เลขาฯ กกต.-ศธ.แถลงร่วมมือกำหนดหลักสูตรเรียนรู้ในระบอบ ปชต.ตามแนวคิด คสช. แจงปรับเนื้อหาหลักสูตรที่ดำเนินตั้งแต่ปี 50 เผย 19 ส.ค. ปธ.กกต.-ปลัด ศธ.ลงนามร่วมกัน เน้นย้ำใน 4 ช่วงชั้น นำหลักสูตรลูกเสือพัฒนา ปชต.กกต. บรรจุในหลักสูตรลูกเสือสามัญ ยันไม่เน้นท่องจำ เน้นกิจกรรมให้เข้าใจ หวังสร้างต้นกล้า ปชต.ให้เด็ก ศธ.รับลูก คสช.เน้นเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์
วันนี้ (7 ส.ค.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมด้วยนายวินัย รอดจ่าย ประธานคณะกรรมการพัฒนาการเตรียมการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันแถลงข่าวความร่วมมือระหว่าง กกต.และกระทรวงศึกษาธิการ ในการกำหนดหลักสูตรการเรียนรู้ในระบอบประชาธิปไตย โดยนายภุชงค์กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบแนวคิดกับกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาหลักสูตรและการส่งเสริมประชาธิปไตยและหน้าที่พลเมืองให้นำมาสู่การเรียนการสอน เรื่องนี้ กกต.และกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมมือกันดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โดยมีการจัดทำคู่มือการเรียนการสอนในวิชาหน้าที่พลเมืองใน 4 ช่วงชั้นเพื่อให้ครูสอนหลักประชาธิปไตยให้แก่นักเรียน เมื่อ คสช.มีแนวคิดดังกล่าวจึงนำไปสู่การปรับปรุงเนื้อหาและหลักสูตรให้สอดคล้องกับสถานการปัจจุบันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 ส.ค. นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.กับปลัดกระทรวงศึกษาธิการจะมีการลงนามร่วมกันเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย โดยจะเน้นย้ำใน 4 ช่วงชั้น และจะมีการนำหลักสูตรลูกเสืออาสาพัฒนาประชาธิปไตยของ กกต.บรรจุไว้ในหลักสูตรลูกเสือสามัญชั้นสูงของโรงเรียนทั่วประเทศด้วย
“หลักสูตรนี้เราไม่ได้เน้นให้เด็กท่องจำ แต่จะเน้นการปฏิบัติโดยจัดกิจกรรมให้เด็กได้เข้าใจในหลักการประชาธิปไตย โดยต้องเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองและผู้อื่น อาทิ กิจกรรม “ฉันพูดเธอฟัง” ที่จะให้เด็กผลัดกันพูดแล้วให้อีกคนฟังเพื่อสรุปใจความสำคัญ เป็นการสอนให้เด็กเคารพสิทธิในการพูดและการฟังของตนเองและผู้อื่น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม “ป.ปลาตากลม” ที่จะจำลองตู้ปลาเพื่อให้เป็นกรอบสังคมประชาธิปไตย ที่เปรียบปลาเป็นคนที่มีเชื่อชาติศาสนาและความคิดที่แตกต่างกัน แต่ยังสามารถอยู่ในสังคมเดียวกันได้โดยที่ไม่มีความแตกแยก ทั้งหมดนี้คือความพยายามของ กกต.เพื่อสร้างต้นกล้าประชาธิปไตยให้แก่เด็กๆ ถ้าเรารดน้ำใส่ปุ๋ยที่ดีเขาจะเป็นต้นกล้าที่เข้มแข็ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีได้หรือไม่”
ด้านนายวินัยกล่าวว่า คสช.ได้เน้นมอบนโยบายแก่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ปรับปรุงหลักสูตรในวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง ซึ่งในส่วนของวิชาประวัติศาสตร์เราได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว แต่ในส่วนของหน้าที่พลเมือง เราได้ประสานกับ กกต.เพิ่มเนื้อหา เน้นในเรื่องของความรักชาติ ยึดมั่นศาสนา เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ การปรองดอง ความสนามฉันท์ ความมีวินัย และการเป็นพลเมืองที่ดีในสังคม สอดคล้องกับ กกต.ที่ดำเนินการในเรื่องนี้ อีกทั้งจะมีการให้เจ้าหน้าที่ของ กกต.ไปอบรมครูผู้สอนใน 4 จุด คือ กทม. และ จ.พระนครศรีอยุธยา