xs
xsm
sm
md
lg

ชู กม.กองทุนป้องกันทุจริต หวังเป็นเครื่องมือในการให้ทุนต้านโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป (แฟ้มภาพ)
สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ดันร่าง กม.กองทุนสนับสนุนการป้องกันทุจริต หวังเป็นเครื่องมือของสังคมในการให้ทุนสนับสนุนการต่อต้านทุจริตแบบเดียวกับกองทุน สสส. ชี้ ป.ป.ช.สอบตกต้องเร่งปฏิรูปตัวเอง เหตุบริหารผิดพลาดจากการขยาย ป.ป.จ. หนุนเพิ่มอายุคดีความ แต่ไม่ถือเป็นการปฏิรูป แนะยุบรวม ป.ป.ท. เพราะอยู่กระทรวงยุติธรรม กลายเป็นเสือกระดาษ

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) กล่าวว่า ข้อเสนอภาคประชาชนจากการจัดทำเวทีภาคีพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Forum : TD Forum) ย้ำถึงสถานการณ์ของประเทศไทยที่ในขณะนี้มีความจำเป็นจะต้องมีการปฏิรูประบบตรวจสอบขจัดคอร์รัปชันอย่างเร่งด่วน และต้องไม่ปฏิรูปแบบหลงทาง เพราะคดีคอร์รัปชันมีการสะสมมาจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการปราบปรามแก้ปัญหา โดยสังคมควรตระหนักว่าในบรรดาข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยที่มีอยู่เป็นจำนวนมากเป็นสิบเป็นร้อยมาตรการนั้น แนวทางสำคัญมีอยู่ 3 มาตการใหญ่ที่ควรทำอย่างเร่งด่วน ได้แก่

1) ต้องเสริมสร้างและใช้พลังทางสังคมเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน โดยต้องผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการป้องกันทุจริต ให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือของสังคมในการให้ทุนสนับสนุนการต่อต้านทุจริตแบบเดียวกับกองทุน สสส. แต่ทำหน้าที่เรื่องเดียว คือเรื่อง “สร้างธรรมาภิบาล ต้านทุจริต” มีที่มาของเงินกองทุนจากส่วนแบ่งที่ยึดทรัพย์ได้จากการทุจริตจนคดีสิ้นสุดแล้ว แบ่ง 25% เข้ากองทุนนี้ คดีทุจริตที่ว่านี้ให้มาจากฐานความผิดใน 4 พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องคือ 1) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) 2) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 3) พ.ร.บ.การค้ามนุษย์ คือการค้าทางเพศ การค้าขายแรงงานทาส และ 4) พ.ร.บ.ยาเสพติด คือถ้าถูกยึดทรัพย์ด้วยกฎหมายเหล่านี้ก็เข้าข่าย

2) ต้องใช้มาตรการทางภาษีอากร เสนอให้ใช้มาตรการทางภาษี ตรวจสอบและเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง กำหนดให้มาตรฐานนักการเมืองต้องเป็นผู้มีอาชีพสุจริตและเสียภาษีเงินได้ โดยจะต้องมีประวัติบันทึกการเสียภาษีเงินได้ประจำปี ภงด.ย้อนหลังไป 10 ปีว่าเสียภาษีไปเท่าไร สอดคล้องกับรายได้และทรัพย์สินหรือไม่ ที่สำคัญแนวทางนี้ ป.ป.ช.สามารถเอาไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลการยื่นแสดงบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ว่ามีความสมเหตุสมผลกับรายได้หรือไม่

3) ต้องปฏิรูประบบงานปราบปรามการทุจริต สถิติคดีที่เข้ามาสู่ระบบ ป.ป.ช.จากปี 2546-2550 ป.ป.ช.แถลงว่ามีเหลือคดีค้างเพิ่มขึ้นจาก 4,975 คดีเป็น 11,578 คดี ซึ่งคิดเป็นอัตราพอกพูนประมาณ 1,650 คดีต่อปี ต่อมาในปี 2551 มีการมอบหมายคดีตามภารกิจให้แก่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)ไปจำนวน 5,900 คดี คงเหลือกับ ป.ป.ช.เพียง 5,650 คดีเท่านั้น แต่ล่าสุดจนถึงปัจจุบัน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. และนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า ผลงานด้านปราบปรามทุจริตในปีงบประมาณ 2557 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2556 มีจำนวนคดีที่รับใหม่ 866 คดี รวมกับคดีเดิมที่ค้างอยู่ 8,581 คดี จึงเป็น9,447 คดี เกือบกลับไปเท่าเดิมปี 2550 อีกแล้ว การบริหารจัดการกับคดีคั่งค้างเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่ต้องปฏิรูปทั้งระบบ

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอต่อกรณีของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่เห็นว่าควรจะมีการยุบรวม ป.ป.ท.ให้กลับมาอยู่กับ ป.ป.ช.ใหม่ หรือไม่ก็ไปอยู่กับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การดำเนินคดีต่างๆได้เป็นอิสระปลอดพ้นจากการเมือง เนื่องจากป.ป.ทขณะนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรม คดีที่รับมอบหมายกว่า 5 พันกว่าคดีแทบจะคืบหน้า ที่สำคัญ ป.ป.ท.ไม่มีพนักงานสอบสวนของตัวเอง จึงต้องหันกลับไปพึ่งพาพนักงานสอบสวนของตำรวจ (สตช.) เสียอีก

“ผมเห็นด้วยข้อเสนอการขยายอายุความของ ป.ป.ช. แต่นั่นยังไม่ใช่การปฏิรูป แนวคิดนี้ถ้าคนตามไม่ทันก็ดูเหมือนจะดีที่ ป.ป.ช.สอบตก เพราะระบบภายในของเขานั้นการที่มี ป.ป.จ.(กรรมการ ป.ป.ช.จังหวัด) มันผิดทาง แต่ต้องทำตามกฎหมายบังคับ เป็นกรณีที่น่าศึกษาเปรียบเทียบกับ สตง. เพราะ สตง.จะไม่มีหน่วยงานย่อยลงไปถึงจังหวัด จะมี สตง.ระดับเขต ซึ่งเขตจะดูหลายจังหวัดแล้วบุคลากรของระดับเขต ที่เหนือจังหวัดจะทำให้พ้นจากการครอบงำของอิทธิพลระบบอุปถัมภ์ เกือบทุกจังหวัดมีอิทธิพลนี้ครอบอยู่หมด จังหวัดไหนจังหวัดนั้น เพราะฉะนั้นจะตั้งหน่วยงานอิสระอะไร เช่น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปตั้งในระดับจังหวัดก็เสร็จหมด เพราะจะได้คนของระบบอุปถัมภ์ขึ้นมาเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเหนือระดับจังหวัดขึ้นมาจะหลุดจากระบบได้เป็นส่วนใหญ่ ผมถึงบอกว่ารูปแบบ สตง.มีประสิทธิภาพมากกว่า แทนที่ ป.ป.ช.จะเลียนแบบ กลับกลายเป็นเลียนแบบ กกต.ที่เป็นปัญหา”

นพ.พลเดชกล่าวอีกว่า การพอกหางหมูของคดีของ ป.ป.ช.ที่มีการสะสมอย่างรวดเร็วในห้วงเวลาที่ผ่านมาทำให้แนวทางการปฏิรูประบบตรวจสอบขจัดคอร์รัปชันของชาติเป็นไปได้ยาก จึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่หน่วยงาน ป.ป.ช.จะต้องมีการปฏิรูปองค์กรไปพร้อมกันด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น