กรุงเทพโพลล์ สำรวจพบส่วนใหญ่ 69% เชื่อว่าราคาน้ำมันในปัจจุบันแพงกว่าความเป็นจริง 54% เห็นว่าพลังงานเป็นธุรกิจผูกขาด 60% มองว่า หลังแปรรูป ปตท. คำนึงถึงแต่ผู้ถือหุ้นและกำไร หนุนห้าม ขรก. เข้าไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ค้านยกเลิกกองทุนน้ำมัน มั่นใจหลังปฏิรูปพลังงานราคาพลังงานจะถูกลง
กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมปฏิรูปประเทศไทย ผ่านการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “คนไทยกับความเชื่อมั่นต่อการปฏิรูปพลังงาน” โดยเก็บข้อมูลประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,157 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.9 เห็นว่า ราคาน้ำมันในปัจจุบันของประเทศไทยแพงกว่าความเป็นจริง ขณะที่ร้อยละ 27.5 เห็นว่าราคาพอๆ กับความเป็นจริง ที่เหลือร้อยละ 2.6 ไม่แน่ใจ
ส่วนความเห็นต่อธุรกิจพลังงานในประเทศไทยว่ามีรูปแบบเป็นแบบใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 54.9 เห็นว่า เป็นธุรกิจแบบผูกขาด ขณะร้อยละ 35.4 เห็นว่าเป็นแบบการแข่งขันเสรี และร้อยละ 9.7 ไม่แน่ใจ
ด้านความเห็นต่อข้อคำถามที่ว่า ปตท. ได้ทำหน้าที่ในฐานะรัฐวิสาหกิจของประชาชนหรือไม่ นับจากมีการแปรรูป เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ร้อยละ 60.4 มองว่า ปตท. คำนึงถึงแต่ผู้ถือหุ้นและกำไร ขณะที่ร้อยละ 33.9 มองว่า ปตท. ทำหน้าที่ได้ดีเพื่อประชาชน ที่เหลือร้อยละ 5.7 ไม่แน่ใจ
สำหรับแนวคิดที่ห้ามมิให้ข้าราชการ หรือผู้มีอำนาจหน้าที่ไปเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ และบริษัทด้านพลังงานเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน ส่วนใหญ่ร้อยละ 64.3 เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 29.3 ไม่เห็นด้วย
ทั้งนี้ เมื่อถามต่อว่าเห็นด้วยหรือไม่กับแนวคิดการยกเลิกกองทุนน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันเบนซินลดลง แต่ดีเซล LPG และ NGV จะแพงขึ้น รวมถึงราคาพลังงานอาจมีความผันผวนมากขึ้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 56.3 ไม่เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 35.9 เห็นด้วย
ส่วนอุปสรรคสำคัญที่สุดในการปฏิรูปพลังงานของประเทศไทย คือ นักการเมือง ร้อยละ 61.8 รองลงมา คือ ปตท. ร้อยละ 42.8 และข้าราชการ ผู้มีอำนาจหน้าที่ ร้อยละ 42.2
สำหรับผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์มากที่สุดหากมีการปฏิรูปพลังงาน คือ ประชาชน ร้อยละ 38.1 รองลงมา คือ ปตท. ร้อยละ 16.8 นักการเมือง ร้อยละ 12.9 และกลุ่มบริษัทเอกชน ร้อยละ 11.9
สุดท้ายเมื่อถามว่าหลังการปฏิรูปพลังงาน จะช่วยทำให้ราคาพลังงานโดยรวมเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ร้อยละ 43.4 เห็นว่าราคาพลังงานจะถูกลง ขณะที่ร้อยละ 31.9 เห็นว่าราคาเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และร้อยละ 16.9 เห็นว่าราคาจะแพงขึ้น