โฆษก กอ.รมน.มั่นใจกำลังพลเพียงพอดูแลความสงบเรียบร้อย เล็งขอ ครม.เรียกประชุม กก.กอ.รมน.หากสถานการณ์แรง ให้ปลัดกระทรวงประชุมแทนได้ แหล่งข่าวชักเสียว “สุรพงษ์” ยังมีอำนาจหรือไม่ แฉ “เฉลิม” ชิงไขก๊อก ผอ.ศอ.รส.
วันนี้ (8 พ.ค.) พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษก กอ.รมน. ให้สัมภาษณ์กรณีการทำงานของ กอ.รมน.ภายหลังที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสภาพการดำรงตำแหน่งกรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. ว่าจากโครงสร้างของ กอ.รมน.กำหนดไว้ว่านายกรัฐมนตรีเป็น ผอ.รมน.โดยตำแหน่ง เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.เป็น รอง ผอ.รมน.โดยตำแหน่ง รวมไปถึง พล.อ.อักษรา เกิดผล เสธ ทบ.ก็เป็นเลขาธิการ กอ.รนน.โดยตำแหน่งเช่นกัน กอ.รมน.ไม่ได้ยึดตัวบุคคล และในการบริหารงานส่วนใหญ่ใน กอ.รมน.ดำเนินการโดยรอง ผอ.รมน.และเลขาธิการ กอ.รมน.อยู่แล้ว
เมื่อถามว่า หากสถานการณ์การชุมนุมต่อจากนี้มีความรุนแรงจนต้องเพิ่มกำลังดูแล จะมีปัญหาหรือไม่ พ.อ.บรรพตกล่าวว่า มั่นใจว่าการดูแลความสงบเรียบร้อยตามกรอบเดิมที่มีกำลังพลทั้งหมด 60,717 นาย ที่ประกอบด้วยกำลังตำรวจ 112 กองร้อย กำลังทหาร 57 กองร้อย จัดจากสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 1 กองร้อย กองบัญชาการกองทัพไทย 1 กองร้อย กองทัพบก 46 กองร้อย กองทัพเรือ 7 กองร้อย กองทัพอากาศ 2 กองร้อย นั้นน่าจะเพียงพอในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยได้ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง เพราะในปัจจุบันมีการใช้กำลังจากตำรวจและทหารอย่างละ 40 กองร้อย ไม่ถึง 1 ใน 3 ของกำลังที่จัดไว้ด้วยซ้ำ
พ.อ.บรรพตกล่าวต่อว่า แต่หากสถานการณ์ลุกลามและบานปลายจนต้องปรับเปลี่ยนอัตรากำลังใหม่และยังยืนยันที่จะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงเหมือนเดิม ก็ต้องขอมติจาก ครม.ให้สามารถเรียกประชุมคณะกรรมการของ กอ.รมน.เพื่อพิจารณาอัตรากำลังใหม่รอบรับสถานการณ์ ส่วนกรณีที่คณะกรรมการบางคนที่หลุดจากตำแหน่งรัฐมนตรีไม่สามารถทำหน้าที่ได้นั้น สามารถให้ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง หรือที่ปรึกษาปลัดกระทรวงต่างๆ เข้าประชุมแทนได้
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ กอ.รมน.รอความชัดเจนจากการประชุม ครม.นัดพิเศษวันนี้ ในการพิจารณาว่านายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ทำหน้าที่ประธาน ศอ.รส. และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ทำหน้าที่ ผอ.ศอ.รส.จะสามารถทำงานต่อได้หรือไม่
“ขณะนี้ยังไม่มีใครกล้าออกมาชี้ชัดว่ารัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งยังมีอำนาจในการสั่งการใน ศอ.รส.ได้หรือไม่ โดยเฉพาะคำสั่งใหม่ที่จะมีต่อจากนี้ใครจะเป็นผู้ออกคำสั่ง และผู้ปฏิบัติงานจะกล้าปฏิบัติงานตามคำสั่งนั้นหรือไม่ เพราะหากมีการข้อผิดพลาดขึ้นมา ผู้ปฏิบัติงานจะต้องรับผิดชอบการดำเนินการทั้งหมด และทราบว่าแม้แต่ ร.ต.อ.เฉลิมยังลงนามลาออกจากตำแหน่ง ผอ.ศอ.รส.ไว้ล่วงหน้า” แหล่งจาก กอ.รมน.กล่าว