สปช.หนุนแนวคิดเอาคนที่แห้วเก้าอี้มาช่วยงาน เชื่อได้มุมมองกกว้างขึ้น ด้านนักวิชาการแนะปฏิรูปองค์กรอิสระเหลือ 3 หน่วยงาน เอาศาลฎีกาแผนกคดีนักการเมืองไปรวมศาลรัฐธรรมนูญ เอาผู้ตรวจฯ-กสม. ไปรวมกับ ป.ป.ช. และยังคง กกต. เชื่อลดงบประมาณและความซ้ำซ้อนลงได้
วันนี้ (19 ต.ค.) นายวันชัย สอนสิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีแนวคิดที่จะให้ผู้สมัคร สปช.ทั่วประเทศกว่า 7,000 คนเข้ามามีส่วนร่วมในกาปฏิรูปประเทศว่า คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะคนที่สมัครล้วนแล้วแต่พร้อมที่จะร่วมปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ อยู่แล้ว น่าจะให้เข้ามามีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมาธิการต่างๆ เพราะที่ผ่านมาคนที่ไม่ได้เป็น ส.ส.หรือ ส.ว. ก็สามารถเข้ามาเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) ได้ โดยคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมกับ กมธ.นั้นๆ หรืออาจะให้มาเป็นที่ปรึกษากับสมาชิก สปช.ก็ได้ จะทำให้แนวความคิดในการปฏิรูปมีความหลากหลายและแปลกใหม่มีมุมมองที่กว้างมากขึ้น ลำพัง สปช.แค่ 250 คนอาจจะทำงานไม่เพียงพอ
ด้านนายยุทธพร อิสรชัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงกระแสการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระว่า เห็นด้วยหากจะมีการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาสังคมมีการตั้งคำถามมานาน และยังเป็นต้นเหตุของปมขัดแย้งด้วย องค์กรอิสระในทุกวันนี้มีการแทรกแซงจากทั้งกลุ่มทุนและข้าราชการมากเกินไป ทำให้เกิดประเด็นสองมาตรฐานของการตัดสินในบางคดี และการตัดสินยังไม่เป็นการแก้ไขปัญหาหรือการตัดสินอย่างสร้างสรรค์ แต่กลับทำให้เกิดความขัดแย้ง ดังนั้นการปฏิรูปองค์กรอิสระควรจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งเรื่องกระบวนการทำงานและการตรวจสอบ
นอกจากนี้ยังควรลดจำนวนองค์กรที่ไม่จำเป็น อาจจะเหลือแค่ 3 องค์กรหลักๆ คือ 1. ศาลรัฐธรรมนูญที่น่าจะเอา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมารวมเอาไว้ด้วย 2. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่นำผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมารวมเอาไว้ และ 3. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แบบนี้จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานมีมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนในการทำงานและงบประมาณลงได้