ตั้งแต่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้นำประเทศ มีหลายเรื่องให้ “บิ๊กตู่” เข้าแก้ปัญหา ซึ่งทุกอย่างก็ทำท่าว่าจะไปได้ด้วยดี
บรรดา “กลุ่มต่อต้าน” อยู่ในที่ตั้ง ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวให้ “บิ๊กตู่และแก๊ง คสช.” ต้องรำคาญใจ เรียกได้ว่าทางเปิดโล่งให้รัฐบาลได้บริหารราชการได้อย่างเต็มที่
แต่ปัญหาหนึ่งที่ “บิ๊กตู่” แก้ไม่หาย แก้ไม่ตก และคงจะแก้ไม่ได้มาตั้งแต่สมัยเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คือความปากไว ที่ต่อล้อต่อเถียงสื่อมวลชนแบบสวนกันคนละหมัด จนเริ่มมีหลายสื่อจับอากัปกิริยาในช่วงให้สัมภาษณ์ของผู้นำประเทศคนใหม่มาทำเป็นสกู๊ปรายงานพิเศษบ่อยครั้ง
แถมยังมีบรรดา “นักเลงคีย์บอร์ด” นำคำพูดของ “บิ๊กตู่” ไปทำล้อเลียนแบบขำๆ เผยแพร่ในโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คอีก งานนี้ “บิ๊กตู่” คงไม่ปลื้มเอามากๆ
จากคนที่ติดมาดเข้มๆที่ตอบทุกเม็ด-โต้ทุกคำถามสมัยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ที่ “นักข่าวสายทหาร” ทำข่าวกันจนชิน ทำให้คิดว่าการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ ต้องรักษามาดเข้มๆดุๆเอาไว้ เพื่อให้ “สื่อ” เกรงขามกันบ้าง แต่ “นายกฯตู่” ต้องไม่ลืมว่า “ทำเนียบรัฐบาล” คือบ้านใหม่-ที่ทำงานใหม่ จะต้องพบเจอกับอะไรใหม่ โดยเฉพาะ “นักข่าวสายทำเนียบรัฐบาล” ความสนิทสนมแทบจะไม่มีมาก่อน ดังนั้นจุดที่จะเกรงใจกันก็น้อยกว่าเดิมลงไปมาก
ในทางกลับกัน “บิ๊กตู่” อาจจะลืมคิดไปนิดนึงว่าหัวโขนตำแหน่ง ผบ.ทบ. แตกต่างจากหัวโขนนายกฯอย่างมาก เพราะลำพังตำแหน่ง ผบ.ทบ.ตามบทแล้วถูกต้องที่ “บิ๊กตู่” จะดุดัน เพื่อให้ “สื่อ” เกรงขาม เพราะเป็นการส่งสัญญาณให้บริวารและกลุ่มการเมือง ที่จับตาทุกท่าที-ทีคำพูด ชนิดไม่กระพริบตาให้รู้ว่า “บิ๊กตู่” จะเอาจริงหรือแค่หลอก
ซึ่งผิดกับการพูดในฐานะ “นายกฯ” เพราะถือเป็นผู้นำประเทศที่จะทุกคำพูดจะถูกถ่ายทอดต่อไปยังสาธารณะเกือบทุกคำพูด ไม่ว่าคำพูดนั้นจะถูกหรือผิด เพราะจะมีนัยยะซ่อนเอาไว้ในทุกตัวอักษร จึงไม่แปลกที่ทุกคำพูดหรืออากัปกิริยาของ “บิ๊กตู่” จะถูกนำมาล้อเลียน
ซึ่งหากย้อนหลังกลับไปในยุคที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ดำรงตำแหน่งนายกฯ สภาพของ “ปูแดง” ที่มักจะพูดผิดอยู่หลายครั้ง เช่น หญ้าแพรก หรือจังหวัดหาดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งถูกนำมาเป็นประเด็นล้อเลียนมากมายตั้งแต่วันแรก จนพ้นตำแหน่งแล้วก็ยังไม่จบสิ้น
ระยะหลังว่ากันตามตรง “นายกฯปู” ก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น การพูดผิดน้อยลง อาการตื่นกล้องมีให้เห็นน้อยลงมาก นั่นเพราะ “ทีมงาน” เริ่มทำการบ้านได้ดีขึ้น จับประเด็นข่าวของแต่ละวัน แล้วกำหนดให้พูดตามกรอบที่วางกันเอาไว้
จุดนี้ “บิ๊กตู่” เองก็น่าจะเอามีการเซ็ต “ทีมงาน” ด้านการข่าวมาคอยวิเคราะห์ให้ว่าทิศทางของข่าวในแต่ละวัน “นายกฯ” จะต้องตอบแบบไหน และควรตอบคำถามในกรอบมากน้อยเพียงใด เพื่อควบคุมไม่ให้หลุดออกไปนอกกรอบมากนัก
จะเห็นได้ว่าการให้สัมภาษณ์ของ “บิ๊กตู่” ที่มักจะมีปัญหาคือการให้สัมภาษณ์ในวันอังคาร ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี นั่นเพราะเป็นการให้สัมภาษณ์แบบยืดยาว เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 30 นาทีต่อครั้ง เมื่อพูดยาว “บิ๊กตู่” ก็ออกอาการโมโหได้ง่าย
และเมื่อเจอลูกล่อลูกชนของ “กระจอกข่าวทำเนียบ” เป็นนักข่าวที่ค่อนข้างที่ว่ากันว่าแพรวพราวกว่านักข่าวสายอื่น “บิ๊กตู่” จึงมีโอกาสพลาดได้ง่ายมากๆ อยู่ที่ว่าจะพลาดแบบหนักหนาสาหัสมากน้อยแค่ไหน
และเมื่อ “บิ๊กตู่” เปิดโอเพ่นให้ “นักข่าว” สอบถามได้ทุกประเด็น แบบดาหน้าชนทุกคำถาม โอกาสที่จะถูกเสี้ยม-ถูกโยนหินถามทาง จึงเพิ่มขึ้นทวีคูณ
สังเกตได้ว่าบางครั้ง “นักข่าว” ไม่มีอะไรจะสอบถาม “บิ๊กตู่” แล้ว แต่เจ้าตัวก็ยังยืนให้ “นักข่าว” ชวนคุยไปเรื่อย ที่สำคัญยิ่งคุยเล่นนานเท่าไรยิ่งเป็นประเด็นแสบๆคันๆมากกว่าประเด็นคำถามที่ “บิ๊กตู่” ต้องตอบ
ดังนั้นการจัดระเบียบตัวเองของ “บิ๊กตู่” จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะหากตีกรอบให้ชัดเจนว่าในแต่ละวันจะให้สัมภาษณ์ในประเด็นไหน และให้สัมภาษณ์นานแค่ไหน ก็จะสามารถควบคุมทิศทางข่าวของแต่ละวันได้ชัดเจน แถมมีแต่ผลบวกไม่มีผลลบออกมาให้รำคาญใจ
ทว่าการสัมภาษณ์ต่อสื่อของ “นายกฯ” ต้องทำใจว่าจะมีผลสะท้อนกลับมายังตัวนายกฯเองเสมอ แม้กระทั่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” สมัยดำรงตำแหน่งนายกฯ แม้จะไม่ค่อยมีข้อผิดพลาดให้เห็น เพราะเป็น “นักพูด” มืออาชีพ คำผิด-คำหลุด แทบจะไม่มีออกมาให้เห็น จะมีก็แค่คำเสียดสีคู่แข่งทางการเมืองเท่านั้น
แต่ก็ยังโดนถูกโจมตีว่า “ดีแต่พูด” นั่นเพราะ “อภิสิทธิ์” พูดจาดูดีมีความน่าเชื่อถือสูงมาก แต่คำพูดของ “เดอะมาร์ค” หลายครั้งไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ กระแสตีกลับจึงออกมาให้เห็นบ่อยๆ
พลานุภาพของกระแสต้าน หากออกมาโจมตีพุ่งเป้าไปที่ตัว “นายกฯ” แล้ว ไม่ได้เสียหายเฉพาะตัวนายกฯเท่านั้น แต่จะเสียหายไปถึงประเทศด้วยโดยปริยาย
ดังนั้น “บิ๊กตู่” ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง ไม่ให้มีกระแสต้านออกมาทำลายความน่าเชื่อถือ ซึ่งแทบจะฟันธงได้ว่าป้าย “ดีแต่พูด” คงไม่มีออกมาให้เห็น เพราะ “บิ๊กตู่” ค่อนข้างพูดจริงทำจริง แต่จะมีป้ายอย่างอื่นออกมาให้เห็นหรือไม่ต้องติดตามดู
ล่าสุดเป็น “อภิสิทธิ์” ที่ออกมาระบุว่า “ผมเข้าใจว่าคนทำงานก็้องการจะสื่อให้คนเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองคิด และทำอยู่ แต่จะได้ผลหรือไม่สังคมจะชอบหรือเข้าใจหรือไม่ มีปัจจัยหลายอย่างมาเกี่ยวข้อง เช่น รูปแบบการนำเสนอ เรื่องอารมณ์ขณะสื่อสาร ผมก็เข้าว่าคนทำงานบางครั้งอาจจะหงุดหงิดบ้าง เมื่อไม่ได้ตามที่ตั้งใจ ต้องระวัง”
ถือเป็นคำเตือนจาก “ผู้มีประสบการณ์” ที่ต้องรับฟังเอาไว้ เพราะมีหลายเรื่องที่ “อภิสิทธิ์” พูดถูกโดยเฉพาะการใช้อารมณ์ เพราะจะมีผลต่อการสื่อสารอย่างมาก
อย่าลืมว่า “บิ๊กตู่” เป็น “ทหาร” มาทั้งชีวิต การพูดจา-ท่าที ที่โผ่งผางดุดันจึงติดตัวมา แล้วจะให้มาปรับเปลี่ยนในช่วงที่มาเป็น “นายกฯ” ในช่วงไม่กี่เดือนนี้คงจะทำลำบาก แต่ในระยะยาว “บิ๊กตู่” ก็ต้องทำ เพื่อให้ท่าทีในแต่ละเรื่องดูเนียนตาขึ้น
ซึ่งมีข่าวออกมาจากทำเนียบรัฐบาลว่า ระยะหลังเริ่มมีหลายคนใน “ทีมกุนซือ” ที่คัดสรรมาจาก “บิ๊กทหาร” จับเข่าพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ “บิ๊กตู่” ให้สัมภาษณ์ชนิดหลุดออกจากประเด็นไปมาก เพื่อไม่ให้ถูกจับเป็นเป้าโจมตี โดย “ทีมกุนซือ” พยายามเอาจุดเด็นของ “บิ๊กตู่” ที่สามารถพูดได้เร็วและเข้าใจสิ่งที่พูดออกไปทุกประเด็นได้อย่างดี นำมาเป็นจุดเด่นไม่ให้ “ขั้วตรงข้าม” นำมาโจมตีได้
และในส่วนประเด็นที่จะต้องอธิบายรายละเอียด โดยเฉพาะประเด็นทางเศรษฐกิจ จะมอบหมายให้ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องตอบคำถาม “สื่อ” เพื่อให้ได้ประเด็นที่เข้าใจครบถ้วน และถูกต้อง ตามที่ทีมเศรษฐกิจต้องการสื่อสารออกไป
ส่วนงานด้านความมั่นคงอาจจะจำเป็นที่ต้องมอบหมายให้ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พูดในรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งสามารถเชื่อมือ “บิ๊กป้อม” ได้ เพราะตามสายควมมั่นคงแล้วคอนโทรลทุกอย่างอยู่ในมือ
ส่วนเรื่องกฎหมาย “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี สามารถตอบทุกคำถามของ “สื่อ” แทน ได้เคลียร์ในทุกเรื่องอยู่แล้ว จึงคิดเห็นกันว่า “บิ๊กตู่” อาจจะตอบแค่ภาพกว้างเท่านั้น โดยที่ไม่ต้องลงรายละเอียดมากนัก
ทว่า “บิ๊กตู่” มีความเชื่อมั่นใจตัวเองสูงมาก รับรู้เพียงแค่กรอบที่ “ทีมกุนซือ” แนะนำ เพราะเชื่อว่าตัวเองสามารถที่จะตอบได้ทุกคำถาม และสามารถคอนโทรล “สื่อ” ไม่ให้ติดภาพลบของตัวเองได้ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับตรงกันข้าม ทุกวันนี้ “บิ๊กตู่” โดนวิพากษ์วิจารณ์จากการตอบคำถาม “สื่อ” เกือบทุกวัน
ส่วนคู่กรณีของ “บิ๊กตู่” เป็นคนที่รู้กันดีว่าเขาคือ “เจ๊ยุ” นางยุวดี ธัญญศิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโส ซึ่ง “บิ๊กตู่” รู้ดีว่า “เจ๊ยุ” คือภรรยาของ “พี่ยักษ์” พล.อ.ศิริชัย ธัญญศิริ ซึ่งถูกตีตราว่าอยู่ “ขั้วแม้ว” เพราะขึ้นเป็นปลัดกระทรวงกลาโหมได้ เพราะบารมีของ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร”
การตอบคำถามของ “เจ๊ยุ” ของ “บิ๊กตู่” จึงออกในโทนแข็งกร้าว เหมือนไม่ให้เกียรติทั้งที่ “เจ๊ยุ” มีศักดิ์เป็นพี่ อาจจะเป็นเพราะในหัวใจของ “บิ๊กตู่” ยังคงคิดว่า “เจ๊ยุ” มีจุดประสงค์แอบแฝงอยู่หรือไม่
ดังนั้น “บิ๊กตู่” จึงควรตัดทัศคติตรงนี้ออกไปในหัวใจให้ได้ เพราะไม่มีวันไหนที่เดินเข้าทำเนียบรัฐบาล แล้วจะไม่เจอ “เจ๊ยุ”
หากยังตัดออกไม่ได้ “บิ๊กตู่” มีแต่เสียกับเสีย ส่วน “เจ๊ยุ” มีแต่สวยกับสวย
หลังจากนี้ต้องจับตาว่า “บิ๊กตู่” จะยอมเปลี่ยนแนวทางในการให้สัมภาษณ์ “สื่อ” มากน้อยเพียงใด เพราะข้อเสนอแนะของ “ทีมกุนซือ” คงถูกชงถึง “บิ๊กตู่” อีกครั้ง หลังมรสุมเริ่มพัดเข้าเล่นงานท่านผู้นำโดยตรง
ความเป็นตัวของตัวเองมีได้แต่ต้องมีความ “พอดี” อยู่ในตัวด้วย ยิ่งถูกล่อให้ตอบมากเท่าไร “บิ๊กตู่” ต้องระมัดระวังให้มากขึ้นเท่านั้น
งานหินของ “บิ๊กตู่” ชั่วโมงนี้คงไม่ใช่การบริหารราชการให้ทำตามคำสั่ง เพราะ “ข้าราชการ” เกือบทุกคนพร้อมจะเดินตามไม่หือไม่อืออยู่แล้ว แต่อยู่ที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับตำแหน่ง “ผู้นำประเทศ” ได้มากน้อยแค่ไหน
เงาที่ตามหลอกหลอน “บิ๊กตู่” ทุกวันนี้คือเงาของตัว “บิ๊กตู่” เอง ไม่ให้เงาของ “กลุ่มต้าน” แต่อย่างใด