xs
xsm
sm
md
lg

คสช.แจง รธน.57! “วิษณุ” คาดใช้แค่ 1 ปี อ้างอำนาจ คสช.แค่เสนอแนะ ไร้อาญาสิทธิ์ปลดนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการ - คสช.ตั้งโต๊ะแถลงรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 “พรเพชร” ยันคงพระราชอำนาจเหมือนเดิม มีสภานิติบัญญัติฯ 220 คน “ประยุทธ์” คัดเอง ก่อนขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนตั้งนายกฯ รมต.และอยู่จนกว่าจะมี ส.ส. “วิษณุ” ชูต้นลำธารทั้ง 5 คาดมีอายุ 1 ปีเพื่อรอฉบับถาวรใช้ ก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้ง เผยสภาปฏิรูปให้ กก.สรรหา 77 จังหวัดส่งชื่อให้คัดจากที่เหลือให้องค์กรชงชื่อรวม 550 รายแล้วคัดออก จนเหลือ 173 คน ส่วน กมธ.ยกร่างฯ มี 36 คน และจะโดนแบนงดตำแหน่งการเมือง 2 ปี อ้างอำนาจ คสช.แค่เสนอแนะ ครม.แต่ไม่มีอำนาจปลดนายกฯ บอก ม.46 ใช้เมื่อจำเป็น และหมดอำนาจเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่





ตั้งแต่ช่วงเวลา 10.00 น. วันนี้ (23 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้จัดให้มีการแถลงข่าวความเป็นมาของการจัดทำและรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 ผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบไปด้วย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม, ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, พล.ต.วีระ โรจนะวาศ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก

ในช่วงต้น ศ.พิเศษ พรเพชรได้ชี้แจงถึงความเป็นมาและชี้แจงถึงแผนผัง “โครงสร้างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ” โดยคร่าว ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้นายวิษณุ โดยนายวิษณุระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 ของราชอาณาจักรไทย ถ้านับทั้งรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และชั่วคราว หากให้ประเมินแล้วรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ก็น่าจะมีอายุประมาณหนึ่งปี ถึงหนึ่งปีเศษ ก่อนที่จะมีการจัดให้มีการเลือกตั้ง โดยมีความเชื่อว่าระยะเวลา 1 ปีนับจากนี้ตั้งแต่นี้ไปจะสามารถจัดการปัญหาที่ค้างคาอยู่ และชนวนความขัดแย้งเป็นผลสำเร็จ อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง

ศ.พิเศษ พรเพชรได้กล่าวถึงสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้บัญญัติพระราชอำนาจไว้อย่างชัดเจน นอกจากการคงหมวด 2 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 แล้ว ยังทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกำหนด และพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ ทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ และแต่งตั้งข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และพระราชอำนาจในการอื่นๆ ตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ในส่วนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้นจะมีสมาชิกไม่เกิน 220 คน หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คัดเลือกจากบุคคลภาคส่วนต่างๆ แล้วนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงแต่งตั้ง ลักษณะต้องห้ามที่สำคัญก็คือ สัญชาติไทยโดยกำเนิด อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี และต้องไม่ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองภายในเวลา 3 ปีก่อนวันที่จะได้รับการแต่งตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาปฏิรูปในเวลาเดียวกัน โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติไม่น้อยกว่า 25 คนสามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติได้

สำหรับคณะรัฐมนตรีนั้นจะประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอื่นๆ อีกไม่เกิน 35 คนพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมติของสภานิติบัญญัติ โดยคระรักษาความสงบแห่งชาติ สามารถเสนอให้สภานิติบัญญัติลงมติให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งได้ นายกรัฐมนตรีต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองภายในเวลา 3 ปีก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้ง

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ที่สามารถแจ้งให้ ครม.ทราบเพื่อดำเนินการใดๆ ที่เห็นสมควร มีอำนาจหน้าที่เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่ยังไม่มีการแต่งตั้ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีอำนาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่าการนั้นชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ แต่ให้รายงานให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว

นายวิษณุกล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นต้นธารของสิ่งสำคัญต่างๆ 5 สิ่งที่จะแยกออกไป ประกอบไปด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ, คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะรัฐมนตรี-นายกรัฐมนตรี

นายวิษณุกล่าวว่า ตอนนี้ถือว่าขั้นที่ 2 ของโรดแมปที่ คสช.ประกาศไว้ คือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ 19 ของไทย หากนับทั้งฉบับถาวรและชั่วคราว โดยไม่นับฉบับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม คาดว่าฉบับชั่วคราวนี้จะมีอายุ 1 ปี เพื่อรอรัฐธรรมนูญฉบับถาวรซึ่งจะเป็นฉบับที่ 20 จากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ของโรดแมป คือ การจัดการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ เชื่อว่าระยะเวลา 1 ปีนับจากนี้จะจัดการกับปัญหาที่ค้างคาอยู่ได้เป็น ผลสำเร็จในระดับหนึ่ง สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้จะนำไปสู่องค์กรสำคัญอีก 5 องค์กร คือ 1. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีสมาชิก 220 คน ซึ่งไม่มีการสมัคร แต่จะมาจากการตัดสินใจของหัวหน้า คสช. ซึ่งได้มีการจัดฐานข้อมูล อายุไม่น้อยกว่า 40 ปี มีสัญชาติไทย ไม่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองในพรรคการเมือง มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดกฎหมายและพิจารณาสนธิสัญญาที่เกี่ยวพันกับต่างประเทศ มีอำนาจให้ความห็นชอบแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี ควบคุมการบริหารของนรัฐบาลโดยจำกัดเพียงตั้งกระทู้ถาม แต่ไม่รวมถึงการอภิปรายเพื่อซักฟอก รวมถึงให้ความเห็นชอบการดำรงตำแหน่งของบุคคลบางตำแหน่ง

2. คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอีกไม่เกิน 35 คน รวมไม่เกิน 36 คน นายกรัฐมนตรีจะมาจากที่ใดก็ได้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นระยะเวลาเพียง 1 ปี จึงควรเปิดทางให้บุคคลทุกส่วนสามารถ เข้ามาทำหน้าที่ได้ ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ให้ ครม.มีอำนาจในการปฏิรูปเรื่องต่างๆ นอกเหนือจากการบริหารราชการแผ่นดิน นอกจากนี้ ครม.ยังมีหกน้าที่สร้างความปรองดองสมานฉันท์เป็นพันธกิจที่ต้องปฏิบัติ 3. สภาปฏิรูปแห่งชาติ มีสมาชิกไม่เกิน 250 คน มาจากการสรรหามาจากจังหวัดต่างๆ 77 จังหวัด รวม 77 คน แต่ละจังหวัดจะมีคณะกรรมการสรรหา 1 ชุด ทำหน้าที่สรรหาและเสนอชื่อเข้ามาเป็นผู้แทนในสภาปฏิรูป แห่งชาติ โดยเสนอชื่อให้ คสช.5 คน และ คสช.เลือกมา 1 คน ส่วนอีก 173 คนจะมาจากข้อกำหนด 11 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมือง กฎหมาย การ ปกครองส่วนท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม พลังงาน สื่อสารมวลชน และอื่นๆ มีคณะกรรมการสรรหาด้านละ 1 ชุด ใช้วิธีเสนอชื่อโดยไม่มีการเปิดรับสมัคร ต้องมีองค์กรหรือนิติบุคคลหรือ สถบันการศึกษาเสนอชื่อเข้ามาได้องค์กรละ 2 คน โดยเจาะจงว่าจะเข้ามาปฏิรูปด้านใด รวมแล้วได้รายชื่อ 550 คนส่งให้ คสช.เลือกเหลือ 173 คน เพื่อนำไปรวมกับตัวแทนจังหวัดได้ 250 คน หน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติทำหน้าที่เสนอความเห็นในการปฏิรูปส่วนต่างๆ หากต้องใช้กฎหมายก็จะมีการเสนอกฎหมายต่อ สนช.

นอกจากนี้ยังมีอำนาจให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญด้วย 4. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน มีระยะเวลาทำงานในการร่างรัฐธรรมนูญ 120 วัน กรรมาธิการต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองอย่างน้อย 3 ปีย้อนหลัง รวมถึงไม่เคยอยู่ในองค์กรอิสระ และ 36 คนนี้จะไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ไม่ได้ในระยะเวลา 2 ปี หลังยกร่างรัฐธรรมนูญ และต้องร่างภายใต้กรอบสำคัญ อาทิ กรอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรอบของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เป็นต้น

5. คสช.มีอำนาจเสนอแนะให้ ครม.พิจารณาปฏิบัติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่ง ครม.พิจารณาอาจไม่ปฏิบัติก็ได้ รวมถึงการจัดประชุมร่วมระหว่าง คสช.กับ ครม. แต่ไม่มีอำนาจปลดนายกฯ หรือรัฐมนตรี หรือมีอำนาจบังคับบัญชา ครม. หรือข้าราชการ เพียงแต่ ให้ คสช. มีอยู่เพื่อแบ่งเบาภาระ ครม.ในด้านความมั่นคงสงบเรียบร้อยในช่วง 1 ปีนี้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ คสช.มีอำนาจในการจัดการปัญหาต่างๆ ได้ จึงมีการกำหนด ม.46 ให้อำนาจพิเศษเฉพาะกรณีจำเป็นเท่านั้น และใช้เพื่อสร้างสรรค์เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

นายวิษณุกล่าวในตอนท้ายว่า หากมีคำถามว่าลำธาร 5 สายจะอยู่ไปนานจนถึงเมื่อใด ตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะอยู่ไปจนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สนช.จะอยู่จนถึง ส.ส.สมัยหน้า มีส.ส.สมัยหน้าเมื่อใด สนช.ก็หมดไป คณะรัฐมนตรีก็อยู่จนมี ครม.ชุดใหม่มารับไม้ สภาปฏิรูปจะหมดไปเมื่อใด เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างเสร็จและเขียนเกี่ยวกับสภาปฏิรูปอย่างไร สภาปฏิรปก็เป็นอย่างนั้น คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะอยู่ไปจนถึงเมื่อใด ก็จนเมื่อยกร่างเสร็จ ส่วน คสช.จะอยู่ไปจนถึงเมื่อใด โดยหลักเมื่อมีการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คสช.ก็จะหมดไปเมื่อนั้น ทั้งหมดนี้ก็จะหมดไปภายในระยะเวลา 1 ปี บวกลบ

คำต่อคำ คสช.แถลงรายละเอียดรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557

“สวัสดีครับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติขอนำท่านผู้ชมเข้าสู่การถ่ายทอดสดการชี้แจงรายละเอียดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 โดยมีฝ่ายกฎหมาย และกระทรวงการยุติธรรมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการชี้แจง ณ ตึกสันติไมตรีทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีผู้ดำเนินการชี้แจงจำนวน 3 ท่านขออนุญาตแนะนำตามลำดับดังนี้ครับ ลำดับแรก พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ท่านที่ 2 ท่าน ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ท่านที่ 3 ศ.ดร.นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในโอกาสนี้จึงขอนำเชิญท่านผู้ชมเข้าสู่การชี้แจงของทั้ง 3 ท่านเป็นลำดับต่อไป ขอเรียนเชิญครับ

พล.อ.ไพบูลย์-สวัสดีครับพี่น้องประชาชน และสื่อมวลชนที่เคารพรักทุกท่าน ตามที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการนั้นนะครับ ก็คงเป็นไปตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เรียนชี้แจงประชาชนไว้แล้วนะครับว่า ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ จะมีรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามแนวทางการดำเนินงาน หรือโรดแมปในขั้นที่ 2 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาตินะครับ ในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กรุณามอบหมายให้ผม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม พร้อมด้วย ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย และ ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม ได้มาชี้แจงเพิ่มเติมในเรื่องของความเป็นมา และเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับนี้นะครับ ขอเรียนเชิญอาจารย์ทั้ง 2 ครับ

ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร - สวัสดีครับ ท่านผู้มีเกียรติ ท่านสื่อมวลชน ท่านผู้รับชมและรับฟังการถ่ายทอดสดทั้งที่อยู่ทางบ้านและที่นี้ทุกท่าน ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้มาพูดถึงสิ่งที่ประชาชนคนไทยกำลังให้ความสำคัญอยู่ขณะนี้ หลายท่านอาจรู้สึกเหมือนผมที่ได้เห็นภาพจากข่าวพระราชสำนักเมื่อคืนนี้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อรับพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 ที่ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย

รัฐธรรมนูญนี้ถึงแม้จะเป็นฉบับชั่วคราว แต่ความรู้สึกแรก คือ บ้านเมืองของเรากำลังมีกฎกติกาที่แน่นอน เป็นหลักของกฎหมายที่เรียกว่ากฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งจะเรียกได้ว่าบ้านเมืองของเราเป็นนิติรัฐคือ ลัทธิยึดถือกฎหมาย เป็นกติกาในการอยู่ร่วมกันของประชาชนกับองค์ที่ใช้อำนาจอธิปไตย ความรู้สึกประการต่อมาคือ ความชัดเจนของแนวทางการพัฒนาการเมืองของประเทศไทยว่า จะดำเนินการในรู้แบบใด เพื่อนำไปสู่การปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่เรียกกันว่าโรดแมป หรือจะพูดอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การปฏิบัติตามพันธสัญญาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่จะดำเนินการอย่างไร ด้วยวิธีการและรูปแบบอย่างไร และกำหนดระยะเวลาอย่างไร ดังจะเห็นได้ชัดเจนถึงกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้อย่างละเอียด ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ย่อมสร้างความเชื่อมั่นให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะไปสู่จุดหมายของประชาธิปไตย ภายในกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ แต่ความรู้สึกเหนือสิ่งอื่นใดที่ผมสัมผัสได้เมื่อเห็นภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็คือ ความรู้สึกที่ว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ใต้การปกครองของรัฐธรรมนูญฉบับใด จะเป็นฉบับถาวร หรือฉบับชั่วคราว แต่พระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองสูงสุด แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ซึ่งตามหลักรัฐศาสตร์แบบฝรั่งเรียกว่า Constitutional monarchy แต่พระเจ้าอยู่หัวของเรานั้นเป็นยิ่งกว่าผู้ใช้อำนาจอธิปไตย

ไม่ทราบว่าท่านผู้มีเกียรติจะรู้สึกเหมือนผมหรือไม่ว่า เมื่อเห็นภาพที่ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้น ผมในฐานะคนไทย รู้สึกอบอุ่น และมั่นคง ว่าเราอยู่ภายใต้การปกครองที่มีพ่อของแผ่นดินดูแลอยู่

ถ้าท่านอ่านตารางเปรียบเทียบของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเห็นได้ว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวครั้งนี้มีบทบัญญัติที่ชัดเจนถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในเรื่องต่างๆ ที่พวกเราคนไทยอยากให้ทรงมีพระราชอำนาจนั้น เช่น พระราชอำนาจในการอภัยโทษ พระราชอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลต่างๆ เป็นต้น อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ค่อนข้างจะยาวมากกว่าฉบับชั่วคราวอื่นๆ เพราะได้เขียนไว้มากในเรื่องพระราชอำนาจ ยืนยันถึงพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ผมมีเวลาไม่มากนัก จึงได้จัดเตรียมเอกสารสรุปสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตารางโครงสร้างขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตารางแสดงขั้นตอนของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และยังได้จัดทำตารางเปรียบเทียบบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเมื่อปี 2549 กับฉบับปี 2534 เพื่อที่ท่านจะเข้าใจรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ง่ายขึ้น

แต่ก่อนที่ผมจะลงไปในรายละเอียดของเนื้อหา ซึ่งรายละเอียดของเนื้อหานี้ ส่วนใหญ่ผมจะขอให้ท่านอาจารย์วิษณุได้พูดในเรื่องดังกล่าวให้มาก แต่ผมจะพูดเฉพาะหลักการที่สำคัญ และในเรื่องที่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องใหม่ และเป็นจุดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่านั้น

เรื่องแรกที่ผมอยากจะกราบเรียนให้ทราบก็คือ ความเป็นมาและแนวคิดสำคัญของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นจากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วย ผม ในฐานะที่ปรึกษาของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก นักกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานรักษาความสงบ สำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ร่วมกันรับผิดชอบในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อใช้บังคับขึ้น โดยจำเป็นต้องดูที่ยึดหลักนิติรัฐ หลักการในการยกร่างคือ คณะทำงานได้เข้าปรึกษา และขอความเห็นชอบในประเด็นสำคัญของรัฐธรรมนูญจากท่านหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

นอกจากนั้นได้เข้าปรึกษาจากคณะที่ปรึกษาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งมีอาจารย์วิษณุเป็นที่ปรึกษาด้วยคนหนึ่ง เมื่อยกร่างเสร็จแล้วในชั้นแรก ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่าง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แต่งตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ พิจารณาการร่วมกันกับคณะทำงานของเรา คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาตรวจแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้วเสร็จ พร้อมกันนั้น เนื่องจากมีการจัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติด้วย คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้ร่วมกันยกร่างพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายลูกที่จะต้องออกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ด้วย เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาได้โปรดเกล้าเสร็จแล้วส่งเรื่องมา ก็นำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และได้มีการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเล็กน้อย จากนั้นได้พิจารณาให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

ส่วนร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหา สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้น จะได้นำทูลเกล้าเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว นั่นคือขั้นตอนที่ผมได้กราบเรียนมา เพื่อที่ท่านจะได้ทราบว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ร่วมกันทำด้วยทีมงานที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และรับคำปรึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้รับความเห็นชอบในหลักการที่สำคัญของรัฐธรรมนูญ และทีมงานจะได้ยกร่างตามเจตนารมณ์ และยึดหลักของกฎหมาย

ในประเด็นต่อไป ผมจะใช้เวลาเล็กน้อยลงรายละเอียดในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ส่วนรายละเอียดส่วนใหญ่นั้น เดี๋ยวอาจารย์วิษณุจะพูดนะครับ ผมอยากให้ท่านดูที่โครงสร้างนะครับ ตารางโครงสร้างของรัฐธรรมนูญที่ได้ทำไว้นะครับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ จัดโครงสร้างองค์กรต่างๆ ไว้ชัดเจน องค์กรแรกคือพระมหากษัตริย์ อันนี้ จะเห็นได้ว่า พระมหากษัตริย์นั้นแม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะให้คงบทบัญญัติของหมวด 2 ของพระมหากษัตริย์ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และยังบังคับใช้อยู่ แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้เขียนไว้ชัดเจนถึงพระราชอำนาจในการใช้อำนาจอธิปไตยทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และกษัตริย์ พระราชอำนาจในการแต่งตั้งต่างๆ พระราชอำนาจที่สำคัญคือ พระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมาย และร่างรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ชัดเจน พระราชอำนาจในการทำสัญญากับนานาประเทศ

นอกจากนั้น ยังทรงมีพระราชอำนาจอื่นตามที่กำหนดไว้ในประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนคณะองคมนตรีนั้น เป็นส่วนหนึ่งของหมวดพระมหากษัตริย์ คงไว้เช่นเดิม

องค์กรต่อไปคือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่นิติบัญญัติ หมายความว่า การจะออกกฎหมายต่างๆ เป็นหน้าที่ขององค์กรนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีจำนวนไม่เกิน 220 คน รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้เป็นหน้าที่ เป็นอำนาจของหัวหน้า คสช. ที่จะคัดเลือกจากบุคคลภาคต่างๆ และนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้ง ข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คือ ครั้งนี้รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดคุณสมบัติไว้หลายประการ คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามแตกต่างจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับก่อนๆ

สำหรับคณะรัฐมนตรีคงรูปแบบเดิมที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับคือ คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีไม่เกิน 35 คน คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคณะรัฐมนตรีก็เช่นเดียวกัน ชัดเจนว่าจะต้องประกอบด้วยผู้ที่ไม่มีลักษณะต้องห้าม มีคุณสมบัติที่ถูกต้อง และก่อนทำงานต้องทำการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อองค์พระมหากษัตริย์

องค์กรต่อไปที่ท่านคงสนใจ และอาจซักถามอาจารย์วิษณุ ต่อไปคือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติรัฐธรรมนูญชั่วคราวบัญญัติให้ยังคงไว้อยู่ต่อ เพื่อดูแลตามวัตถุประสงค์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติคือ ในเรื่องของความมั่นคง ดูแลให้ประเทศชาติเดินไปได้ ดูแลในเรื่องการปฏิรูปปรองดอง เพื่อที่กระบวนการต่างๆ ไม่ว่านิติบัญญัติบริหาร หรือตุลาการจะดำเนินการไปได้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติจำนวนสมาชิกจะเพิ่มขึ้นได้ แต่ไม่เกิน 15 คน ที่สำคัญคือมีการทำงานร่วมกันกับ ครม.ในลักษณะของการปรึกษา การที่จะแจ้งให้ ครม.ทราบในเรื่องความเห็นที่จะต้องดำเนินการ แต่ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ได้เข้าไปทำงานในส่วนที่เป็นของคณะรัฐมนตรีอยู่ข้างนอก อำนาจหนึ่งที่ท่านอาจสนใจมาก คือ อำนาจตามมาตรา 44 ของ คสช.คืออำนาจที่อาจบอกว่า เป็นอำนาจเด็ดขาด บางคนก็พูดว่าเป็นอำนาจตามแบบมาตรา 17 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ผมขอเรียนว่า มาตรา 44 ไม่ได้แรงอย่างนั้น มาตรา 44 มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสร้างความสงบ สร้างความเป็นปึกแผ่น สร้างบรรยากาศที่ดีไปสู่การปฏิรูป ถ้าหากเกิดมีสิ่งใดที่รัฐบาลตามปกติ ไม่อาจทำได้คณะรักษาความสงบแห่งชาติก็อาจทำได้ให้อำนาจไว้อย่างนั้น เพื่อให้การปฏิรูปดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว

องค์กรพิเศษซึ่งอยากจะพูดมาก แต่ว่าคงไม่เวลา เดี๋ยวไว้มีเวลาค่อยซักถามคือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ อันนี้เป็นหลักการสำคัญเลยของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อได้มอบหมายภารกิจให้ผมว่า จะทำอย่างไรที่จะสนองตอบความต้องการของการปฏิรูปในมิติต่างๆ ในเรื่องต่างๆ ในด้านต่างๆ นะครับ เป็นโจทย์ที่ยากมากนะครับ เพราะว่าการที่จะระดมความคิดจากภาคส่วนต่างๆ และให้เกิดผลนั้น คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ด้วยเวลาที่จำกัดเราคงไม่สามารถที่จะไปใช้วิธีการที่เรียกว่า ให้ภาคส่วนต่างๆ คัดเลือกกันมา หรืออะไรทำนองนั้น จึงต้องใช้วิธีการสรรหา ซึ่งรายละเอียดเดี๋ยวคงจะได้เรียนให้ทราบต่อไป เวลามันมีจำกัด แต่ว่ารายละเอียดในส่วนนี้ก็ได้แจกให้ทุกท่านทราบแล้วนะครับ

ประการที่สำคัญของสภาปฏิรูปแห่งชาติก็คือ การจะทำงานเชื่อมกับคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจะประกอบด้วยสมาชิก 36 คน ซึ่ง คสช.แต่งตั้งส่วนหนึ่ง คสช.แต่งตั้งประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ แต่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจะมาจากสภาปฏิรูปถึง 20 คน เป็นเสียงที่ข้างมาก ทั้งนี้เพื่ออะไร เพื่อให้สิ่งที่สภาปฏิรูปคิด สิ่งที่สภาปฏิรูปได้มานั้น มีผลนำไปสู่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และนอกจากนั้นสิ่งที่สภาปฏิรูปคิด และต้องการจะทำ หากต้องการใช้กฎหมายก็สามารถจะนำไปสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาตินะครับ นี่คือหลักการที่เรายกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เพื่อให้มันสอดคล้อง และสัมพันธ์กัน ไม่ใช่ว่าสภาปฏิรูปทำแล้วไม่มีผลใดๆ องค์กรที่เกี่ยวกับอำนาจตุลาการและศาลคือ ผู้พิพากษายังคงไว้นะครับ รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญของ พ.ศ. 2550 ก็ยังคงไว้ทุกประการ ความจริงแล้วผมคงมีเรื่องที่จะพูดมากกว่านี้ แต่ว่าด้วยเวลาจำกัดของการถ่ายทอดสด ผมอยากจะขอมอบรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญให้ท่านอาจารย์วิษณุพูดต่อนะครับ ขอเรียนเชิญอาจารย์วิษณุครับ

วิษณุ- ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่านครับ ก็เป็นอันว่าบัดนี้ได้เข้าสู่ช่วงเวลาช่วงที่ 2 ตามแผนและขั้นตอน หรือที่เรียกกันว่าโรดแมป ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้กล่าวไว้หลายวันก่อนหน้านี้แล้ว ขั้นที่ 2 ของแผนและขั้นตอน หรือโรดแมปดังกล่าว เริ่มต้นขึ้นด้วยการประการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เมื่อวานนี้ ซึ่งเผอิญตรงกับการครบ 2 เดือนพอดี นับตั้งแต่ได้มีการปกครองอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นฉบับที่ 19 แห่งราชอาณาจักรไทย ถ้าหากนับทั้งฉบับถาวร และฉบับชั่วคราว โดยไม่นับฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เป็นอันว่า เป็นฉบับที่ 19 แต่คำว่า ฉบับชั่วคราว มีความหมายอยู่ในตัวว่า ให้ใช้บังคับไปพรางก่อน ซึ่งคาดว่า จะมีระยะเวลาประมาณ 1 ปี บวกลบ เพื่ออยู่ระหว่างการรอการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่จะเกิดขึ้นในเวลาอีกไม่นานนับจากนี้ไป และเมื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งจะเป็นฉบับที่ 20 ข้างหน้าโน้นเสร็จสิ้นกฎหมายลูก หรือกฎหมายประกอบที่จำเป็นดำเนินการเสร็จสิ้นจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ของแผนและขั้นตอน นั่นคือการจัดการเลือกตั้ง เพื่อจะคืนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กลับสู่ประเทศชาติ โดยมีความเชื่อว่า ช่วงระยะเวลาประมาณ 1 ปีนับจากนี้ไป จะสามารถจัดการปัญหาที่ค้างคาอยู่ และเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้ง ความไม่สงบ ความไม่เรียบร้อยในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้เป็นผลสำเร็จ อย่างน้อยก็ระดับหนึ่ง ความจำเป็นในช่วงเวลา 1 ปี นับจากนี้ไปคือ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดเสียงบ่น เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สิ่งที่อุตส่าห์ลงแรง และทำกันไปในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมานั้น เป็นสิ่งที่เสียของ หรือสูญเปล่า

เพราะเหตุดังนี้เองในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 29 ซึ่งเป็นฉบับชั่วคราวนี้ จึงจำเป็นต้องวางหลักการบางอย่างที่อาจจะดูเข้มงวดกวดขัน หรืออาจดูพะรุงพะรัง อาจดูยุ่งยาก แต่จำเป็นบางเรื่องอาจารย์พรเพชรชี้แจงไปแล้ว หากจะสู่รายละเอียดให้มากขึ้น จะขอกราบเรียนได้ดังนี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเหมือนกับต้นธาร หรือต้นของสายแม่น้ำอีก 5 สาย ที่จะหลั่งไหล พรั่งพรู นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป แม่น้ำ หรือแคว หรือธาร สายที่ 1 ที่จะแยกจากรัฐธรรมนูญนี้ไปในอีกเวลาไม่นานนัก และเป็นสิ่งแรกที่จะบังเกิดขึ้นคือ การเกิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือที่เรียกกันเป็นสามัญทั่วไปในภาษาพูดว่า สนช.

สภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น จะเป็นเหมือนสภาที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติในอดีต มีสมาชิกไม่เกิน 220 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งขึ้น ตามคำแนะนำของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นั่นแปลว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะเป็นผู้พิจารณาเลือกสรรและนำความกราบบังคมทูล

สมาชิกทั้ง 220 คนนี้ ไม่มีการสมัคร จึงเป็นเรื่องที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะพิจารณา โดยอาศัยฐานข้อมูลหลายอย่าง ซึ่งเวลานี้มีการจัดทำเรียบร้อยแล้ว ที่ว่าเรียบร้อยแล้วคือทำฐานข้อมูลเช่น ให้ครอบคลุมสาขาอาชีพ ให้ครอบคลุมจังหวัดพื้นที่ภูมิภาค ให้ครอบคลุมเพศ วัย คุณสมบัติสำคัญของคนที่จะเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เบื้องต้นคือ จะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 40 ปี จะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย จะต้องมีเป็นผู้ที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองในพรรคการเมือง หมายถึงดำรงตำแหน่งของพรรคการเมือง นั่นแปลว่า ไม่ได้ขัดข้องที่จะตั้งนักการเมืองในอดีต ซึ่งมิได้มีตำแหน่งในพรรคการเมือง คำว่าตำแหน่งในพรรคการเมืองนั้น หมายความถึงตำแหน่งหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาพรรค เหรัญญิก ผู้บริหารพรรค แต่ไม่รวมถึงสมาชิกของพรรค

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ 4 ประการ ประการที่ 1 คือ อำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมาย ซึ่งเหมือนกับ ส.ส.-ส.ว.ในอดีตนั้นเอง อำนาจนี้รวมถึงเรื่องการอนุมัติพระราชกำหนดที่รัฐบาลจะต้องออกไปด้วยความเร่งด่วน และอำนาจในการให้ความเห็นชอบสนธิสัญญา และหนังสือสำคัญที่รัฐบาลไปทำกับต่างประเทศด้วย อำนาจหน้าที่ประการที่ 2 ของ สนช.คือ อำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบการแต่งตั้ง และถอดถอนนายกรัฐมนตรี แปลว่าการแต่งตั้ง และถอดถอนนายกรัฐมนตรีนั้น อยู่ในอำนาจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่วนจะเลือกจากผู้ที่เป็นสมาชิก หรือบุคคลภายนอก ก็แล้วแต่สภาจะไปพิจารณากันเอง ไม่มีข้อกีดกันหวงห้าม หรือจำกัดแต่ประการใด

อำนาจหน้าที่ประการที่ 3 ของ สนช.คือ การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน หรือการทำงานของรัฐบาล ซึ่งจำกัดอยู่เพียงแค่การตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี แต่ไม่รวมไปถึงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อซักฟอก ถ้ามีปัญหาสงสัยในการทำงานก็อาจจะเชิญรัฐบาลมาสอบถาม หรือที่เรียกว่าอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติได้ อำนาจที่ 4 หรือสุดท้ายของ สนช.คือ อำนาจในการให้ความเห็นชอบบางเรื่องที่มีกำหนด ว่าต้องมาที่สภา เช่นให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง เท่าที่มีอยู่ในขณะนี้เช่น ตำแหน่งอัยการสูงสุด เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นต้น รวมตลอดไปถึงการให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของ สนช. และเป็นองค์กรที่จะเกิดขึ้นก่อนองค์กรอื่นทั้งหมดนับจากนี้ไป

แม่น้ำ หรือแคว หรือลำธารสายที่ 2 ที่แยกออกไปจากรัฐธรรมนูญนี้ก็คือ คณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี 1 คน รัฐมนตรีอื่นอีกรวมไม่เกิน 35 คน รวมเป็น 36 คน อันเป็นตัวเลขเดิมที่ใช้มาหลายปีก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีจะแต่งตั้งจากบุคคลใดก็ได้ เป็นข้าราชการประจำก็ได้ เป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจก็ได้ เนื่องจากเราได้เห็นเหตุผลว่า เป็นช่วงเวลาที่ไม่ปกติ ซึ่งใช้เวลาสั้นประมาณเพียง 1 ปี จึงสมควรเปิดทางที่จะให้บุคคลผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองควบคู่กันไปเป็นรายกรณี ซึ่งก็เป็นไปตามปกติที่เคยปฏิบัติเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ทุกครั้งในอดีตที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อำนาจหน้าที่คณะรัฐมนตรีแต่เดิม ซึ่งเป็นแบบฉบับที่เคยรู้จักกันมาตลอด มีประการเดียวคือ การบริหารราชการแผ่นดิน

ปัจจุบันนี้อยู่ในระหว่างเวลาที่กราบเรียนแล้วว่า ไม่ปกติ และต้องการที่จะป้องกันขจัดสิ่งที่ถูกกล่าวหาว่า เสียของ หรือสูญเปล่า จึงได้กำหนดเป็นครั้งแรกให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจเพิ่มขึ้นอีก 2 อย่าง นอกเหนือจากการบริหารราชการแผ่นดิน นั่นก็คืออำนาจหน้าที่ในการดำเนินการปฏิรูปในด้านต่างๆ ไม่ว่าคณะรัฐมนตรีจะดำริเอง หรือมีข้อเสนอมาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือมาจากวงการใดก็ตาม ซึ่งสามารถเชื้อเชิญเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศไทยทั้งสิ้น ไม่ได้จำกัดว่าเป็นอำนาจของผู้ใด แต่เรากำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่คณธรัฐมนตรี โดยถือว่าเป็นคนละส่วนกับการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งหนักไปตามบริหารตามปกติ หรือการพัฒนาประเทศในยามปกติ

อำนาจที่ 3 ที่เพิ่มให้คณะรัฐมนตรี และเป็นหน้าที่ด้วย นอกเหนือจากการบริหารราชการแผ่นดินการดำเนินการปฏิรูป คือ การสร้างความสามัคคีปรองดองและสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยถือว่าเป็นพันธกิจที่คณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติ ลำธาร หรือแม่น้ำ หรือแควสายสามที่แยกออกไปจากรัฐธรรมนูญนี้ในลำดับถัดไปคือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งวันนี้หลายคนเริ่มเรียกแล้วว่า สปช.แต่อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นสำนักประถมศึกษาแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.ที่ว่า มีสมาชิกไม่เกิน 250 คน มาจากการสรรหา แบ่งมาจากจังหวัดต่างๆ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร 77 จังหวัด จึงมี 77 คน จังหวัดละ 1 คน โดยสรรหากันมาจากในแต่ละจังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีคณะกรรมการสรรหาคณะละ 1 ชุดในหนึ่งจังหวัด แล้วก็สอดส่ายสายตาเมียงมองหาคนที่มีความเหมาะสม เป็นที่เคารพนับถือ มีความรู้มีความคิด มีความสามารถ มีเวลาอุทิศตนได้ เข้ามาเป็นผู้แทนจังหวัดๆ ละ 1 คน โดยเลือกเข้ามาจังหวัดละ 5 คน และให้ คสช.เลือก 1 ใน 5 คสช.จะไม่เลือกบุคคลอื่นนอกจาก 5 คนที่ส่งมาแต่ละจังหวัดไม่ได้ ยังมีเหลืออีก 173 คน เพื่อจะรวมกันให้เป็น 250 คน 173 คนที่เหลือว่ากระจายกันมาจากทั่วประเทศ ไม่ผูกพันกับจังหวัดหรือว่าพื้นที่ใด

แต่ผูกพันอยู่กับด้านต่างๆ 11 ด้าน คือ ด้านการเมือง หมายถึงการปฏิรูปด้านการเมือง ด้านการปกครองท้องถิ่น ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงาน ด้านสื่อสารมวลชน นากจากนั้นก็ยังมีด้านอื่นๆ ซึ่งรวมเบ็ดเสร็จจะมี 11 ด้าน มีคณะกรรมการสรรหาประจำด้าน ด้านละ 1 ชุด ตัวคนที่เป็นกรรมการสรรหาจะไม่มีโอกาสได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้วย คือ ต้องไม่มีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้อง การสรรหาสมาชิก 173 คนจากทั่วประเทศนี้จะไม่มีการไปสอดส่ายสายตาเมียงมองจากที่ไหน แต่ให้ใช้วิธีการเสนอชื่อกันเข้ามา ห้ามสมัครเอง ห้ามเดินเข้ามาแสดงความจำนงว่า ผม หนู ดิฉันอยากเป็น แต่ต้องมีองค์กร มีนิติบุคคล มีสมาคม มีมหาวิทยาลัย มีสถาบันการศึกษา แม้กระทั่งวัดก็เปิดโอกาสให้เสนอชื่อเข้ามา องค์กรละ 2 คน ว่าจะเข้ามาเพื่อปฏิรูปได้ด้านใด เพราะฉะนั้นใครจะสมัครก็ต้องไปหาองค์กรมารอบรับ ให้เสนอชื่อตน และเลือกว่าตนมีความจำนงจะเข้ามาปฏิรูปด้านใด แต่เมื่อเข้ามาจริงแล้ว ท่านอาจจะเปลี่ยนไปปฏิรูปด้านอื่นก็ได้ ตรงนี้จะจำกัดเฉพาะไอ้ตอนเสนอกันเข้ามาเท่านั้น และกรรมการสรรหาจะเลือกเฟ้นให้ได้แต่ละด้านๆ ละไม่เกิน 50 คน รวมแล้วคงจะได้ประมาณ 50 คน 11 เพราะมันมี 11 ด้าน ก็ได้รายชื่อ 550 คน ส่งไปที่ คสช. ที่จะเลือกเอาจากแต่ละด้านทั้ง 11 ด้าน เพื่อให้เหลือได้จำนวน 173 คน ไปรวมกับ 77 คน จาก 77 จังหวัด เป็น 250 คน

อำนาจหน้าที่ของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ข้อที่ 1 ก็คือการเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ มีคนสงสัยว่า เสนอแล้วเอาไปทำอะไร คำตอบคือเสนอแล้ว สามารถปฏิบัติได้เลยโดยไม่ต้องรอกฎบัตรกฎหมายมารองรับ ก็ให้ส่งไปยังรัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือบอกไปที่ คสช.ก็จะรับไปดำเนินการตามนั้น ถ้าเรื่องใดต้องมีกฎหมายรองรับจะขอให้สมาชิกสภาปฏิรูปนั่นเอง เพื่อยกร่างกฎหมาย และนำไปเสนอต่อ สนช. แต่ว่าสมาชิกสภาปฏิรูปเสนอกฎหมายได้ แต่ต้องเสนอต่อสภาโน้น คือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

อำนาจหน้าที่ข้อที่ 2 ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ คือการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีคณะกรรมาธิการไปยกร่างจัดทำขึ้น แม่น้ำลำธารสายต่อไปคือ สายที่ 4 ที่แยกออกไปจากรัฐธรรมนูญคือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมี 36 คน มาจากสมาชิกสภาปฏิรูแห่งชาติเสนอ 20 คน มาจากที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอ 5 คน มาจากที่คณะรัฐมนตรีเสนอ 5 คน และมาจากที่ คสช.เสนออีก 5 คน แต่ คสช.จะเสนอคนไปเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างด้วยอีก 1 คน 20+5+5+5+1 รวมเป็น 36 คน 36 คนนี้เรียกว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีอำนาจมาก คนที่จะเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ย้อนกลับไปที่ สปช.ไม่มีข้อห้ามว่า คนที่เป็นสมาชิกพรรค เป็นกรรมการ แม้แต่ทุกวันนี้จะมีตำแหน่งในพรรคจะมาเป็นไม่ได้ ไม่ห้ามคือ มาเป็นได้ทั้งสิ้น อายุอานามก็ลดลงมาเหลือ 35 ปี เป็นอย่างน้อย จะเป็นข้าราชการ เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นผู้ที่อยู่ใน อบจ. อบต. เทศบาลได้ทั้งนั้น เพราะงานปฏิรูปเป็นงานของประเทศ จึงพยายามไม่มีข้อจำกัดน้อยที่สุด วุฒิปริญญาก็ไม่เกี่ยว จบ ป.4 ก็เป็นได้ แต่พอมาถึงคณะกรรมาธิการยกร่าง 36 คน ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความสามารถเป็นพิเศษ และทำงานแข่งกับเวลา เพราะเราให้เวลาท่านทำงานเพียง 120 วัน 120 วันนี่ 4 เดือนเท่านั้นนะครับ สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จ แต่มันต้องมีเวลาก่อนหน้า และหลังจากนั้น เพราะฉะนั้นมันจึงใช้เวลายาวนานมากกว่า 4 เดือน แต่การยกร่างเป็นฉบับหนึ่งออกมาให้คนเห็นทั้งประเทศ 4 เดือน ต้องเสร็จ ถ้าไม่เสร็จก็ต้องมีบทลงโทษคณะกรรมาธิการ กรรมาธิการจะต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในทางการเมืองใน 3 ปี ไม่ใช่ดำเนินทางการเมือง ตำแหน่งในพรรคการเมือง 3 ปี ก่อนย้อนหลัง คือ พยายามเอาคนปลอดจากการเมืองมาร่าง และห้ามคนที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ เช่น กกต. ป.ป.ช. เป็นศาลรัฐธรรมนูญมาอยู่ในกรรมาธิการยกร่าง นั่นแปลว่าคุมในเรื่องอดีต และคุมในเรื่องอนาคตด้วยว่า คณะกรรมาธิการยกร่าง 36 คนนี้ จะไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ในอนาคตต่อไปไม่ได้ภายใน 2 ปี แต่ว่ากันทั้งก่อนจะมาเป็น และกันเมื่อร่างเสร็จหลังจากนี้ในอนาคต

เพราะฉะนั้นคนที่จะเป็นกรรมาธิการยกร่างจะต้อง นอกจากมีความรู้ ความสามารถ มีเวลา มีความคิด จะต้องเสียสละเป็นพิเศษที่จะมาทำหน้าที่นี้ เมื่อร่างเสร็จจะเอาไปให้สภาปฏิรูปแห่งชาติให้ความเห็นชอบ แต่ก่อนหน้านั้น จะมีการขอแก้ไข หรือที่เรียกว่า แปลญัตติ ถ้ากรรมาธิการเห็นชอบก็แก้ตาม ถ้ากรรมาธิการไม่เห็นชอบ กรรมาธิการจะมีสิทธิเด็ดขาดในเรื่องนี้ ที่จะปกป้องรักษาร่างรัฐธรรมนูญของตนไว้ และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คณะกรรมาธิการยกร่างไปร่างตามใจชอบจนแหวกแนวเกินไป และพิสดาร โลดโผน หรือขาดอะไรบางอย่างที่ควรจะมี จนกระทั่งกล่าวหากันอีกว่า เสียของ หรือสูญเปล่า

รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ประกาศใช้เมื่อวานนี้ จึงกำหนดกรอบด้วยว่า กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องร่างภายใต้กรอบสำคัญ 4 ด้าน คือ 1 กรอบที่สภาปฏิรูปแห่งชาติให้ไปตั้งแต่ต้น คือให้การบ้านไป 2 กรอบที่รัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้เมื่อวานนี้ ฝากไว้ในมาตรา 35 โดยกำหนดไว้ว่า รัฐธรรมนูญที่จะไปร่างใหม่ อย่างน้อยต้องกล่าวถึงสิ่งเหล่านี้ เช่น ต้องกล่าวถึงความเป็นรัฐเดียว แบ่งแยกมิได้จะต้องกล่าวถึงการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะต้องกล่าวและบรรยายรายละเอียดเรื่องการป้องกัน ขจัดการทุจริต และการป้องกันไม่ให้คนที่เคยได้ชื่อว่าประพฤติทุจริต หรือโกงในการเลือกตั้ง เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาดในอนาคต รวมทั้งกำหนดหลักการที่ฝากไว้ด้วยว่า วางมาตรการป้องกันไม่ให้มีการนำงบประมาณแผ่นดินมาใช้ในการที่จะมุ่งหาเสียง หรือหาประโยชน์ใส่ตนโดยทุจริต หรือโดยมิชอบ และยังฝากมาตรการอื่นอีกที่จะต้องไปเขียน ไม่เขียนไม่ได้ รวมทั้งทบทวนความจำเป็นว่า ควรใส่เรื่ององค์กรอิสระอะไรเอาไว้ในรัฐธรรมนูญบ้าง เพราะในเวลาที่ผ่านมา อาจมีองค์กรหลายองค์กรที่อาจจะไม่มีความจำเป็นมากนัก อาจแค่ออกเป็นกฎหมายธรรมดารองรับก็พอ ไม่ต้องฝากไว้ในรัฐธรรมนูญ เรื่องอย่างนี้ขอให้คณะกรรมาธิการยกร่างไปคิด ไปทบทวน ซึ่งมีด้วยกันหลายองค์กร ไม่ได้แปลว่าบังคับให้ไปเลิก แต่ให้ไปทบทวน ถ้าเห็นว่าจำเป็น ให้แสดงความจำเป็นไว้ ถ้าเห็นว่าไม่ควรจะมี ให้เลิกกันเสีย ถ้าเห็นว่าควรมีสิ่งใดใหม่ ให้เพิ่มเข้าไป

แม่น้ำ หรือลำธารสายสุดท้าย สายที่ 5 ที่แยกไปจากรัฐธรรมนูญ คือ คสช.เอง ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ยังคงอยู่ต่อไป เพียงแต่อาจเพิ่มจำนวนจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน 6-7 คน ขึ้นมาเป็นไม่เกิน 15 คน อำนาจหน้าที่ของ คสช.นั้น มีเพียงแค่ 1 เสนอแนะให้รัฐมนตรีพิจารณาปฏิบัติในเรื่องใด ถ้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วจะไม่ทำก็ได้ อำนาจหน้าที่ประการที่ 2 ของ คสช.คือ ขอเชิญคณะรัฐมนตรีประชุมร่วมกัน เพื่อหารือปัญหาสำคัญของประเทศ ถ้า คสช. ไม่เชิญไป คณะรัฐมนตรีจะเชิญมาก็ได้ ซึ่งเป็นแบบแผนปกติในรัฐธรรมนูญชั่วคราวทุกฉบับที่่ผ่านมาว่า สามารถจัดให้มีการประชุมร่วมกันเช่นนี้ได้ ไม่มีที่ใดเลยในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ที่กำหนดให้ คสช.มีอำนาจรัฐมนตรี หรือปลดนายกรัฐมนตรี ดังที่มีผู้ล่ำลือ ไม่มีที่ใดกำหนดให้ คสช. เป็นพี่เลี้ยง หรือ เปลือกหอยให้แก่คณะรัฐมนตรี ไม่มีที่ใดกำหนดให้ คสช. มีอำนาจบังคับบัญชาคณะรัฐมนตรี หรือ ข้าราชการประจำใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ให้ คสช.มีอยู่ เพื่อจะช่วยดูแลแบ่งเบาภาระคณะรัฐมนตรีในด้านความมั่นคง การรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อคณะรัฐมนตรีจะได้ทำงานบริหารแผ่นดินโดยไม่วอกแวกกับปัญหาที่อาจแทรกซ้อน สอดแทรกเข้ามาในช่วงเวลาประมาณ 1 ปีนี้ เรื่องอย่างนี้ คสช.จะได้รับภาระไปดำเนินการ รวมทั้งดำเนินการในเรื่องของการสร้างสมานฉันท์ปรองดองสามัคคี

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ คสช.มีอำนาจที่จจัดการในเรื่องต่างๆ ได้ในกรณีเกิดความจำเป็นสุดขีด โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปหาวิธีการนอกรัฐธรรมนูญอื่นใดอีก จึงได้กำหนดไว้ในมาตรา 46 ให้คณะ คสช.ใช้อำนาจพิเศษที่สื่อมวลชนบางท่านอ่านแล้ว อาจเข้าใจผิดไปพาดหัวว่า คสช.มีอำนาจนิติบัญญัติบริหารตุลาการนั้นไม่เป็นความจริง มีแต่เพียงอำนาจพิเศษตามมาตรา 46 ว่า หากเกิดกรณีจำเป็นต้องใช้อำนาจ เพื่อการสร้างสรรค์ไม่ใช่ใช้เพื่อกำราบปราบปรามอย่างเดียว คสช.อาจใช้อำนาจพิเศษนี้ได้แม้เป็นการใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติบริหารตุลาการ อำนาจนี้คงไม่ได้ใช้บ่อยครั้ง ซึ่งคณะที่ยึดอำนาจในอดีตมีอำนาจนี้เกือบทุกยุคทุกสมัย แต่ไม่ได้ปรากฏว่าได้ใช้ทุกยุคทุกสมัย และได้ใช้ในยามที่ไม่อาจใช้กระบวนการปกติได้เท่านั้น เพื่อจะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ไปใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญอื่นใดอีกที่สำคัญ คืออาจจะใช้เพื่อการสร้างสรรค์ ทำในสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ที่คณะรัฐมนตรีเองอาจจะใช้ยากลำบาก เพราะติดขัดในข้อกฎหมายรวมทั้งปัญหาหลายอย่าง

ทั้งหมดนี้คือ ลำธาร 5 สาย ที่แยกออกไปจากรัฐธรรมนูญ โดยสรุปมีประโยคสำคัญที่จำเป็นต้องกราบเรียน แน่นอนครับรัฐธรรมนูญนี้แม้มี 48 มาตรา ซึ่งยาวกว่าในอดีต แต่ก็ยังถือว่าสั้นเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับถาวร หลายคนอาจสงสัยว่ามี 48 มาตรา แค่นี้จะพอกิน พอใช้ พอแก้ พอปัญหาที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันหรือ เรื่องนี้ก็เป็นธรรมดาที่เขาต้องเขียนเอาไว้ สิ่งที่เราเคยรู้จักกันดีในอดีตเรื่องมาตรา 7 มันก็ต้องมาปรากฏอีกตรงนี้ว่า ถ้าไม่มีที่ใดบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ก็ให้วินิฉัยไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลายคนฟังแล้วก็พึมพำว่า ม.7 มาอีกแล้ว ก็ที่มันยุ่งในอดีตก็เพราะว่าไม่รู้ว่า ม.นี้แปลว่าอะไรหรอกหรือ เราก็รู้ว่ามันยุ่ง แต่จะไม่เขียนไว้ก็ไม่ได้ เพราะถ้าไม่เขียนไว้จะเกิดปัญหาช่องว่าง ขาดมาตราหลายมาตรา แต่ไม่ต้องกลัวว่า เขียนแล้วมันแปลว่าอะไร ถึงเวลาก็เถียงกันว่าเป็นหรือไม่เป็นระเพณี

คราวนี้ได้แก้ปัญหาว่าถ้าสงสัยว่า เรื่องใดเป็นประเพณีการปกครองหรือไม่ อย่าเพิ่งไปทะเลาะกันให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้คำปรึกษาล่วงหน้าได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า เป็นประเพณีทำได้ก็จะได้ทำ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า ไม่เป็นทำไม่ได้ก็จะได้ไม่ต้องทำ ไม่ต้องปล่อยให้ทำไปอย่างถูกๆ ผิด และมาวินิจฉัยที่หลังว่า มันไม่เป็นที่ทำไปแล้วผิด และต้องหาตัวผู้รับผิดชอบ อ.พรเพชร ได้ชี้แจงแล้วว่า หลายอย่างไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญนี้ หลายคนสงสัยว่าศาลยังอยู่ไหม ไม่ว่าศาลยุติธรรม ศาลทหาร ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญตอบว่าอยู่ ยังอยู่ไปตามปกติ ถามว่าองค์กรอื่นเช่น กกต. ป.ป.ช.ยังอยู่ไหม ตอบว่าอยู่ไปตามปกติเว้นแต่องค์กรที่ คสช.ได้ออกประกาศล่วงหน้าก่อนหน้านี้ยกเลิกไปแล้ว นั้นก็แล้วไป อะไรที่เขาไม่ได้พูดถึงไว้ก็ทำหน้าที่ต่อไปตามปกติจนกว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะมากำหนด และก็สุดท้ายอาจมีคำถามในใจหลายคนว่า รัฐธรรมนูญฉบับหน้า คือฉบับที่ 20 ที่จะไปร่างกันนั้น ร่างเสร็จแล้วจะเปิดให้ลงประชามติหรือไม่ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เขียนไว้ แต่ก็ไม่ได้ปิดทาง เป็นสิ่งที่สามารถที่จะไปพิจารณากันตามความจำเป็นในอนาคตได้ ข้อสำคัญก็คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ทำสิ่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวในอดีตไม่ได้เขียนไว้ แต่มีเขียนในครั้งนี้ข้อหนึ่งคือ เมื่อใดที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือฉบับที่ 19 ชั่วคราวนี้ มีปัญหาอย่างใดที่สมคารแก้ไขเพิ่มเติมให้สมบูรณ์แม้จะเป็นฉบับชั่วคราว คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะจับมือกันเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมบางเรื่องที่บกพร่องอยู่ หรือควรจะมีแม้จะเป็นฉบับชั่วคราว แต่สามารถแก้ไขได้ในอนาคตคือ ได้พยายามทำให้มีความยืดหยุ่นที่สุด เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน และลำธาร 5 สาย ที่แยกออกจากรัฐธรรมนูญในวันนี้ สามารถไหลได้คล่องสามารถที่จะดำเนินการได้โดยไม่สะดุด พบสะดุดที่จุดไหนจะได้ดำเนินการแก้ไขได้ และสุดท้าย

อะไรที่มีคำถามในใจขออนุญาตตอบก่อนที่จะมีการถามในตอนหลังว่าลำธาร 5 สาย จะอยู่ไปนานจนถึงเมื่อใด คำตอบตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันอยู่ไปจนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ต้องเลิกแน่ เพราะของใหม่มาแทนของเก่าก็ต้องหมดไป สนช.นั้นจะอยู่ไปจนถึงวันที่มีการเลือกตั้งสภาชุดหน้า คือมี ส.ส.สมัยหน้าเมื่อใด สนช.ก็ไม่จำเป็นก็หมดไป ขณะรัฐมนตรีจะอยู่ไปเมื่อใดจนกระทั่งถึงเมื่อมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มารับไม้ส่งต่อ ชุดเก่าก็หมดชุดใหม่ก็เข้ามาแทน สภาปฏิรูปแห่งชาติจะอยู่ไปถึงเมื่อใดคำตอบคือว่า เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างเสร็จ และเขียนเกี่ยวกับสภาปฏิรูปอย่างไรก็ให้เป็นไปตามอย่างนั้น รัฐธรรมนูญฉบับหน้าอาจเขียนให้สภาปฏิรูปอยู่ทำหน้าที่ปฏิรูปเรื่องที่ค้างคาอยู่ต่อไปก็ได้ หรือว่าจะไม่ให้อยู่ เพราะจะเวนคืนอำนาจนี้ให้เป็นของ ส.ส.ที่เข้ามาก็ได้ ก็ฝากไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่เสร็จ และหมดไปเมื่อใดก็เมื่อร่างเสร็จลงพระปรมาภิไธยเสร็จประกาศใช้ คณะกรรมาธิการฯ ก็สิ้นไปเมื่อนั้น และ คสช.จะอยู่ไปจนถึงเมื่อใด โดยหลักเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งคงไม่เขียนเรื่อง คสช.เอาไว้ในฉบับใหม่อีก คสช.ก็จะหมดไปเมื่อนั้น ทั้งหมดนี้คือแผน และขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปภายในระยะเวลา 1 ปีบวกลบ ก็ขอกราบเรียนเพื่อความเข้าใจ

วินธัย - และในลำดับต่อขออนุญาตก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงเวลาคำถาม ขออนุญาตย้อนกลับไปที่ท่าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ได้กรุณากล่าวสรุปการชี้แจงในวันนี้ ขอเรียนเชิญครับ

ไพบูลย์ -นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณนะครับ ที่ได้ส่งพระกรุณาพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับนี้มา พี่น้องประชาชน ผมได้รับทราบรายละเอียดและเนื้อหาจากท่านอาจารย์ทั้งสองแล้วนะครับ ผมในนามของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ขอขอบพระคุณนะครับ พี่น้องประชาชน และผู้มีเกียรติที่เคารพ ตลอดจนสื่อมวลชนที่รักทุกท่านนะครับ ที่มีความห่วงใยในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขอยืนยันในเจตนารมณ์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่จะต้องรับผิดชอบการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เพื่อมาแก้ไขปัญหาของชาติ ที่มีมาก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม ให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทย จึงจำเป็นต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นเครื่องมือในการดำเนินการตามแผนงานที่ๆ เคยให้ไว้กับพี่น้องประชาชน มิได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น และจะขอยืนยันอีกครั้งนะครับว่า จะนำไปใช้ในสิ่งที่ดี และเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และมิให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างเด็ดขาด จึงขอโอกาส และเวลาให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ปฏิบัติตามแผนงานที่ได้เคยให้ไว้ กระผมทั้ง 3 คน ขอกราบขอบพระคุณพี่น้องประชาชน และผู้มีเกียรติที่เคารพครับ ขอขอบพระคุณครับ

วินธัย -ครับ ลำดับต่อไปคงเป็นช่วงเวลาของการถามตอบนะครับ มีสื่อมวลชนท่านใดต้องการจะซักถามขอเรียนเชิญ ตามลำดับครับ

ถาม - จากหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น มี 2 คำถามให้ท่านอาจารย์ทั้ง 2 ท่านช่วยกรุณาตอบ ขอถามเรื่องเกี่ยวกับมาตรา 44 ซึ่งขออ่านส่วนหนึ่งนะครับ เพราะว่าในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เห็นว่ามีความจำเป็น และ..ไปเรื่อยๆ นะครับ ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีอำนาจสั่งการระงับ ยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่ง หรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่ง หรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญนี้ และเป็นที่สุด ตรงนี้สามารถตีความได้ไหมครับว่า อำนาจของหัวหน้า คสช. ก็คือสูงสุด และอาจจะมีความคล้ายคลึงกับยุคสมัย จอมพลสฤษดิ์ ที่ปกครองผ่านมาตรา 17 อันนี้คือความเป็นห่วงเป็นใย และถ้าเป็นเช่นนั้นจะถือได้ไหมครับว่า ในความเป็นจริงแล้ว อำนาจของหัวหน้า คสช. ในช่วงที่มีการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็ยังอยู่เหนือคณะรัฐมนตรี และตัวนายกรัฐมนตรี

ส่วนคำถามที่ 2 ขอไปที่มาตรา 48 ที่พูดถึงว่าการกระทำใดๆ ที่โยงกับการยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาฯ ทางผู้ที่ปฏิบัติทุกท่าน หากกระผมอ่านบรรทัดสุดท้ายเลยนะครับ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความเป็นความผิด และความรับผิดชอบ”

หมายเหตุ : คณะชี้แจงรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ยังไม่ได้ตอบคำถามสื่อมวลชน ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ได้ตัดเข้ารายงานปกติของสถานี เนื่องจากมีเวลาชี้แจง 30 นาทีตามที่ได้แจ้งต่อสื่อก่อนหน้านี้
ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ













กำลังโหลดความคิดเห็น