“คำนูณ” ชำแหละ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ผู้รับสัมปทานเพื่อการส่งออกเท่านั้น ไม่มีวัตถุประสงค์ให้คนในประเทศใช้น้ำมันดิบที่ขุดขึ้นมาเลย แนะทบทวนก่อนเปิดสัมปทานรอบใหม่ พร้อมย้ำระบบสัมปทานแบบแบ่งปันผลกำไร จะเพิ่มรายได้ให้ประเทศมากพอที่จะเอามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยไม่ต้องเก็บภาษีเพิ่ม
วันนี้ (4 มิ.ย.) เมื่อเวลา 06.50 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีต ส.ว.สรรหา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “คำนูณ สิทธิสมาน” ภายใต้หัวข้อ “2 ด้านของเหรียญที่ต้องอยู่คู่กัน”
ใจความว่า “การลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน กับการปฏิรูปพลังงาน คิดให้ดีแล้วเป็น 2 ด้านของเหรียญที่ต้องอยู่คู่กัน การลงทุนต้องใช้เงินมหาศาลในขณะที่สถานการณ์ไม่เอื้อต่อการเก็บภาษีเพิ่มแต่จะใช้เงินกู้ก็มีกรอบวินัยการเงินการคลังกำหนดเพดานไว้ ในขณะที่การปฏิรูปพลังงานตั้งแต่ต้นทางคือเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมในบ้านเราจากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลกำไร หรือ profit sharing จะทำให้ประเทศมีรายได้มากขึ้นพอมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยยังไม่ต้องเก็บภาษีเพิ่มและไม่ต้องพึ่งเงินกู้อย่างเดียว
สมมติว่าได้ส่วนแบ่งเพิ่มมากขึ้นแค่ปีละ 1 แสนล้านบาท ก็พอทำอะไรได้ไม่น้อยแล้ว นี่ยังไม่ต้องพูดถึงผลที่ตามมาอีกว่าประชาชนในประเทศมีโอกาสบริโภคพลังงานในราคาที่เป็นธรรมด้วย
ระบบสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทยที่มีมาตั้งแต่ปี 2514 โดยใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้น้ำมันดิบที่ขุดขึ้นมาได้มีโอกาสใช้ในประเทศเลย เพราะบัญญัติไว้ในมาตรา 64(2) ว่า
“ให้ผู้รับสัมปทานได้รับหลักประกันว่า...รัฐจะไม่จำกัดการส่งปิโตรเลียมออกนอกราชอาณาจักร...”
43 ปีผ่านไป หลักการนี้ยังไม่เคยเปลี่ยน โดยเฉพาะกับผู้รับสัมปทานรุ่นแรกตามระบบ “THAILAND 1” ที่จะยังมีอายุสัมปทานเหลืออยู่ (บวกต่ออายุ) ถึงปี 2566
นอกจากให้สิทธิผู้รับสัมปทานส่งออกน้ำมันดิบที่ขุดขึ้นมาได้โดยไม่จำกัดแล้ว พ.ร.บ.ปิโตรเลียมยังระบุไว้ในมาตรา 57 (1) และ (2) ว่าหากจะขายน้ำมันดิบภายในราชอาณาจักรก็ให้ขายในราคาตลาดโลก ดังนี้
“ในกรณีที่ยังไม่มีผู้รับสัมปทานส่งน้ำมันดิบที่ผลิตได้ออกนอกราชอาณาจักรเป็นประจำ ให้ขายไม่เกินราคาน้ำมันดิบที่สั่งซื้อจากต่างประเทศส่งถึงโรงกลั่นน้ำมันภายในราชอาณาจักร” - มาตรา 57(1)
“ในกรณีที่มีผู้รับสัมปทานส่งน้ำมันดิบที่ผลิตได้ออกนอกราชอาณาจักรเป็นประจำ ให้ขายไม่เกินราคาเฉลี่ยที่ได้รับจริงสำหรับน้ำมันดิบที่ผู้รับสัมปทานทุกรายส่งออกนอกราชอาณาจักรในเดือนปฏิทินที่แล้วมา...” - มาตรา 57(2)
กฎหมายเขียนเพื่อประโยชน์ผู้รับสัมปทานเพื่อการส่งออกจริงๆ เพราะจะมีกรณีเดียวที่การขายในราชอาณาจักรจะถูกลง ก็ต่อเมื่อเกิดเงื่อนไขตามมาตรา 57(3) คือน้ำมันดิบที่ผลิตได้ในประเทศมีปริมาณ 10 เท่าขึ้นไปของความต้องการใช้ในราชอาณาจักรเท่านั้น
ก่อนจะเปิดสัมปทานรอบที่ 21 หลักการนี้จึงควรได้รับการทบทวน” นายคำนูณ ระบุ