รายงานการเมือง
ในขณะที่คนจำนวนไม่น้อยกำลังทุ่มเทความสนใจไปที่เนื้อหาในร่างธรรมนูญปกครองฉบับ คสช.ว่าจะออกมามีหน้าตาเป็นอย่างไรเพราะเป็นหัวใจสำคัญกำหนดกติกาการบริหารประเทศ
โดยหลักใหญ่ใจความจะมีสาระอยู่ที่การกำหนดดุลอำนาจระหว่าง คสช.กับรัฐบาลใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร
จนลืมคิดกันไปว่าไม่เคยมีธรรมนูญการปกครองที่เกิดจากการยึดอำนาจให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ครอบคลุมไปถึงการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายรัฐเหมือนที่มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแม้แต่ฉบับเดียว
ไม่เว้นแม้กระทั่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 ที่ถือกำเนิดจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งถือว่ามีบทบัญญัติที่พยายามจะสะท้อนว่าไม่ใช่เผด็จการก็ยังมีเนื้อหาครอบคลุมอยู่แค่การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนไว้ในมาตรา 3 เท่านั้น มีความว่า
“ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”
ดังนั้น จึงมิอาจคาดหวังได้ว่าธรรมนูญปกครองในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้า คสช.กุมบังเหียนอยู่ในขณะนี้จะมีเนื้อหาที่พลิกผันออกไปจากนี้
สิ่งที่คนไทยควรจะได้จับตาอย่างใกล้ชิด คือ เมื่อประเทศไทยไม่มีมาตรา 190 ที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วการรักษาผลประโยชน์ชาติจากการเจรจาระหว่างประเทศที่เคยมีการถ่วงดุลตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติแห่งชาติและภาคประชาชนมารองรับแล้วต่อจากนี้ไปอีกปีเศษจนถึงราวตุลาคม 2558 ซึ่ง คสช.กำหนดไว้ในโรดแมประยะที่ 3 ว่า น่าจะเป็นช่วงที่เข้าสู่การเลือกตั้งนั้น
ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบไม่ให้การเจรจาระหว่างประเทศกลายเป็นการนำเอาทรัพยากรชาติไปแลกกับผลประโยชน์ส่วนตนของผู้มีอำนาจ
เพราะจากท่วงทำนองการบริหารของ คสช.กว่า 1 เดือนที่ผ่านมา มีความชัดเจนว่าให้น้ำหนักการทำงานในเชิงการบริหารที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มากกว่าการขจัดความขัดแย้งและรักษาความสงบภายในประเทศตามข้ออ้างที่ใช้เป็นเหตุผลในการเข้าควบคุมการบริหารประเทศ
การปฏิรูปพลังงานที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. รองหัวหน้า คสช.ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจดูแลนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องการปรับโครงสร้างราคาพลังงานเท่านั้นแต่มีการพูดถึงระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากสัมปทานไปเป็นการแบ่งปันผลผลิตตามที่ภาคประชาชนเสนอหรือไม่ไปจนถึงเรื่องแผนความมั่นคงทางพลังงานด้วย
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลที่จะตั้งโดย คสช. มีแผนที่จะเข้ามาดำเนินการตามโรดแมประยะที่ 2 ของ พล.อ.ประยุทธ์จะมีการพิจารณาแผนปฏิรูปพลังงานไทย ซึ่งรวมถึงการวางแนวทางเกี่ยวกับความมั่นคงทางพลังงานด้วย
โดยในประเด็นนี้มีการตีปี๊บขู่คนไทยอย่างหนักในยุคที่ยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีว่าพลังงานกำลังจะหมดต้องรีบเจรจากับเขมรเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลแต่ยังติดขัดที่จะต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรา 190 ทำให้เรื่องนี้ยังคาราคาซังอยู่จนถึงปัจจุบันดังนั้นหากจะเดินหน้าก็ต้องเคลียร์เรื่องเหล่านี้เสียก่อน
แต่สำหรับรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่มีรัฐธรรมนูญมาตรา 190 มาขวางอีกแล้ว
ถ้า คสช.ทำเรื่องนี้จริงก็คงจะสำเร็จได้โดยง่ายดาย เนื่องจากไม่มีกระบวนการตรวจสอบอีกทั้งยังอยู่ในยุคที่สื่ออยู่ในภาวะถูกตรวจสอบเข้มข้นและปิดปากตัวเองจนสังคมไทยเกือบกลายเป็นสังคมใบ้
เท่ากับว่า คสช.จะทำเรื่องนี้ได้ฉลุย ในขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายามมากว่าสองปีแต่ก็ไม่เคยทำได้สำเร็จ
แต่อย่าลืมว่าเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับการที่กัมพูชาลากเส้นผ่านเกาะกูดของไทยอยู่ประเด็นนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการจัดสรรทรัพยากรทางทะเลแต่ยังมีมิติด้านอธิปไตยรวมอยู่ด้วย
ถ้าเราเชื่อว่า “อำนาจเป็นของประชาชน” ก็ต้องร่วมกันเรียกร้องให้ คสช.ชะลอเรื่องนี้ให้รัฐบาลที่มาจากประชาชนมีระบบตรวจสอบตามปกติ เข้ามาดำเนินการเพราะเราคงฝากอำนาจของประชาชนไปไว้กับรัฐบาล คสช.ที่ไร้การตรวจสอบไม่ได้ ไม่ว่าคนไทยจะไว้ใจและศรัทธาตามเพลงของ พล.อ.ประยุทธ์ มากแค่ไหนก็ต้องยืนยันหลักการว่า
“ดุลยภาพในการใช้อำนาจที่เกิดประโยชน์สูงสุด คือ ต้องถูกตรวจสอบได้เท่านั้น”