xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” แนะปมถอดถอนลดเผชิญหน้า -ว่าไปตามกฎ เตือนอย่าร่างรัฐธรรมนูญแค่เอามัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ภาพจากแฟ้ม)
หน.ปชป. เผยประเด็นถอดถอนเรื่องละเอียดอ่อน หวั่นสองฝ่ายเผชิญหน้า แนะไม่ควรเคลื่อนไหวมวลชน แต่ สนช. ต้องว่าไปตามกฎหมาย ส่วนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแนะย้อนดูปัญหาในการใช้ที่ผ่านมาอยู่ตรงไหน และป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดขึ้นอีก อย่าคิดเพียงแค่เอาให้มัน แต่ปฏิบัติไม่ได้ แย้ง “วิษณุ” บอกรัฐธรรมนูญตาบอดสี แต่ยังเห็นขาวดำ

วันนี้ (6 พ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า พร้อมจะใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในการปราบปรามการชุมนุม หลังจากที่มีบางกลุ่มเริ่มออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นถอดถอนนักการเมือง ว่า กรณีปัญหาการถอดถอนว่าเป็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนหากเกิดขึ้นในเหตุการณ์ปกติ ไม่มีการรัฐประหาร กระบวนการจะต้องเข้าสภา แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น จึงมีความละเอียดอ่อนมากขึ้นและเกิดมุมมองในใจของมวลชน 2 ฝ่ายอย่างแน่นอน ทำให้เกิดการออกมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งผู้มีอำนาจคงกังวลว่าจะกลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งระหว่างมวลชนจึงออกมาปรามห้ามเคลื่อนไหวโดยใช้อำนาจที่มีอยู่รวมถึงอำนาจพิเศษมาจัดการ

“ดีที่สุดคือไม่ควรจะมีการเคลื่อนไหวของมวลชน แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ต้องว่ากันไปตามข้อกฎหมาย ว่าไปตามเนื้อผ้า อะไรเป็นอะไรก็เดินหน้าไปตามข้อเท็จจริง ตามข้อกฎหมาย และฝ่ายต่างๆ ก็ต้องได้รับความเป็นธรรม คงจะมีความพยายามให้เกิดการตรวจสอบ ถ่วงดุล ด้วยการร้องขอความเป็นธรรมหรือขู่ว่าจะฟ้องศาลแต่ที่สุดก็ต้องมีข้อยุติออกมา จึงอยากให้ทุกฝ่ายยอมรับในข้อยุติหากระบวนการทุกอย่างเดินไปตามหลัก” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญว่า ตนกังวลว่าหากกรรมาธิการทั้ง 36 คน มีความเห็นไม่ตรงกันหรือ ต่างคนต่างเสนอ โดยไม่มีการพูดคุยทิศทาง ภาพรวม โจทย์ ลำดับปัญหากันก่อน ในที่สุดตัวกติกาที่ออกมาก็จะไม่ได้แก้ปัญหาอย่างที่ต้องการซึ่งกรรมาธิการหลายคนเคยมีประสบการณ์ร่างรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับแล้ว ฉะนั้น ต้องย้อนกลับไปดูว่าที่ผ่านมาปัญหาที่มันเกิดขึ้น เมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญอยู่ตรงไหน อยู่ที่ตัวบทบัญญัติไม่ดี ไม่รัดกุม หรือเป็นเพราะคนใช้ไปบิดไปเบี้ยว แล้วจะป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดขึ้นอีก เช่น เรื่องทุจริตมีคนเสนอเอาเรื่องของบัญชีทรัพย์สินไปผูกโยงกับเรื่องการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง หรือความจำเป็นในการที่เข้ามากำกับดูแลการใช้จ่ายเงินที่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองมากขึ้น โดยพยายามทำให้เข้มแข็ง การปฏิบัติไม่บรรลุเป้าหมาย จึงต้องวิเคราะห์ว่าเพราะอะไรหรือคิดเพียงแค่เอาให้มัน แต่ปฏิบัติไม่ได้ หรือปฏิบัติแล้วมันไม่เป็นไปตามที่เขียน ในที่สุดก็ไม่มีประโยชน์

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นเร่งด่วนที่ควรบรรจุในรัฐธรรมนูญมีอะไรบ้าง นอกจากการทุจริต คอร์รัปชัน นายอภิสิทธ์ กล่าวว่าสำหรับตนโจทย์ใหญ่ที่สุดเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล ไม่ควรหมกมุ่นว่าเขียนไปแล้วจะไปช่วยให้ใครได้ ใครเสีย ประโยชน์หรือกีดกันใคร แต่ต้องเขียนด้วยด้วยหลักการโดยยึดโยง เคารพเจตนารมณ์ของประชาชนหัวใจคือจะจำกัดการใช้อำนาจอย่างไร ส่วนการทำประชามตินั้น ตนเห็นด้วยอย่างยิ่ง หากใครไม่พอใจผลงานของกรรมาธิการยกร่างฯก็จะหยิบเรื่องนี้เป็นเงื่อนไขได้ไปตลอด และเป็นเรื่องยากที่จะทำให้รัฐธรรมนูญมีกลไกเพิ่มความชอบธรรม และคุ้มครองตัวเอง ไม่ให้ถูกแก้ไปในอนาคต

“หาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญตาบอดสีนั้นหมายถึงไม่มีฝักฝ่าย ก็ไม่มีปัญหา แต่หวังว่าไม่ใช่ตาบอดสี แล้วก็เลยไม่เห็นว่าความถูกความผิดมันเป็นอย่างไรนะ ผมสันนิษฐานว่าตาบอดสียังเห็นขาวดำอยู่นะ ถ้าเห็นขาวดำอยู่ก็ใช้ได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น