเรื่อง ถ้าเรื่องแบบนี้ยังเป็นข้ออ้างสำหรับการแก้ปัญหา คนที่พูดก็ต้องพิจารณาตัวเองเสียก่อน เพราะถ้าในสถานการณ์พิเศษแบบนี้ยังทุบโต๊ะสั่งไม่ได้ มันก็น่าวังเวง และยังสะท้อนให้เห็นถึงอนาคตว่าปัญหาเรื่องอื่นก็คงอีหรอบเดียวกัน

สำหรับการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อำนวย ปะติเส ยืนยันต้องทำพร้อมกัน โดยหน่วยงานในสังกัดเร่งรับซื้อในราคานำตลาด เช่น ให้ องค์การสวนยาง (อสย.) รับซื้อผลิตภัณฑ์ยางทุกประเภท ทั้งยางแผ่นดิบ น้ำยาง รับซื้อจากเกษตรกรและจากทุกกลุ่มโดยใช้เงินจากกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาที่มีอยู่จำนวน 2 หมื่นล้านบาท รับซื้อเดือนละไม่ต่ำกว่า 3 แสนตัน เป็นเวลาติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน รวม 9 แสนตัน เชื่อว่าจะทำให้ดึงราคาขึ้นมาในเบื้องต้นได้กิโลกรัมละ 60 บาท แน่นอน

ดังนั้น ก็ต้องรอดูว่าจะทำได้อย่างที่พูดเอาไว้หรือเปล่า และทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพอใจจนไม่ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมหรือเปล่า เพราะที่ผ่านมาถือว่าเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ มีความอดทน และให้โอกาสคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้ปัญหาตามที่รับปากมาตลอดว่าจะดีขึ้น อ้างว่าที่ผ่านมามีปัญหาต่อเนื่องมาจากรัฐบาลก่อน ประกอบกับในตลาดโลกมีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ รวมทั้งราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลงซึ่งผูกพันอยู่กับราคายางให้ตกต่ำลงไปด้วย อย่างไรก็ดี ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรต้องหยุดนิ่งชั่วคราวเป็นเพราะคำขอร้องของ พระสุเทพ ปภากโร อดีตเลขาฯ กปปส. ถือว่า “คนกันเอง” เดินสายเทศนาขอร้องให้อดทนให้โอกาสรัฐบาลได้แก้ปัญหาไปก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างยังไม่ดีขึ้น ราคาแบบสามกิโลร้อยแบบนี้ พวกเขาก็ทนไม่ไหวแล้ว ต้องเคลื่อนไหวกดดัน

อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องราคาสินค้าเกษตรแน่นอนว่าไม่ใช่มีแค่เรื่องยางพาราอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายเรื่อง เท่าที่เห็นก็มีเรื้องข้าว ที่เป็นเรื่องหลักอีกตัวหนึ่งที่เวลานี้ราคายังตกต่ำแบบน่าใจหาย รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องเกษตรกรปลูกข้าวโพด ราคายังตกต่ำไม่แพ้กัน ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากราคาสินค้าเกษตรทุกรายการยังไม่ดีขึ้นย่อมสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน และเชื่อว่าหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นเราคงไม่ได้เห็นแค่เกษตรกรชาวสวนยางและชาวนาที่จะเคลื่อนตามมาเท่านั้น แต่ต้องมีเกษตรกรอื่นทยอยออกมาอีก ขึ้นอยู่กับว่าจะทนกันได้นานแค่ไหนเท่านั้นเอง !!
มรว.ปรีดียาธร เทวกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น