จุฬาราชมนตรีส่งที่ปรึกษายื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง สนช. ขอบคุณ “ประยุทธ์” แต่งตั้ง แต่ผู้นำศาสนาอิสลามไม่ควรมีสถานะทางการเมือง ยืนยันไม่เคยทราบมาก่อนล่วงหน้า ทราบเมื่อมีประกาศ แม้ไม่ขัดกฎหมายองค์กรศาสนาอิสลามแต่เป็นเรื่องความเหมาะสม
วันนี้ (4 ส.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 12.30 น. นายปรีดา เชื้อผู้ดี ที่ปรึกษาจุฬาราชมนตรี เป็นตัวแทนนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี เดินทางมายังอาคารวุฒิสภา เพื่อยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านนางนิภาพร ศรีสุวรรณ รองเลขาธิการวุฒิสภา โดยนายปรีดากล่าวว่า จุฬาราชมนตรีขอขอบคุณ คสช.ที่แต่งตั้งเป็น สนช. แต่เห็นว่าตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำสูงสุดในการบริหารกิจการศาสนาอิสลาม ไม่ควรมีสถานะทางการเมืองเช่นเดียวกับผู้นำสูงสุดของศาสนาอื่น จึงได้ทำหนังสือถึงหัวหน้า คสช.เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมาเพื่อไม่ขอรับตำแหน่งดังกล่าว โดยมีความยินดีให้คำปรึกษาและเสนอแนะ ประสานความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม และภารกิจด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป โดยจุฬาราชมนตรีฝากบอกว่าขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันแก้ปัญหาให้ประเทศ และให้ คสช.เร่งสร้างความปรองดอง และแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จากนั้นให้คืนอำนาจแก่ประชาชน
นายปรีดากล่าวต่อว่า การเสนอชื่อจุฬาราชมนตรีเป็น สนช.นั้น ยืนยันว่าจุฬาราชมนตรีไม่ทราบมาก่อนล่วงหน้า ไม่เคยมีการทาบทามมาก่อน เพิ่งมาทราบตอนที่มีการโปรดเกล้าฯ รายชื่อลงมา ส่วนกรณีการเสนอชื่อจุฬาราชมนตรีจะขัดต่อ พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ที่ห้ามจุฬาราชมนตรีดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น มาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ระบุว่า กรณีที่มีบทบัญญัติกฎหมายใดกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง มิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นมาบังคับใช้แก่ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช., สนช., สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงสามารถเป็น สนช.ได้ แต่การไม่รับตำแหน่ง สนช.เป็นเรื่องความเหมาะสมของการเป็นผู้นำสูงสุดศาสนาอิสลามเท่านั้น