xs
xsm
sm
md
lg

งานวิจัยการคอร์รัปชั่น จำนำข้าว โกงทุกเม็ด โกงอย่างทั่วถึง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ต้องนับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการศึกษา วิจัยการคอร์รัปชั่นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีวิธีการ ขั้นตอนการศึกษา ตามมาตรฐานของงานวิจัยทางวิชาการ

เรื่องที่ถูกนำมาศึกษาวิจัยก็คือ โครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งนับว่าสมควร เหมาะสมแล้ว เพราะเป็นโครงการที่ฉาวโฉ่ โกงกันอย่างเป็นระบบทุกขั้นตอน ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โกงกันแบบหน้าด้านๆ ไม่ละอายแก่ใจเลยแม้แต่นิดเดียว

โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง “การคอร์รัปชั่นกรณีการศึกษา : โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด” โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ที่มี ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย และได้รับสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นี้ จะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์การโกง ที่แฉรายละเอียด ขั้นตอน วิธีการโกง และ ใคร เป็นคนโกง เป็นบทเรียนให้คนไทยได้เรียนรู้ และเป็นตราบาปของบุคคลคิดโครงการนี้ขึ้นมา ตลอดจนผู้ที่ร่วมสังฆกรรม ในการกำหนด ผลักดันนโยบายนี้

เป็นบันทึกการโกงครั้งประวัติศาสตร์เล่มที่สอง ต่อจาก หนังสือ “มหากาพย์โกงข้าว” ของ นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์

บทคัดย่อของรายงานผลการศึกษา เรื่อง “ การคอร์รัปชั่น กรณีศึกษา โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด” กล่าวถึง วัตถุประสงค์ของการศึกษาว่า คือ การศึกษาพฤติกรรมการทุจริต และประมาณการมูลค่าการทุจริตในการระบายข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิตปี 2554/55 ถึงปี 2556/57 โดยพยายามเชื่อมโยงวิเคราะห์หลักฐานที่มีอยู่เกี่ยวกับการทุจริต

คณะผู้วิจัยใช้วิธีการศึกษา 3 วิธี ประกอบกัน

วิธีแรก สร้างแบบจำลองทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมการประเมินต้นทุนสวัสดิการ

วิธีที่สอง สำรวจด้วยแบบสอบถาม โดยสุ่มตัวอย่างชาวนาใน 6 จังหวัดและส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ให้โรงสี โกดัง และผู้ตรวจข้าว (surveyor)

วิธีที่สาม สัมภาษณ์เชิงลึกและการประชุมระดมสมองกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการรวบรวมเอกสารทางราชการ และข่าวต่างๆ

ผลการศึกษาให้ข้อสรุปที่สำคัญ 4 ประการ

ประการแรก แม้ว่าชาวนาทั่วประเทศจะได้รับผลประโยชน์ส่วนเกินสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท แต่ผู้ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นชาวนาขนาดกลางและขนาดใหญ่ และที่สำคัญ คือ โครงการรับจำนำข้าวสร้างความเสียหายมหาศาลต่อสังคม การดำเนินงานนอกจากจะทำให้เกิดภาระขาดทุนทางบัญชีถึง 5.4-7.5 แสนล้านบาทแล้ว (ขึ้นกับระยะเวลาที่ไช้ในการระบายข้าวคงเหลือ) ยังก่อให้เกิดต้นทุนต่อสังคมที่สูงกว่าประโยชน์ของโครงการถึง 1.23 แสนล้านบาท

ความเสียหายนี้ยังไม่นับผลกระทบต่อคุณภาพข้าว การบิดเบือนตลาดข้าว ความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ และเปลี่ยนโครงสร้างการค้าข้าวจากเดิมที่มีการแข่งขันสูง ไปสู่ระบบการค้าแบบเส้นสายพรรคพวก

ประการที่สอง จากแบบจำลองตลาดข้าวพบว่า มูลค่าการทุจริตจากการระบายข้าวในราคาต่ำมีมูลค่าขั้นสูงถึง 8.4 หมื่นล้านบาท เมื่อทำการทดสอบความน่าเชื่อถือของแบบจำลองโดยการคำนวนแยกตามการทุจริต 4 ช่องทางพบว่า มีมูลค่าการทุจริตรวม 1.02 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ 4.5 หมื่นล้านบาท การขายข้าวให้พรรคพวกที่เสนอซื้อในราคาต่ำ 2.2 หมื่นล้านบาท และการระบายข้าวถุงราคาถูกอีก 8.5 พันล้านบาท และการทุจริตจากการลักลอบนำข้าวในโครงการจำนำไปขายก่อนอีก 2.7 หมื่นล้านบาท

มูลค่ารวมของการทุจริตจึงเท่ากับ 1.02 แสนล้านบาท และยังมีความเสียหายอื่นจำนวนมากที่คำนวณไม่ได้

รายงานผลการตรวจนับสต๊อกของ คสช. เมื่อเดือนตุลาคม 2557 พบว่า แม้จะมีข้าวหายเพียง 1.2 แสนตัน แต่ข้าวกว่าร้อยละ 85 มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน การคำนวนเบื้องต้นพบว่าผลขาดทุนจะเพิ่มเป็น 6.6-9.6 แสนล้านบาท(ขึ้นกับระยะเวลาที่ไช้ในการระบายข้าวคงเหลือ) และมูลค่าทุจริตจะเพิ่มเป็น 1.09 แสนล้านบาท

ประการที่สาม ผลสำรวจทัศนคติของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดพบว่า ทั้งผู้เข้าร่วมโครงการและผู้ที่ไม่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมดเห็นด้วยในระดับสูงว่า มีการทุจริตในโครงการ และมีการทุจริตอยู่ในทุกระดับของการดำเนินงาน

ในทำนองเดียวกันการสัมภาษณ์และการสำรวจภาคสนามพบกิจกรรมแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจกันอย่างแพร่หลาย โดยชาวนาและโรงสียอมลงทุนขยายปริมาณการผลิตข้าวและการสีข้าว เจ้าของโกดังลงทุนเพิ่มความจุของโกดัง ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะ นโยบายจำนำข้าวส่งผลให้เกิดค่าเช่าทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ

การประเมินพบว่าค่าเช่าทางเศรษฐกิจมีมูลค่า 5.85 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ชาวนาได้ 2.97 แสนล้านบาท ผู้บริโภคได้ 1.38 แสนล้านบาท พ่อค้าพรรคพวกได้ 8.4 หมื่นล้านบาท โรงสีได้ 5.4 หมื่นล้านบาท โกดัง 9.6 พันล้านบาท เซอร์เวเยอร์ได้ 2.2 พันล้านบาท

กิจกรรมลงทุนแสวงหาค่าเช่าเศรษฐกิจเหล่านี้เป็นการถลุงทรัพยากรแท้จริงของประเทศ และส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ประการที่สี่ รัฐบาลบริหารจัดการนโยบายรับจำนำข้าว แบบขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนและรัฐสภา ปล่อยปะละเลยปัญหาการทุจริตในการระบายข้าว ไม่ใส่ใจกับรายงานข้าวหายจากโกดังกลาง โกหกประชาชน

และการปิดบังข้อมูลการค้าข้าวแบบรัฐต่อรัฐ การปล่อยให้ค่าใช้จ่ายของโครงการรับจำนำบานปลาย โดยไม่เคยมีความพยายามที่จะจัดทำบัญชีของโครงการรับจำนำข้าว

โดยสรุปนโยบายรับจำนำข้าวจึงมีข้อพกพร่องทั้งในด้านนโยบายและด้านการบริหารจัดการ

คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะ 10 ข้อ ดังนี้

1.แก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายงบประมาณรายจ่ายสำหรับโครงการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร
เพื่อสร้างวินัยการคลังและความรับผิดชอบต่อประชน

2.จัดทำบัญชีรวมโครงการช่วยเหลือเกษตรกรทุกโครงการ

3.การเปิดเผยข้อมูลโครงการประชานิยมทุกโครงการ

4.การจำกัดบทบาทรัฐในการแทรกแซงตลาด

5.การจัดทำรายงานอิสระเรื่องผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าว

6.การแปลงภาระขาดทุนให้เป็นหนี้การคลัง โดยออกพันธบัตรรัฐบาล

7. กำหนดแนวทางระบายข้าวในสต๊อคให้ชัดเจน มิให้สต๊อคข้าวมีผลกดดันราคาข้าว เช่น บริจาคให้ WFP

8.เสนอให้มีการตราพระราชบัญญัติการประกันราคาพืชผลเกษตร

9.รัฐควรเร่งปรับปรุงระบบการชดเชยความเสียหายจากภัยธรรมชาติ

10.แนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน คือ การลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลิตภาพการผลิต


กำลังโหลดความคิดเห็น