xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.เตรียมงัด 2 ประเด็นโต้ “เสงี่ยม” ฟ้องยุบพรรค “นิพิฏฐ์” ตอกกลับ พท.ทำผิดหลายกรณี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิรัตน์ กัลยาศิริ (แฟ้มภาพ)
“มาร์ค” เตรียมนำทีม กม.แจงคดียุบพรรคศุกร์นี้ งัด 2 ประเด็นสู้ โยน “สุเทพ-แกนนำ” ลาออกจากสมาชิกพรรคแล้ว-ศาล รธน.วินิจฉัยชุมนุมโดยสงบ “นิพิฏฐ์” วอนแยกแยะ ยันไม่ใช่มติของพรรค ถือเป็นความผิดเฉพาะตัว ตอกกลับกรณี พท.สุมหัวแก้ รธน.-ที่มา ส.ว.น่าติดตามกว่าเยอะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 18 ก.ย. นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ แกนนำนปช.และคณะร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ฐานรู้เห็นเป็นใจให้สมาชิกและกรรมการบริหารพรรคไปขึ้นเวทีชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ว่า ในวันที่ 19 ก.ย.เวลา 13.00 น. ตนและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะเดินทางไปชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานี้ต่อคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จริงของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) โดยได้เตรียมประเด็นชี้แจง คือ 1. พรรคไม่ได้เป็นผู้จัดเวทีการชุมนุม แต่เป็นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายถาวร เสนเนียมและแกนนำ กปปส.ที่ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคแล้วและไปตั้งเวทีเรียกร้องและต่อสู้เพื่อความถูกต้องตามแนวทางประชาธิปไตย ซึ่งสังคมรู้แล้วว่าจุดยืนของพรรคสู้ในเรื่องนี้มาตลอด และ 2. ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่าการชุมนุมของ กปปส.เป็นสิทธิชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ

ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะฝ่ายกฎหมายพรรค กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า ต้องแยกแยะการกระทำของอดีต ส.ส.พรรคที่ไปร่วมเวทีชุมนุม กปปส. เพราะเป็นไปในนามส่วนตัว ที่ไม่ใช่มติของพรรค อีกทั้งระหว่างชุมนุมมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้สั่งยุติการชุมนุม โดยศาลได้วินิจฉัยว่าเป็นการชุมนุมตามสิทธิโดยสงบที่รัฐธรรมนูญรับรอง อีกทั้งไม่ได้กระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางตามรัฐธรรมนูญในระบบประชาธิปไตย คือใครทำผิดอะไรก็ว่าไปตามฐานความผิดของแต่ละบุคคล ไม่เกี่ยวกับพรรค ส่วนการกระทำใดๆที่ผู้ร่วมชุมนุมได้กระทำผิดในกฎหมายอื่นๆ อาทิ ปิดถนน ผิด พ.ร.บ.ความสะอาดก็ว่ากันไปตามกฎหมายแล้วแต่กรณี

นายนิพิฏฐ์กล่าวต่อว่า ขอตั้งข้อสังเกตเทียบเคียงในกรณีการทำผิดของสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่มีการใช้เสียงข้างมากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยชี้มูลความผิดแล้ว ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ในการทำสัญญาระหว่างรัฐหรือประเทศต้องผ่านสภาฯ หรือการแก้ไขอีกหลายมาตราในส่วนที่มาของ ส.ว. เพื่อเปิดทางเป็นสภาผัวเมีย มีการเสียบบัตรแทนกัน หรือแม้กระทั่งใช้ร่างกฎหมายปลอม และมีผลประโยชน์ทับซ้อนของสมาชิกรัฐสภา ที่มีทั้ง ส.ส.และ ส.ว.กว่า 300 คนลงชื่อร่วมแก้ไข ซึ่งศาลชี้ว่าเป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ น่าจะเป็นเรื่องที่สังคมนี้ต้องติดตามมากกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น