xs
xsm
sm
md
lg

“พรายพล” หนุนเต็มสูบเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 อ้างรัฐได้กำไรถึง 78%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พรายพล คุ้มทรัพย์ (ภาพจาก fpritraining.com)
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - อาจารย์ธรรมศาสตร์ - สปช. ด้านพลังงาน จ้อสื่อหนุนเปิดสัมปทานพลังงานรอบใหม่ เพราะไทยต้องใช้ก๊าซจำนวนมาก มองระบบสัมปทานเหมาะกับไทยมากกว่า อ้างไม่ใช่แหล่งปิโตรเลียมใหญ่ ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตไม่ได้ เรียกร้องผลประโยชน์มากนักลงทุนไม่อยากได้ ชี้ถ้าเป็นแหล่งใหญ่เอกชนได้ส่วนแบ่ง 10% ก็คุ้มแล้ว พร้อมกล่อม “รสนา” ในสภาปฏิรูป

วันนี้ (27 ต.ค.) หนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันที่ 27 ต.ค. ได้สัมภาษณ์ นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน กล่าวว่า เห็นด้วยกับกระทรวงพลังงานที่จะเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 เพราะไทยมีความต้องใช้ก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก หากไม่รีบเปิดสัมปทานเพื่อขุดเจาะก๊าซขึ้นมาใช้ ในอนาคตก็ต้องนำเข้ามา เพราะปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นทุกปี การเปิดสัมปทาน รอบที่ 21 นี้ล่าช้ามากว่า 2 - 3 ปี

นายพรายพล กล่าวว่า ก่อนที่จะเปิดสัมปทานรอบนี้ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เคยศึกษาเปรียบเทียบการแบ่งปันผลประโยชน์ ระหว่างระบบแบ่งปันผลประโยชน์แบบสัมปทานที่ไทยใช้อยู่ กับระบบแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing) ที่ประเทศพม่า มาเลเซีย และประเทศตะวันออกกลาง ใช้อยู่ ซึ่งมีข้อสรุปว่าระบบสัมปทานยังเป็นระบบที่เหมาะสมกับไทย เพราะระบบแบ่งปันผลผลิตนั้นเหมาะกับประเทศที่มีแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ หากไทยเปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต อาจทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจให้เอกชนมาลงทุนขอสัมปทานปิโตรเลียมในไทย การเปิดสัมปทานรอบล่าสุด มีการเพิ่มผลประโยชน์อื่นๆ ที่บริษัทยื่นขอสัมปทานต้องจ่ายให้คนไทยทั้งทุนการศึกษาให้เด็กในท้องถิ่น เก็บผลประโยชน์ และค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม จากปกติจะเก็บแค่ค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้และผลตอบแทนพิเศษเท่านั้น

“หากดูแล้วระบบสัมปทานของไทยนั้นได้รับผลประโยชน์ถึง 78% ของกำไรสุทธิ ถ้าเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตยอมรับว่าผลประโยชน์จะสูงถึง 90% แต่ต้องดูว่าระบบนั้นเหมาะกับไทยหรือไม่ เพราะไทยไม่ใช่แหล่งปิโตรเลียมแหล่งใหญ่ หากไทยเรียกเก็บผลประโยชน์มาก คนที่จะมาลงทุนต้องคิดหนัก เพราะเขาต้องคำนวณถึงความคุ้มค่าในการลงทุนด้วย เท่าที่ผมดูยังเป็นห่วงว่าการเก็บผลประโยชน์เพิ่มเติมในรอบนี้ อาจจะมีผลทำให้ผู้มายื่นสัมปทานน้อยลง” นายพรายพลกล่าว

นายพรายพล กล่าวว่า อยากให้คนที่คัดค้าน ศึกษาให้ละเอียดและรอบด้าน ไม่ใช่เห็นว่าหลายประเทศในโลกใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตแล้วจะมาใช้กับไทยได้ หลังจากนี้ กระทรวงพลังงานคงต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนและกลุ่มที่คัดค้าน อย่างไรก็ตาม หากรัฐอยากเปลี่ยนระบบแบ่งปันผลประโยชน์สัมปทานคงต้องตั้งคณะทำงานมาศึกษาร่วมกัน ทั้งฝ่ายของกลุ่มที่คัดค้านและภาครัฐว่าไทยเหมาะที่จะนำระบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้หรือไม่ หากต้องเปลี่ยนจะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะต้องแก้กฎหมาย ต้องตั้งวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้น 100% เข้ามาเป็นเครื่องมือรัฐที่จะไปร่วมลงทุนกับเอกชนในแหล่งปิโตรเลียม ถ้าต้องเปลี่ยนต้องใช้เวลาหลายปี และคงไม่ทันกับสัมปทานรอบที่ 21 แน่

“ไทยใช้ระบบสัมปทานมาตั้งแต่ต้น ส่วนมาเลเซียใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตมาตั้งแต่ต้น ถ้าไทยจะเปลี่ยนคงต้องใช้เวลาในการแก้กฎหมาย ตั้งองค์กรหรือรัฐวิสาหกิจขึ้นมารองรับ การดำเนินการดังกล่าวอย่างน้อย 2 - 3 ปี และที่สำคัญต้องพิจารณาว่ารัฐไทยมีอำนาจในการต่อรองหรือไม่ เพราะไทยไม่ใช่แหล่งปิโตรเลียมใหญ่ ถ้าเป็นตะวันออกกลาง รัฐจะมีอำนาจต่อรองสูง เพราะเป็นแหล่งปิโตรเลียมแหล่งใหญ่ ใครๆ ก็อยากเข้าไปลงทุน ส่วนแบ่งแค่ 10% ก็คุ้มค่าแล้ว” นายพรายพลกล่าว

นายพรายพล กล่าวว่า ในฐานะ สปช. ด้านพลังงาน กลุ่มเดียวกับ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ที่คัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 นั้น คาดว่า ในการทำงานด้านปฏิรูปน่าจะมีการเปิดเวทีปฏิรูปเพื่อนำเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมไปถกกันระหว่างกลุ่ม สปช. ด้านพลังงาน ซึ่งตนพร้อมที่จะทำความเข้าใจเรื่องนี้กับ น.ส.รสนา

สำหรับนายพรายพลนั้น เป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ Business & Economic Research Associates Co., Ltd (BERA), คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และยังเคยเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย, คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ในปี 2548 - 2551 เป็นกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน), ปี 2550 - 2551 เป็นกรรมการอิสระ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), พ.ศ. 2539 - 2546 เป็นคณะกรรมการ บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งหนึ่งในผู้ก่อตั้ง คือ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ปัจจุบันควบรวมกับ บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง เป็น บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ ในปี 2535 - 2537 และ ปี 2539 - 2541 เป็นนายกสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย, ปี 2536 - 2538 ที่ปรึกษาสำนักงานประสานงานนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ, ปี 2535 - 2538 ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ในยุครัฐบาลนายชวน หลีกภัย, คณะกรรมการของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ปี 2534 - 2535 และ ปี 2541 - 2545 ที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

*หมายเหตุ : มีการแก้ไขข่าวเมื่อเวลา 19.20 น. เพื่อความถูกต้องของข้อมูล


ข่าวจากหนังสือพิมพ์มติชน 27 ต.ค. 2557
พื้นที่เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 21


กำลังโหลดความคิดเห็น