รายงานการเมือง
ต้องยอมรับหนึ่งเดือนกว่าที่ผ่านมา ภายหลังได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของประเทศไทย บทบาทของ “บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในฐานะผู้นำประเทศ ยังดูไม่ชัดเจนมากนัก เพราะสวมหมวกอยู่หลายใบ ทั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)
แต่นับจากวันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป “บิ๊กตู่” จะกลายเป็นนายกฯแบบ “ฟูลไทม์” เสียที เพราะภาระหน้าที่ ผบ.ทบ. ก็ได้ส่งต่อ “บิ๊กโด่ง - พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร” ตามวาระเกษียณอายุราชการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่วนภารกิจของหัวหน้า คสช. ก็ต้องเฟดตัวลงตามโรดแมปที่วางไว้ เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินอย่างเต็มที่ อีกทั้งบุคคลใน คสช. ก็เข้ามาเป็นเสนาบดีร่วม “ครม.ประยุทธ์” กันเป็นส่วนใหญ่ การขับเคลื่อนประเทศต่อแต่นี้ก็ต้องใช้กลไกของรัฐบาลเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ห้วงเวลานี้เรตติ้งหรือคะแนนนิยมของ “บิ๊กตู่” ยังคงติดลมบนอย่างต่อเนื่อง ตลอด 4 เดือนกว่าที่เข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองในฐานะหัวหน้า คสช. หรือ 1 เดือนกว่าที่ผ่านมาในตำแหน่งนายกฯ ดูได้จากผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนผ่านโพลสำนักต่างๆ ดูจะเห็นดีเห็นงามกับแนวทาง หรือนโยบายต่างๆ ของ คสช. และ “รัฐบาลประยุทธ์” แบบชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ บางโพลมีเสียงสนับสนุนถึงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ หรือตีเป็นคะแนนก็ 9 เต็ม 10 ถ้าเปรียบกับการแข่งขันกีฬาก็คงลอยลำคว้าเหรียญทองแบบสบายๆ
โพลบางสำนักก็อวยกันจนเกินพอดีขนาดระบุว่า ประชาชนต้องการให้ “นายกฯประยุทธ์” ทำงานมากกว่า 1 ปี เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ให้เสร็จสิ้นก่อน ซึ่งในความเป็นจริงก็จะเกินโรดแมปและคำมั่นสัญญาที่หัวหน้า คสช. เคยให้ไว้
แต่ที่จะยังมีเครื่องหมายคำถามแปะอยู่ที่ตัว “นายกฯตู่” ก็เป็นเรื่องความเชื่อมั่นของต่างชาติ หรือการยอมรับของนานาชาติต่อรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร
ด้านหนึ่ง คสช. หรือรัฐบาลเองก็รู้ดีว่าเป็น “จุดอ่อน” สำคัญ จึงพยายามกู้ศรัทธาและภาพลักษณ์ของประเทศกลับมาให้ได้โดยเร็ว มีการเชิญเอกอัครราชทูต หรือคณะทูตานุทูตที่ประจำในประเทศไทย เข้าพบเพื่อชี้แจงบทบาทและโรดแมปของ คสช. เป็นระยะๆ หรือการส่งบุคคลสำคัญไปเยือนต่างประเทศเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจถึงเหตุผลความจำเป็นต่างๆ
อย่างล่าสุดกับเวทีสำคัญในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ที่จัดขึ้นทุกปีที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เป็น “บิ๊กเจี๊ยบ - พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร” รองหัวหน้า คสช. และในฐานะรองนายกรัฐมนตรี - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนของทางการไทยไปเข้าร่วม
โดยข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า “บิ๊กเจี๊ยบ” ใช้โอกาสนี้ยืนยันการมีบทบาทที่แข็งขันของไทยในการให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติในลักษณะหุ้นส่วน โดยเฉพาะในการขับเคลื่อนวาระของสหประชาชาติในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนอธิบายถึงสถานการณ์การเมืองในไทยว่า อยู่ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่มุ่งสร้างความปรองดองของคนในชาติ การปฏิรูปการเมืองและการเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่สถาบันประชาธิปไตยเพื่อไม่ให้ประเทศไทยหวนกลับสู่เหตุการณ์ทางการเมืองก่อนที่จะมีการรัฐประหาร 22 พ.ค. อีก
ส่วนท่าทีของเลขาธิการสหประชาชาติ ทางกระทรวงการต่างประเทศของไทย ก็ระบุว่า รัฐบาลไทยได้สร้างความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และชื่นชมความมุ่งมั่นของฝ่ายไทยในการดำเนินการตามโรดแมปเพื่อให้ประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งและยั่งยืน
นี่คือสิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศนำมาสื่อสารกับคนไทย แต่ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่า หลายประเทศยังคงตั้งแง่ และประเมินระดับความสัมพันธ์กับไทยอยู่เป็นระยะๆ
จึงเป็นที่จับตามองว่า “บิ๊กตู่” ในฐานะผู้นำประเทศ จะออกโรงมากระชากเชื่อมั่นของต่างชาติด้วยตัวเอง เพราะที่ผ่านมาใช้ “บิ๊กเจี๊ยบ” ในฐานะรองนายกฯด้านต่างประเทศเป็น “หนังหน้าไฟ” ชี้แจงกับฝรั่งมังค่าแทบจะตลอด ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดคือการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อพิสูจน์ว่านานาชาติให้การยอมรับ “รัฐบาล คสช.” จริง
ซึ่งคงไม่หมายรวมถึงการเยือนกลุ่มประเทศอาเซียนที่เป็นไปตามเนื้อผ้าของประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องไปแนะนำตัวเป็นพิธี เพราะส่วนใหญ๋รู้จักและเข้าใจสถานการณ์ในไทยดีอยู่แล้ว อย่างการเปิดหัวเยือนสาธารรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 9 - 10 ต.ค. ตามคำเชิญของรัฐบาลเมียนมาร์ ยังไม่ถือว่าพิสูจน์อะไรได้
ดังนั้น การตัดสินเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป หรืออาเซม ระหว่างวันที่ 16-17 ต.ค. ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ซึ่งจะมีผู้นำจากประเทศต่างๆ ทั้งยุโรปและเอเชียเข้าร่วมประชุมหลายสิบประเทศ ถือเป็น “ก้าวสำคัญ” ของ “บิ๊กตู่” ในฐานะนายกฯ นอกจากจะเป็นโอกาสชี้แจงแถลงข้อข้องใจในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นเวทีที่จะได้โชว์ศักยภาพภาวะความเป็นผู้นำด้วยตัวเองด้วย
แน่นอนสิ่งที่ “นายกฯตู่” ต้องเจอนั้นคงวนเวียนอยู่กับคำถามเกี่ยวกับการตัดสินใจและความจำเป็นในการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา รวมไปถึงโรดแม็ปต่างๆ ที่คงพูดกันแบบปากเปียกปากแฉะ แถมด้วยเรื่องปัญหาในไทย ทั้งปัญหาการค้ามนุษย์ที่ถูกลดระดับจนต่ำติดดิน หรือแม้กระทั่งความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว จากกรณีฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ที่จนบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทั้งตัว “นายกฯตู่” และทีมงานรู้ดีว่าจะต้องพบเจอ จึงประวิงเวลาประเมินสถานการณ์ก่อนตอบรับการเข้าร่วมประชุมอาเซมในเวลากระชั้นชิด
โดยก่อนหน้านี้ได้มีเสียงบ่นจาก “ข้าราชการทำเนียบรัฐบาล” ในฐานะที่รับผิดชอบประสานงานการประชุมครั้งนี้ ที่ได้ทำหนังสือแจ้งกำหนดการให้ “นายกฯตู่” ทราบแล้วภายหลังจากรับตำแหน่งไม่นาน แต่ก็ได้รับคำตอบเพียงว่า “ใกล้ๆแล้วจะตัดสินใจ” ส่งผลให้การตระเตรียมงานต่างๆ ยังไร้ความชัดเจน และสุ่มเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ หากส่งทีมไปเตรียมการล่วงหน้าแล้วสุดท้าย “นายกฯตู่” ตัดสินใจไม่ไปจริงๆ
ว่ากันว่าเหตุที่ทำให้ “ประยุทธ์” ตัดสินใจเข้าร่วมการประชุมอาเซม ก็ด้วยทราบถึงท่าทีของต่างชาติต่อประเทศไทยจากการเข้าร่วมการประชุมยูเอ็นของ “ธนะศักดิ์” แล้ว เมื่อประเมินแล้วว่า ไม่เหลือบ่ากว่าแรงจึงตัดสินใจจับเครื่องบินไปมิลานด้วยตัวเอง
คงต้องจับตาดูบททดสอบสำคัญครั้งนี้ว่า “นายกฯตู่” จะสอบผ่านหรือไม่กับก้าวแรกบนเวทีต่างประเทศ