xs
xsm
sm
md
lg

ผูกเชือกรองเท้าเดินหน้าปฏิรูป คนดัง-คนเด่นฝ่าด่านสำเร็จ!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

จบสิ้นกันไปแล้วสำหรับการรับสมัครเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา มียอดรวมจากทั้ง 11 ด้านจำนวน 6,729 คน ถือว่าในเบื้องต้นประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย เนื่องจากมีผู้สนใจเข้ามาสมัครกันอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะในช่วงวันท้ายๆ ที่น่าสนใจก็คือเป็นคนเด่นคนดังจากทุกสาขาอาชีพ แม้ว่าในช่วงแรกทำเอาใจหงายใจคว่ำเมื่อมียอดเข้ามาโหรงเหรง ตัวบุคคลเห็นแล้วบอกตรงๆ ว่าไม่น่าเข้ามาปฏิรูปประเทศ น่าจะปฏิรูปตัวเองเสียก่อนอะไรประมาณนั้น แต่เมื่อสรุปยอดให้เห็นดังกล่าวก็น่าชื่นใจและในเบื้องต้นก็มีความหวัง

อย่างไรก็ตาม ก่อนเดินหน้าคัดสรรกันอย่างเต็มตัว ก็ต้องมีกรอบการปฏิรูปจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงออกมาก่อน ในวันที่ 4 กันยายนนี้ก่อน ระหว่างนี้ก็มาพิจารณารายชื่อบุคคลที่เข้ามาสมัคร และคาดหวังกันว่ามีใครบ้างที่น่าจะเข้าวินเข้าไปนั่งในสภาปฏิรูปแห่งชาติได้สักกี่คน

แต่เท่าที่ยืนยันจากปากของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า “ไม่มีการล็อกสเปก” อย่างน้อยก็เบาใจไปได้ระดับหนึ่ง ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากตัวบุคคลที่แห่เข้ามาสมัครกันอย่างล้นหลามแบบนี้ถึงจะ “ล็อก” กันอย่างไรมันก็ต้องคิดมากเหมือนกัน

อีกด้านหนึ่งแม้ว่านาทีนี้อาจยังมีปมเรื่องการล็อกสเปกอยู่บ้าง แต่นั่นไม่น่าหนักใจเท่ากับระยะเวลาในการทำงานของสภาปฏิรูปฯ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่กูรูชี้ตารางเวลาให้เห็นว่ามีเวลาค่อนข้างจำกัดประมาณแค่ 10 เดือนเท่านั้น ขณะที่ภารกิจการปฏิรูปมีถึง 11 ด้าน แน่นอนว่าทำได้ทันอยู่แล้วเพียงแค่เดือนเดียวก็ทำได้ แต่หากต้องการให้ผลออกมาเป็นที่ยอมรับจากสังคมทุกฝ่าย เป็นความคิดที่ตกผลึกร่วมกันนี่สิคือปัญหาใหม่ ดีไม่ดีอาจกลายเป็นต้นตอของการสร้างความตึงเครียดเกิดความขีดแย้งรอบใหม่ขึ้นมาอีก

ปัญหาที่ตามมาอีกก็คือ หากการยกร่างรัฐธรรมนูญทำไม่เสร็จตามกำหนดจะทำอย่างไร จะมีการสรรหากันใหม่ ร่างกันใหม่อย่างนั้นหรือ อย่างไรก็ดีอย่างหลังคงไม่เกิดขึ้น เพราะถ้าทำแบบนั้น คสช.และรัฐบาลก็คงอยู่ลำบาก ความไม่ไว้วางใจและศรัทธาจากสังคมจะลดลงทันที

ดังนั้นยังไม่สมควรคาดการณ์ล่วงหน้าไปก่อนในเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่สิ่งที่ต้องลุ้นกันในระยะอันใกล้นี้เป็นช่วงต่อเนื่องหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศแนวทางการปฏิรูปตามโรดแมปอย่างเป็นทางการแล้วว่าจะมีใครบ้างที่ต้องลุ้นว่าได้เข้าไปนั่งใน สปช.

เมื่อสำรวจตามรายชื่อแต่ละด้านตามที่มีการระบุว่าเป็นคนเด่นดัง ก็ถือว่าน่าจับตาทั้งสิ้น อย่างไรก็ดีเพื่อให้กระชับเข้ามาอีก ต้องจำใจนำเสนอเฉพาะบางรายชื่อที่คุ้นหน้าคุ้นตา รวมไปถึงบุคคลที่มีบทบาทโดดเด่นและมีภูมิหลังยึดโยงกับบางกลุ่มการเมืองให้เห็นก่อน ขณะที่อีกหลายคนที่ไม่มีรายชื่อออกมาให้เห็นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไร้ความหวัง หรือมีความหวังน้อยกว่า เอาเป็นว่านำเสนอกันเป็นเฉพาะมุมมองก็แล้วกันเริ่มจาก

ด้านการเมือง

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า, นายชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ ม.รังสิต, นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง, นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ, นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการสำนักงาน ป.ป.ช., นายชัย ชิดชอบ อดีตประธานรัฐสภา, พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา เป็นต้น

ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

พล.ร.อ.ประเสริฐ บุญทรง อดีต ผบ.ทร., นายผัน จันทรปาน อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, นายวิชัย ศรีขวัญ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายอัษฎา ชัยนาม อดีตอธิบดีกรมองค์กรระหว่างประเทศ, นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิต่อต้านคอร์รัปชัน, นายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายประชาชนอต้านคอร์รัปชัน และ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด เป็นต้น

ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการ ป.ป.ช., นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีต ส.ว., พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.ศ. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, นายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตรองประธานศาลฎีกา และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ เป็นต้น

ด้านการปกครองท้องถิ่น

นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงหมาดไทย, นายจรัส สุวรรณมาลา อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น

ด้านการศึกษา

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นางจรวยพร ธรณินทร์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายพนม พงษ์ไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายเกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม อดีต สนช. เสนอโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก

ด้านเศรษฐกิจ

นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย, นายวิชัย เบญจรงคกุล นายกสมาคมโทรคมนาคมฯ, นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด (มหาชน), นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต รมช.คลัง, นายณรงค์ โชควัฒนา นักธุรกิจอิสระ

ด้านพลังงาน

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว., นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค, นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผอ.สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย, นายวิศรุต ตั้งสุนทรขัณฑ์ เสนอโดย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, นายชยุตพงศ์ นันท์ธนะวานิช เสนอโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, นายคุรุจิต นาครทรรพ เสนอโดยกระทรวงพลังงาน, นายภิรมณ์ศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ เสนอโดยสำนักงานโยบายและแผนพลังงาน, นายวีระพล จิรประดิษฐกุล เสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน, นายทองฉัตร หงศ์ลดารมย์, นายกร ทัพพะรังสี อดีต รมว.หลายกระทรวง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ที่อยากโฟกัสกันไปให้ชัดๆ เช่น ด้านการเมือง ไม่ล็อกก็เหมือนล็อก สำหรับ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” รายนี้ถ้าไม่ติดโผนี่สิเรื่องแปลก เพราะว่ากันว่าต้องเป็นกรรมาธิการ หรือประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสียด้วย ด้านบริหารราชการแผ่นดิน ถ้ามีชื่อ “วีระ สมความคิด” ติดเข้าไปรับรองสนุกแน่ และที่น่าแปลกก็คือ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ดันมีชื่อของ “ธาริต เพ็งดิษฐ์”, “พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน” สมัครเข้ามาด้วย ถ้าผ่านไปได้คงปฏิรูปกันสนุกแน่

น่าจับตาแบบลุ้นยากๆ ก็เห็นจะเป็นด้านพลังงานที่มีชื่อของ “รสนา โตสิตระกูล” และ “อิฐบูรณ์ อ้นวงษา” เข้ามา แต่ก็ต้องขับเคี่ยวพวกเครือข่ายทุนพลังงานทั้งจากกระทรวงพลังงาน และธุรกิจพลังงาน ที่สำคัญต้องฝ่าด่านสำคัญก็คือคณะกรรมการสรรหาที่มีคนในเครือข่ายพลังงานนั่งรอกันอยู่เต็มพื้นที่แล้ว ถ้าฝ่าเข้าไปได้ถือว่าเจ๋งมาก

ดังนั้นเมื่อยังไม่มีการแข่งขันเต็มที่ก็พิจารณารายชื่อที่น่าสนใจเท่าที่เห็นกันไปก่อนพลางๆ เพราะหลังจากวันที่ 4 กันยายนเป็นต้นไปก็พอรู้แล้วว่ามีรายการล็อกสเปกกันหรือไม่ และปฏิรูปเป็นไปตามเป้าหมายได้หรือไม่ และที่สำคัญไม่เกิดความขัดแย้งใหม่ขึ้นมาอีก!!
กำลังโหลดความคิดเห็น