มติเอกฉันท์ ผู้ตรวจฯ ยกคำร้อง “ศรีสุวรรณ” กล่าวหา “บิ๊กตู่ - สนช.” ทำผิดรัฐธรรมนูญ ชี้ “ประยุทธ์” ใช้อำนาจตั้ง สนช. ไม่อยู่ในข่ายผู้ตรวจพิจารณาได้ ซ้ำ รธน. รองรับให้คำสั่ง คสช. เป็นที่สุด ขณะที่ สนช. ชงตั้งเป็นนายกฯ ถือเป็นเรื่องการกระทำ ไม่ใช่บทบัญญัติขัด รธน. ที่ กม. ให้อำนาจผู้ตรวจฯ ส่งเรื่องศาล รธน. วินิจฉัยได้ ส่วนองค์กรตาม รธน. เสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหา สปช. ก็เป็นไปตามที่ กม. ให้อำนาจดำเนินการได้
วันนี้ (19 ก.ย.) นายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ยกคำร้องกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องขอให้ตรวจสอบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยไม่มีความหลากหลาย และเอื้อประโยชน์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 และกรณีที่ขอให้ตรวจสอบสนช.ที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงกรณีที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญเข้าร่วมเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เนื่องจากเห็นว่าเข้าข่ายมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นกรณีผลประโยชน์ทับซ้อน และขัดต่อประมวลจริยธรรมขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า การพิจารณาคำร้องดังกล่าวต้องเข้าใจว่าขณะนี้รัฐธรรมนูญ 50 ได้ถูกยกเลิกไปแล้วและรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวถูกประกาศใช้ ซึ่งการพิจารณาก็ต้องยึดตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเหตุที่ยกคำร้องเนื่องจาก ในประเด็น พล.อ.ประยุทธ์ ตั้ง สนช.นั้น เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 2552 กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ในขณะที่แต่งตั้ง สนช. เป็นหัวหน้า คสช. ที่ไม่ได้มีสถานะเป็นข้าราชการ หรือบุคคลตามมาตรา 13 จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่วนที่คำร้องอ้างว่าการกระทำของหัวหน้าคสช.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น ก็เห็นว่า มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว กำหนดให้บรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช. หรือคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ได้ประกาศในระหว่างวันที่ 22 พ.ค. จนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลังวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และให้ประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญและถือเป็นที่สุด ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าประกาศแต่งตั้งสนช.ของพล.อ.ประยุทธ์ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
ส่วนประเด็นที่ สนช. มีมติเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี นั้น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ได้ให้กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเฉพาะกรณีบทบัญญัติของกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่การแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯของ สนช. ถือเป็นเรื่องของการกระทำของ สนช. ไม่เกี่ยวกับบทบัญญัติกฎหมาย จึงไม่อยู่ในอำนาจที่ผู้ตรวจฯจะพิจารณาได้ ขณะที่ในประเด็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็น สปช. นั้น ผู้ตรวจฯ เห็นว่าการเสนอชื่อดังกล่าวเป็นไปตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการสรรหา สปช. ที่กำหนดให้นิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไรมาแบ่งปันกัน และองค์กรภาครัฐมีสิทธิที่จะเสนอบุคคลเข้ารับการสรรหา ดังนั้น กรณีนี้การที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญเข้าเสนอชื่อบุคคลเพื่อรับการสรรหานั้นเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย และไม่ได้เป็นปัญหาต่อความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
“การที่ผู้ร้องในลักษณะนี้เพราะกลัวว่าบรรดาองค์กรตามรัฐธรรมนูญจะใช้โอกาสนี้เข้าไปรักษาผลประโยชน์ของตนเอง จึงกลัวว่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ในการเสนอชื่อเป็นแค่ขั้นตอนเบื้องต้นของการสรรหา และไม่มีอะไรมาการันตีว่าจะได้รับการคัดเลือกให้เป็น สปช. เพราะต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการสรรหา อีกทั้งตามกฎหมายก็ได้ระบุให้สมาชิกสปช.มีแค่ 250 คน การที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญเสนอชื่อได้แค่ 2 คน คงไม่มีอำนาจที่จะไปกำหนดให้ใครทำอะไรอย่างไรได้ ในทางกลับกัน การที่มีบุคคลในองค์กรตามรัฐธรรมนูญได้รับการสรรหาเข้าไปอยู่ใน สปช. น่าจะเป็นเรื่องดีและเป็นประโยชน์ อย่างเช่น องค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีภาระหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนและสร้างมาตรฐานความเป็นธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน ก็น่าที่จะเป็นองค์กรที่เข้าไปมีส่วนร่วม หรือมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาและอาจเข้าไปมีส่วนร่วมออกข้อเสนอในชั้นการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ดังนั้น จึงเห็นว่าไม่มีการกระทำหรือข้อเท็จจริงใดที่เรื่องดังกล่าวจะเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ”
อย่างไรก็ตาม มติเอกฉันท์ของผู้ตรวจการแผ่นดินครั้งนี้เป็นของผู้ตรวจการแผ่นดินเพียง 2 คน คือ นางผานิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจฯ และ นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจฯ เนื่องจาก นายพรเพชร วิชิตชลชัย ได้ลาออกไปก่อนและแม้ก่อนลาออกเมื่อคำร้องนี้เข้ามานายพรเพชรก็ได้แสดงตนว่าจะไม่ร่วมพิจารณาในคำร้องดังกล่าวเพราะถือว่ามีส่วนได้เสีย