อดีต ส.ว. ชี้รูปแบบ หรือแนวทาง สภาปฏิรูป และ สนช. อยู่ที่ คสช. จะเห็นเหมาะสม ส่วนบทบาทวุฒิสภาใหม่ ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุล ได้อย่างแท้จริง ควรมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม ด้วยการคัดสรรจากสภาวิชาชีพต่างๆ เข้ามาทำหน้าที่
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ อดีต ส.ว. สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวถึงการตั้งสภาปฏิรูประเทศ กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามโรดแมประยะที่ 2 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า สูตรดังกล่าวก็คงจะคล้ายของเดิม เพียงแค่ว่าคราวนี้มีการเพิ่มสภาปฏิรูปประเทศขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ในการปฏิรูปซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นพ้อง แม้แต่รัฐบาลที่ผ่านมา ส่วนแนวทางของทั้ง 2 ก็สภาจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่ทาง คสช. จะเห็นว่าเหมาะสม
ทั้งนี้ ตามที่มีกระแสข่าวออกมาว่าจะมีสัดส่วนสภาละ 200 คน คิดว่ามีความเหมาะสม ซึ่งตามหลักการแล้ว สภาปฏิรูปฯก็คงจะประกอบไปด้วย กลุ่มวิชาชีพต่างๆ โดยไม่มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วน สนช. ก็คงมีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา ก็อยู่ที่ว่าจะร่างใหม่ทั้งฉบับหรือนำของเดิมมาปรับใช้
“เรื่องนี้อยู่ที่ คสช. ว่าจะกำหนดแนวทางและรูปแบบอย่างไร หรือจะเลือกใครเข้ามาทำหน้าที่ หรือมี อดีต ส.ว. ส่วนหนึ่งเข้าร่วมด้วยหรือไม่ ผมคงพูดได้ในหลักการเท่านั้น”
นพ.เจตน์ กล่าวว่า ส่วนบทบาทของวุฒิสภาที่จะถูกร่างฯขึ้นใหม่นั้น จากที่ตนประมวลได้เมื่อครั้งมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มา ส.ว. ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่อยากให้วุฒิสภาทำหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุล รวมทั้งเป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาแก่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตามหลักการหากต้องการรูปแบบดังกล่าวที่มา ส.ว. ต้องไม่เหมือนที่มาของ ส.ส. เพราะพรรคการเมืองเสียงข้างมากไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ให้อิสระแก่ ส.ส. ในการยกมือ ซึ่งในข้อเท็จจริงสังคมต้องเปิดโอกาสให้กับกลุ่มวิชาชีพและผู้ด้อยโอกาสด้วย เช่น คนพิการ แต่หากที่มาเหมือน ส.ส. ก็คงไม่มีสัดส่วนของคนกลุ่มนี้ แต่ก็มีปัญหาเรื่องการไม่ยึดโยงกับประชาชนอีก ดังนั้น รูปแบบที่มีสมาชิกเสนอก็คือ การเลือกตั้งทางอ้อม ซึ่งเลือกตั้งจากสภาวิชาชีพต่างๆ ก็จะทำให้สอดคล้องกับประชาชนได้