กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าพบ ผอ.ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ห่วงผู้ถูกคุมตัวตามคำสั่ง คสช. เผยควรให้ญาติหรือครอบครัวรับทราบสถานที่ควบคุมและรายละเอียดต่างๆ รวมถึงแนวทางการช่วยเหลือ ด้านเจ้าตัวยันปล่อยเกือบหมดแล้ว เหลือ 9 คน ศุกร์นี้ไปเยี่ยมเรือนจำ
วันนี้ (18 มิ.ย.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิการเมือง ได้เข้าหารือกับ พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) เกี่ยวกับกรณีที่หลายฝ่ายห่วงใยผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. โดย นพ.นิรันดร์ เปิดเผยว่า เป็นการพูดคุยถึงการประสานงานกับ คสช. โดย พล.ท.กัมปนาท ได้หารือกับคณะกรรมการสิทธิฯ ว่า ประเด็นการทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ คสช. ห่วงใย แต่คณะกรรมการสิทธิฯ ก็สามารถทำงานดังกล่าวได้ เนื่องจากมีกฎหมายบังคับใช้อยู่
ทั้งนี้ มีกลุ่มบุคคลมาร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิฯ จำนวนมาก เรื่องการรายงานตัวและการควบคุมตัว ซึ่งได้บอก พล.ท.กัมปนาท ว่า การให้ญาติหรือครอบครัวรับทราบสถานที่ควบคุมและรายละเอียดต่างๆ รวมถึงแนวทางการช่วยเหลือ เพื่อแสดงให้เห็นว่า แม้จะมีการประกาศกฎอัยการศึก ก็ยังคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ซึ่ง คสช. แจ้งว่า มีการเรียกมารายงานตัวแล้วกว่า 300 - 400 คน แต่ได้ปล่อยตัวแล้วเกือบหมด เหลือเพียง 9 คน โดยในวันศุกร์ที่ 20 มิ.ย. นี้ คณะกรรมการสิทธิฯ จะเดินทางไปเยี่ยมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อให้กลุ่มคนดังกล่าวได้รับการดูแลและช่วยเหลือเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ย้ำว่า ต้องการมาอุดช่องว่างในการประสานงาน โดยไม่มีความกังวลใดๆ
นอกจากนั้น น.พ.นิรันดร์ เห็นว่า การปรองดองสมานฉันท์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะได้รับเรื่องร้องเรียนจากต่างจังหวัด ในเรื่องความขัดแย้งอันเกิดจากการบริหารจัดการทรัพยากร เช่น เหมืองทองคำ ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งเป็นโอกาสดีที่เราจะได้สื่อสารกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประจำจังหวัด และ คสช. เพราะหลายเรื่องเกี่ยวกับประเด็นนโยบาย หากแก้กฎหมายได้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องที่ดิน ภาพรวมก็จะทำให้เกิดการปรองดองฉันท์ได้ และจะทำให้ความรุนแรงเผชิญหน้าในพื้นที่ลดลง และหากมีโอกาสจะได้นำเสนอข้อเท็จจริงให้ คสช. เข้าใจในปัญหาความขัดแย้งทั่วประเทศ และภาคประชาชนได้ขับเคลื่อนต่อการแก้ไขปัญหาของ คสช. อย่างไรบ้าง และประเด็นสุดท้ายที่พูดคุยคือการเสนอแนวทางการปฏิรูปโดยภาคประชาชน เพื่อให้ความปรองดองสมานฉันท์นำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย