“บิ๊กจิน” ประชุม ผบ.ทอ.อาเซียน ถกความร่วมมือการป้องกันประเทศเพื่อให้เกิดสันติภาพ และความรุ่งเรืองต่อประชาคมอาเซียน เพื่อกระชับสัมพันธ์และเป็นสัญญา เสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค เจ้าตัวแนะตั้งศูนย์ค้นหาและช่วยชีวิตอาเซียน เผยเตรียมบรรจุ ฮ.EC-725 จำนวน 4 เครื่อง ปีหน้ามีแผนบรรจุครบ 1 ฝูงเพื่อเสริมสมรรถภาพ
วันนี้ (25 ก.ย.) ที่โรงแรมติงกาฮา เนปิดอว์ ประเทศพม่า พล.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้บัญชาการทหารอากาศ ร่วมประชุมผู้บัญชาการทหารอากาศอาเซียน ครั้งที่ 11 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศเพื่อให้เกิดสันติภาพ และความรุ่งเรืองต่อประชาคมอาเซียน (Defence Cooperation towards Peaceful and Defence Cooperation towards Peaceful and Prosperous ASEAN Community)”
โดยมี พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ไหล่ ผบ.ทหารสูงสุดพม่า เป็นเจ้าภาพการประชุม พร้อมด้วย พล.อ.ท.ขิ่น อ่อง มิ้น ผบ.ทอ.พม่า, พล.อ.จ.ดาโต๊ะ สรี ปาลาวัน วาร์ดี บิน อับดุล ลาติป ผบ.ทอ.บรูไน, พล.อ.อ.เซิง ซ็องนาง ผบ.ทอ.กัมพูชา, พล.อ.อ.อิดา บากุส ปูตู ดูเนีย เสธ.ทอ.อินโดนีเซีย (ตำแหน่งเทียบเท่า ผบ.ทอ.), พ.อ.คำผัด พิมมะหาไซ หัวหน้ากรมทหารอากาศ สปป.ลาว, พล.อ.อ.ดาโต๊ะ สรี ฮัจญี โรสลาน บิน ซาอัท ผบ.ทอ.มาเลเซีย, พล.อ.ท.เจฟฟรี เอฟ เดลกาโด ผบ.ทอ.ฟิลิปปินส์, พล.อ.ต.ฮู เชอ เมา ผบ.ทอ.สิงคโปร์, พล.อ.ท.เฟือง มิง หว่า ผบ.ทอ. และ ปภอ.เวียดนาม เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
โดย พล.อ.ท.ขิ่น อ่อง มิ้น ผู้บัญชาการทหารอากาศ ประเทศพม่า กล่าวเปิดการประชุมว่า เราคาดหวังว่าการประชุมผู้บัญชาการอากาศอาเซียนในครั้งนี้จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของกองทัพอากาศอาเซียน รวมถึงความร่วมมือในด้านต่างๆ เพื่อความเป็นหนึ่งเดียว ทั้งด้านการฝึกร่วม การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติตามธรรมชาติ การต่อต้านการก่อการร้าย และการรักษาสันติภาพ
“การประชุม ผบ.ทอ.อาเซียน ถือเป็นสัญญาร่วมกันในอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะการช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติให้กับประชาชน” พล.อ.ท.ขิ่น อ่อง มิ้น กล่าว
ขณะที่ พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า รู้สึกยินดีที่มีโอกาสได้มาร่วมการประชุมผู้บัญชาการทหารอากาศอาเซียน ณ กรุงเนปิดอว์ ในครั้งนี้ ขอขอบคุณประเทศพม่า และเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น สำหรับวันนี้ในนามของกองทัพอากาศไทยจะขอนำเสนอแนวความคิดเรื่อง “ความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศเพื่อให้เกิดสันติภาพ และความรุ่งเรืองต่อประชาคมิาเซียน ทุกท่านคงทราบดีว่าปัจจุบันในภูมิภาคอาเซียน เราคงต้องเริ่มตระหนักถึงปัญหาเหตุการณ์อากาศยานประสบภัยและสูญหาย ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาค ในภาคการคมนาคมทางอากาศ และเราต้องไม่ลืมภัยพิบัติทางธรรมชาติที่นับวันจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทุกเหตุการณ์ย่อมส่งผลกระทบต่อความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคอาเซียน
พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ก่อนอื่นตนขอแสดงความเสียใจต่อทุกเหตุการณ์อากาศยาน ประสบภัยที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน ในช่วงปี 2013 และ 2014 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการประสบอุบัติเหตุของอากาศยานเนื่องจากสภาพอากาศเลวร้าย หรือการสูญหายของเครื่องบินที่เกิดขึ้นในภูมิภาค นอกจากนี้ยัง มีเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ ที่มีผลกระทบต่อประชาชนในภูมิภาค อาเซียน อาทิ กรณีพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน เมื่อเดือน พ.ย. 2013 พัดถล่มภาคกลางของประเทศฟิลิปปินส์ ส่งผลกระทบต่อประชาชน 11 ล้านคน ถือเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดในโลก, เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ เมื่อเดือน พ.ค. ปี 2014 ที่ อ.พาน จ.เชียงราย ทางตอนเหนือ ของไทย สร้างความเสียหายเป็นอันมากต่ออาคารสถานที่ ทั้งโบราณสถาน สถานที่ราชการ เส้นทางคมนาคมและบ้านเรือนของประชาชนกว่า 50,000 คน และยังส่งผลกระทบไปถึงประเทศม่าด้วย โดยทั้งสองเหตุการณ์ถือเป็นปัญหาเหตุการณ์อากาศยานประสบภัยและสูญหาย ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน ได้ส่งผลกระทบต่อความสงบสุขและความเจริญของแต่ละประเทศในภูมิภาค กองทัพอากาศไทยขอนำเสนอแนวคิดความร่วมมือเรื่องการค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือผู้รอดชีวิต (Search and Rescue) เป็นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกองทัพอาเซียนอันจะนำไปสู่การจัดทำแนวทางการบริหารจัดการร่วมกันเพื่อรับมืออุบัติเหตุทางอากาศ ตลอดจนภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น
พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า กองทัพอากาศไทยมีขีดความสามารถและความพร้อมในการสนับสนุนการบรรเทาภัยพิบัติธรรมชาติในต่างประเทศทั้งในกรอบอาเซียนและกรอบของสหประชาชาติ เช่น ภารกิจการบินลำเลียงทางอากาศ ให้ความช่วยเหลือประเทศฟิลิปปินส์ที่ประสบภัยจากพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ภารกิจการบินลำเลียงทางอากาศ ให้ความช่วยเหลือประเทศพม่าที่ประสบภัยจากพายุนาร์กิสภารกิจการบินลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศในเหตุการณ์สึนามิที่ประเทศไทยของเราเอง
อย่างไรก็ตาม กองทัพอากาศไทยได้มีการจัดเตรียมการช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย หรือ RTAF Search & Rescue พร้อมบทบาทหน้าที่ โดยได้พัฒนาระบบการค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างสมบูรณ์ มีการฝึกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทดสอบแผนระบบการสั่งการ อุปกรณ์และบริภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และเพื่อฝึกการค้นหาและช่วยชีวิต โดยในปี 2015 ที่จะมาถึงนี้ กองทัพอากาศไทยจะได้รับเฮลิคอปเตอร์สำหรับปฏิบัติภารกิจการค้นหาและช่วยชีวิต รุ่นใหม่ แบบ EC-725 ที่จะบรรจุเข้าประจำการ จำนวน 4 เครื่อง และมีแผนจะเข้าบรรจุจนครบจำนวนทั้งหมด 16 เครื่อง ซึ่งกองทัพอากาศไทยมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำให้การปฏิบัติภารกิจ Search and Rescue มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยกองทัพอากาศไทยได้มีการจัดโครงสร้างของการ Search & Rescue
พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ภารกิจที่ได้กล่าวมาแล้ว สามารถปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติในต่างประเทศได้อย่างมีมาตรฐาน โดยมีการจัดการฝึกซ้อมค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบภัย (Search and Rescue Exercise หรือ SAREX) เป็นประจำทุกปีในประเทศไทย โดยมีหน่วยงานรัฐบาลและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเกือบ 40 หน่วยงานเข้าร่วม มีการผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ โดยในปี 2013 กองทัพอากาศไทยเป็นเจ้าภาพ นอกจากนั้น เรายังทำการฝึกร่วมกับมิตรประเทศเป็นประจำ อาทิเช่น Joint & Combined Exercise ระหว่างไทย-มาเลเซีย ภายใต้รหัสการฝึก “JCEX THAMAL 2011” Joint & Combined Exercise ระหว่างไทย - กัมพูชา ภายใต้รหัสการฝึก “JCEX THACAM 2012”
พล.อ.อ.ประจินกล่าวต่อว่า กองทัพอากาศไทยเล็งเห็นความเป็นไปได้ในการใช้ทรัพยากรของเหล่าทัพ โดยเฉพาะกองทัพอากาศของอาเซียน เพื่อร่วมมือในการค้นหาช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบภัย (Search and Rescue) และรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประขาคมอาเซียนในอนาคต กองทัพอากาศไทย ขอเสนอการกำหนดแนวคิดเพื่อสร้างองค์กร ค้นหาช่วยเหลืออาเซียน (ASEAN Search & Rescue Center) โดยเริ่มจากการจัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงาน มีการจัดการประชุมเพื่อจัดทำโครงร่างของหน่วยงาน ASEAN Air Force, Search & Rescue Center เพื่อบรูณาการขีดความสามารถระดับกองทัพอากาศ เพื่อรองรับระดับภูมิภาคอาเซียนต่อไป
พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า จะเห็นได้ว่าการร่วมมือกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในกิจการด้าน Search & Rescue จะเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกองทัพอาเซียน เพื่อความสงบสุขและส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังบรรเทาความเดือดร้อนในกรณีเกิดภัยพิบัติให้ได้มากที่สุด การจัดทำแผนงานเพื่อ การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ในทุกด้าน ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่ควรจัดให้มีขึ้น นอกจากความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐแล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง หากเป็นไปได้ ตนขอเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ประสานงานระหว่างประเทศเป็นประจำทุกปี เพื่อศึกษาเรียนรู้ รวบรวมข้อมูล และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติงานมีความพร้อมมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย รวมถึงการบรรเทาสาธารณภัยและภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อรองรับประชาคมอาเซียนในปี 2015 ที่จะมาถึง หวังว่าการประชุมในครั้งนี้จะมีส่วนผลักดันให้ประเทศต่างๆ สนใจในเรื่องการค้นหาช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบภัยและ การบรรเทาสาธารณภัยอย่างจริงจัง ตลอดจนให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน เพื่อรับมือกับปัญหาอุบัติเหตุทางอากาศและภัยพิบัติจากธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคอาเซียนต่อไป