รองนายกรัฐมนตรี เผย 4 เวทีคู่ขนาน สปช. แบ่งเป็นเวทีผู้ชำนาญการ-เวที กมธ.18 คณะ-เวที 300 แบ่ง 3 ทีมจัดทำเมื่อ 2 เวทีแรกเสร็จ และสุดท้ายเวทีภูมิภาคให้ กอ.รมน.เจ้าภาพ รับ กมธ.ยกร่างฯ เชิญพรรคคุยคงได้ผลส่วนนึง ส่วนคนไม่มาเชิญใหม่อีกได้ ชี้ช่องควรตั้งเป็นหัวข้อแล้วเรียกมาคุย
วันที่ 12 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 12.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการตั้ง 4 เวทีคู่ขนานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า เวทีแรกที่เป็นผู้ชำนาญด้านต่างๆ ที่ไปเป็นที่ปรึกษา ผู้ช่วย ผู้ชำนาญการต่างๆ คัดจากรายชื่อผู้สมัคร สปช.7,000 คนที่รัฐบาลส่งไปให้คัดเลือก ส่วนเวทีกรรมาธิการ สปช.18 คณะ มีโควตารัฐบาล 1 ใน 5 ทางสปช.จะแจ้งมายังรัฐบาลส่งคนเข้าสมทบ เลือกคนที่ตรงกับสาขา และภายใน 2-3 วันจะส่งชื่อไป ส่วนเวทีที่สามรูปแบบเดียวเวทีปฏิรูปประเทศ จำนวน 300 คน แบ่ง 3 ทีม คือ 1. การเมือง การปกครอง การปกครองท้องถิ่น 2. เศรษฐกิจ พลังงาน 3. สังคมกับสื่อ กลุ่มละ 100 คน เวทีนี้จะจัดตั้งหลังทำ 2 เวทีแรกแล้วเสร็จ เพื่อรอทราบจำนวนคนที่ส่งไป สปช.เลือกเหลือกี่คน ใช้เวลา 1 เดือน โดยการทำงานจะต้องประหยัดงบประมาณมากที่สุด ค่าตอบแทน 8,000 บาทต่อเดือน เท่ากับสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยประชุมเดือนละ 4 ครั้ง ส่วนเวทีสุดท้ายเวทีภูมิภาค กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นเจ้าภาพ รัฐบาลส่งชื่อไปแล้วและให้ไปคิดรูปแบบมา
นายวิษณุกล่าวถึง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เชิญพรรคการเมือง คู่ขัดแย้ง มาเสนอแนวคิดว่า การเชิญกลุ่มบุคคลเหล่านี้มาคงได้ผลส่วนหนึ่ง เพราะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องรับฟังความคิดเห็น และคิดว่าแต่ละคนคงมีอะไรในใจที่อยากจะพูด ส่วนที่บางพรรคปฏิเสธเข้าร่วมนั้น ไม่เป็นไร เชิญหนเดียวไม่มา เชิญใหม่อีกก็ได้ ความจริงเชิญมาแบบนี้อาจจะไม่ค่อยดี เพราะยังไม่มีอะไรในมือ ถ้าสมมติ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญตั้งเป็นเรื่อง หัวข้อ วันนี้อยากฟังเรื่องอะไรก็เชิญกลุ่มบุคคลเหล่านี้มาคุยในเรื่องนั้นๆ อย่างเช่น อยากฟังที่มาของนายกรัฐมนตรีก็เชิญบุคคลที่ให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ได้เข้ามา แต่ถ้ามาคนเดียวแล้วพูดทุกเรื่องคงไม่ได้ อันนี้ตนคิดเอง