กรุงเทพโพลล์สำรวจนักเศรษฐศาสตร์ เปรียบเทียบนโยบายข้าว ให้นโยบายการลดต้นทุนการผลิตข้าวของ คสช.เหนือประกันรายได้ยุค “อภิสิทธิ์” และจำนำข้าวสมัย “ยิ่งลักษณ์” เหตุเป็นภาระต่อต้นทุนการคลังน้อย และยังเป็นการสะท้อนกลไกราคา
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 34 แห่ง จำนวน 72 คน เรื่อง “เปรียบเทียบนโยบายข้าวจากยุคอภิสิทธิ์ ยิ่งลักษณ์ ถึง คสช.นโยบายใดโดนใจนักเศรษฐศาสตร์” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 16-28 ก.ค. 57 ที่ผ่านมา
ผลสำรวจ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 63.9 ให้นโยบายลดต้นทุนการผลิต (ข้าว) ของ คสช.เหนือกว่านโยบายประกันรายได้เกษตรกรในยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนโยบายจำนำข้าวในยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากนักเศรษฐศาสตร์ เพียงร้อยละ 13.9 และร้อยละ 1.4 ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาจากประเด็นการประเมินใน 5 ด้าน พบว่า นโยบายลดต้นทุนการผลิตของ คสช.ได้รับการประเมินที่เหนือกว่านโยบายประกันรายได้เกษตรกรและนโยบายจำนำข้าวในทุกประเด็น โดยเฉพาะประเด็นการเป็นภาระต่อต้นทุนทางการคลังน้อย (ร้อยละ 58.3 บอกว่าใช่) การสะท้อนกลไกราคา (ร้อยละ 56.9) ถัดมาเป็นประเด็นการเอื้อให้เกิดการพัฒนาผลิตภาพการผลิต (ร้อยละ 41.7) การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน (ร้อยละ 41.7) และประเด็นชาวนาได้รับสิทธิ์ทั่วถึงและเท่าเทียม (ร้อยละ 40.3)
ขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์ยังให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินนโยบายลดต้นทุนการผลิตข้าวของ คสช.ดังนี้ อันดับ 1 ต้องให้ความสำคัญต่อการตลาดการขยายตลาด ควบคู่กับการลดต้นทุนการผลิตรวมถึงควรดูแลกลไกตลาดให้มีการทำงานอย่างที่ควรจะเป็นเพื่อป้องกันพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบชาวนา อันดับ 2 การดำเนินนโยบายลดต้นทุนต้องทำพร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) อย่างจริงจังและเห็นผลเป็นรูปธรรมด้วยการทำโซนนิ่งพื้นที่เกษตร การปรับปรุงคุณภาพข้าว การปรับปรุงระบบชลประทาน การปรับปรุงคุณภาพดิน
อันดับ 3 บูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ ของเกษตรกร หลักเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกับสถาบันการศึกษาผู้แปรรูปสินค้า ภาคอุตสาหกรรมแล้วถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวให้แก่เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้อง