xs
xsm
sm
md
lg

“นริศ” ขอ คสช.ขึ้นทะเบียนไม้พะยูงที่ถูกต้อง แนะฟัน จนท.รู้เห็นตัดไม้ คุยชาติรับซื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นริศ ขำนุรักษ์ อดีตส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
อดีต ส.ส.พัทลุง เผยชาวบ้านหวั่นคำสั่ง คสช.ถือไม้สกุลพะยูง 16 ชนิดมีความผิด วอนให้ขึ้นทะเบียนไม้ที่ครอบครองโดยชอบ แปลกใจเพิ่มโทษปรับตัดไม้พะยูง กลับไม่เพิ่มโทษจำคุก ชี้มีปัญหาปลูกในที่ตัวเอง แต่จะตัดใช้ต้องจดทะเบียนทำยุ่งยาก แนะจัดการ จนท.ที่รู้เห็น เจรจาชาติที่รับซื้อ แก้ปัญหาตัดไม้พะยูง

วันนี้ (24 ก.ค.) นายนริศ ขำนุรักษ์ อดีต ส.ส.พัทลุง และอดีตประธานคณะกรรมาการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้มีชาวบ้านเข้ามาร้องเรียนอันเนื่องจากเกิดผลกระทบจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่160/2557 ที่แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ว่าชาวบ้านเกิดความหวั่นเกรงว่าจะได้รับการเดือดร้อนเพราะคำสั่งดังกล่าวให้เพิ่มชนิดไม้สกุลพะยูงอีก 16 ชนิด หรือ 16 ชื่อเรียก นอกเหนือจากไม้สักและไม้ยางให้การครอบครองแม้ต่ำกว่า 0.2 ลูกบาศก์เมตร ก็ถือเป็นความผิด จึงขอให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบตามคำสั่งนี้ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย โดยให้มีการจดแจ้งขึ้นทะเบียนไม้ที่ครอบครองโดยชอบมาก่อนโดยเร็ว

นายนริศกล่าวว่า ในฐานะอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นว่า การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ต้องทำควบคู่กันไปทั้งการป้องกันปราบปรามที่เด็ดขาด และการรณรงค์ปลูกป่าทั้งพื้นที่ของเอกชนและพื้นที่ป่าอย่างกว้างขวาง และการดำเนินการทุกอย่างต้อง ไม่ไปรอนสิทธิกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ ประกาศของ คสช.ดังกล่าวนี้อาจทำให้การป้องกันปราบปราบการบุกรุกทำลายไม้สกุลพะยูงได้ผลมากขึ้น เพราะได้เพิ่มโทษปรับขึ้นประมาณ 10 เท่ากับผู้กระทำผิดจากโทษเดิม แต่ก็ยังแปลกใจว่าทำไมไม่เพิ่มโทษจำคุกขึ้นด้วย แต่การปลูกป่าโดยประชาชนและเอกชนจะมีปัญหาพอสมควรเพราะประชาชนที่ปลูกไม้ในพื้นที่เอกสารสิทธิของตนเอง แต่เมื่อจะตัดไปใช้ประโยชน์ต้องไปจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.สวนป่า ซึ่งเพิ่มความยุ่งยากมากขึ้น และจะไม่มีคนสนใจปลูกไม้ชนิดนี้อีกต่อไป เพราะเหตุคำสั่งดังกล่าวนี้ทำให้ไม้ชนิดดังกล่าวไม่ได้เป็นส่วนควบของที่ดินอีกต่อไป

นายนริศกล่าวต่อว่า การลักลอบตัดไม้พะยูงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้าไม่เกิดจากการสมคบหาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ เจ้าหน้าที่ศุลกากร และมีการตรวจตราการเคลื่อนย้ายที่้เข้มข้น ตลอดจนต้องมีการเปิดเจรจากับประเทศที่สั่งไม้เข้าและประทศที่อนุญาตให้ไม้ผ่านทาง เช่น จีน เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ถือเป็นอีกช่องทางที่สำคัญอีกช่องทางหนึ่งในการอนุรักษ์ไม้ชนิดนี้ไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น