xs
xsm
sm
md
lg

ทูตอังกฤษเผยเชื่อ “สถาบันกษัตริย์-ประชาธิปไตย” อยู่ร่วมกันได้ กระทบชิ่ง ม.112 เรื่องเสรีภาพในความเชื่อ/แสดงความเห็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการ - มาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร เปิดบล็อกส่วนตัวเขียนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติ แสดงความเชื่อมั่นสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยอยู่ร่วมกันได้อย่างดี แต่ต้องมีเสรีภาพในความเชื่อและแสดงความเห็น ชี้อำนาจเบ็ดเสร็จมักก่อให้เกิดการฉ้อโกงเบ็ดเสร็จ ระบุความเสมอภาค-เสรีภาพทางการแสดงควาเห็นจะทำให้สังคมรุ่งเรือง

เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา นายมาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยซึ่งเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ปี 2555 ได้เขียนในบล็อกส่วนตัวเผยแพร่ในเว็บไซต์ blogs.fco.gov.uk/ แสดงความเห็นซึ่งเขาระบุว่าเป็นความเห็นส่วนตัว โดยจะเริ่มเกี่ยวกับนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศไทยในหลายแง่มุมทุกสัปดาห์

ในบล็อกแรกนี้ เคนท์ เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย แสดงความเห็นต่อ 5 ประเด็นหลักด้วยกัน คือ ประเด็นแรก สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเคนท์ระบุว่า ตนเทิดทูนทั้งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และตระหนักถึงความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทยที่มีต่อพระบทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ความจงรักภักดีไม่ได้เกิดจากการใช้กฎหมายบังคับ โดยในอังกฤษคนที่ไม่นิยมสถาบันมหากษัตริย์ก็มีจำนวนไม่น้อย แต่คนเหล่านั้นก็ได้รับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ตนเชื่อในการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าไม่มีความจำเป็นต้องเลือกระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตย ทั้งสองอยู่ด้วยกันได้อย่างดี

ประเด็นที่ 2 เคนท์ได้ยกถึงคำพูดของนายอับราฮัม ลินคอล์นประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวไว้ว่า “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” และคำพูดของเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล อดีตผู้นำอังกฤษ ที่กล่าวว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่แย่ที่สุด ถ้าไม่นับระบบอื่นทั้งหมดที่ได้ลองกันมา นอกจากนั้น ประชาธิปไตยในหลายประเทศทั่วโลกก็แตกต่างกันออกไป แต่จุดร่วมก็คือ รัฐบาลเป็นตัวแทนที่แท้จริงของเจตจำนงแห่งผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

ประเด็นที่ 3 เคนท์เห็นว่าทุกคนควรมีความเท่าเทียมกันตามกฎหมาย กฎหมายให้สิทธิและหน้าที่ซึ่งควรนำไปใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และยกคำพูดของที่ว่า “อำนาจมักทำให้เกิดการฉ้อโกง และอำนาจเบ็ดเสร็จก็ทำให้เกิดการฉ้อโกงอย่างเบ็ดเสร็จ (Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely)

ประเด็นที่ 4 เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรคนปัจจุบัน กล่าวถึงความเสมอภาคของโอกาสในสังคม และ ประเด็นที่ 5 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งส่งผลต่อความเจริญรุ่งเรืองของสังคม

อนึ่ง มีการตั้งข้อสังเกตว่า การแสดงความเห็นของมาร์ค เคนท์ ซึ่งระบุว่าเป็นการแสดงความเห็นส่วนตัว น่าจะเกี่ยวโยงกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันของประเทศไทย ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกได้เข้าควบคุมอำนาจในการบริหารประเทศตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 รวมไปถึงการต่อสู้ทางความคิดระหว่างประชาชนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย กับระบอบประชาธิปไตย รวมไปถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ด้วย

สำหรับเนื้อหาในบล็อกดังกล่าวของมาร์ค เคนท์ มีใจความทั้งหมดดังนี้

Beginning blogging again
August 27, 2014
This post is also available in: อังกฤษ

“ผมกลับมาเขียนบล็อกอีกครั้งหลังจากหายไปเกือบ 4 ปี ผมเคยเขียนเมื่อตอนเป็นทูตที่เวียดนาม จากนั้นมาผมก็ไปใช้ทวิตเตอร์ ตอนนี้ผมจะพยายามทำพร้อมๆ กันทั้งสองอย่าง

ในการเขียนบล็อกครั้งแรกนี้ผมจะพยายามเขียนเกี่ยวกับตัวผมครับ

ผมเติบโตจากหมู่บ้านเล็กๆ ในชนบทของประเทศอังกฤษที่แคว้นลิงคอล์นเชียร์ พ่อของผมเป็นเกษตรกรและก็ขับรถบรรทุก ส่วนแม่ของผมเป็นครู ผมเรียนในโรงเรียนประจำท้องถิ่น และมีโอกาสได้ไปเรียนกฏหมายที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และได้เรียนต่อปริญญาโทด้านกฎหมายยุโรป และเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ประวัติการทำงานของผมดูได้ที่นี่ ผมเป็นข้าราชการมาตลอดชีวิตการทำงานของผม และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง

บล็อกของผมเสนอความคิดเห็นและมุมมองส่วนตัวของผม ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นความเห็นของรัฐบาลอังกฤษ ผมจะพยายามอธิบายถึงนโยบายของสหราชอาณาจักรอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยจะเน้นที่ประเทศไทยและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักร ผมจะพยายามเขียนบล็อกเป็นรายสัปดาห์

ดังนั้น ผมจะให้รายละเอียดเพิ่มเติมโดยเกริ่นนำถึงสิ่งที่ผมเชื่อมั่นและประเด็นต่างๆที่ผมจะเขียนถึง

• ด้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ผมเป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผมได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์สองครั้งก่อนปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเอกอัครราชทูต สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก ผมเทิดทูนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี และผมก็ตระหนักถึงความจงรักภักดีอันท่วมท้นที่ประชาชนชาวไทยมีต่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยเช่นกัน สถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษได้ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสังคมในระยะเวลาที่ผ่านมาและเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนส่วนใหญ่ เช่น เมื่อครั้งที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงปรากฏพระองค์ในกีฬาโอลิมปิกลอนดอน 2012 ความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระราชินีนาถ ไม่ได้เกิดจากการใช้กฎหมายใดบังคับ คนที่ไม่นิยมสถาบันพระมหากษัตริย์มีจำนวนน้อย แต่พวกเขาได้รับเสรีภาพในการยึดมั่นกับความเห็นของตน ผมเชื่อในการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าไม่มีความจำเป็นต้องเลือกระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตย ทั้งสองอยู่ด้วยกันได้อย่างดี

• ด้านประชาธิปไตย โดยย่อ ดังที่อับราฮัม ลินคอล์นกล่าวไว้ว่า “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” ประชาธิปไตยนั้นไม่สมบูรณ์แบบ โดยอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ วินสตัน เชอร์ชิล เคยกล่าวไว้ว่า เป็นระบบการปกครองที่แย่ที่สุด ถ้าไม่นับระบบอื่นทั้งหมดที่ได้ลองกันมา นอกจากนั้น ประชาธิปไตยในหลายประเทศทั่วโลกก็แตกต่างกันออกไป แต่จุดร่วมก็คือ รัฐบาลเป็นตัวแทนที่แท้จริงของเจตจำนงแห่งผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งมวล

• ด้านหลักนิติธรรม ทุกคนควรมีความเท่าเทียมกันตามกฎหมาย กฎหมายให้สิทธิและหน้าที่ซึ่งควรนำไปใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำพูดของลอร์ดแอคตัน ที่ว่าอำนาจมักทำให้เกิดการฉ้อโกง และอำนาจเบ็จเสร็จก็ทำให้เกิดการฉ้อโกงอย่างเบ็จเสร็จ

• ความเสมอภาคของโอกาสในสังคม โดยไม่สนใจภูมิหลังทางสังคม สถานที่ เพศ ชาติพันธุ์ หรือรสนิยมทางเพศ การยอมรับความหลากหลายและการมีส่วนร่วมของทุกส่วนในสังคมในการพัฒนาและการปกครอง

• เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการท้าทายและการแสดงความเห็นที่แตกต่างอย่างสันติเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาในทุกสังคม นำมาซึ่งทัศนะที่แตกต่างกันและสำนึกการมีส่วนร่วมในสังคม ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าจะก่อให้เกิดสังคมที่มีพลวัต เจริญรุ่งเรือง และมีนวัตกรรม สื่อมวลชนและสื่อสังคมก็มีบทบาทที่สำคัญ

• ผมขอเตือนว่าผมเป็นแฟนฟุตบอลและแฟนสโมสรอาร์เซนอลตัวยง…

ผมตระหนักดีว่าประเทศของผมนั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบ มีข้อบกพร่องและจุดอ่อนหลายประการ (เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทุกประเทศ) แต่ผมเชื่อว่าเราจะเข้มแข็งขึ้นทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและสังคม จากการแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ต่างๆ เราสามารถเรียนรู้ได้มากจากทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จของเรา ประวัติศาสตร์สอนเราหลายอย่าง แต่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีสิ่งท้าทายต่างๆเกิดขึ้น เราจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่รอบตัวเรา

ผมจะแบ่งปันความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ในสัปดาห์ต่อๆ ไป ในบล็อกจะมีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ผมยินดีรับความคิดเห็นและคำถามต่างๆ จากคุณ กรุณาเคารพผู้อื่นและงดใช้ในทางที่ผิด ข้อกำหนดและเงื่อนไขของเราดูได้ที่นี่ คุณสามารถติดตามผมได้ทางทวิตเตอร์ที่ @KentBKK และติดตามสถานทูตได้ที่ @UKinThailand และ UKinThailand เฟซบุ๊ก

Mark Kent




กำลังโหลดความคิดเห็น