ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนสถานภาพนายกฯ แต่งตั้ง “ถวิล” มิชอบ “ยิ่งลักษณ์” มาให้ปากคำด้วยตัวเอง ยัน แต่งตั้งตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ไม่มีเจตนาช่วยเครือญาติ อ้างรัฐบาลชุดอื่นๆ ก็เคยทำแบบเดียวกัน ชี้ อำนาจนายกฯทำได้ ตร. คุมเข้ม รปภ. ส่งหน่วยอีโอดีตรวจระเบิด ล่าสุดศาลมีคำสั่งนัดตัดสินสถานภาพนายกฯ พรุ่งนี้เที่ยง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (6 พ.ค.) เวลา 10.00 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการไต่สวนพยาน 4 ปาก ประกอบด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม, พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมและอดีตเลขาธิการ สมช., นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. ในคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นสมาชิกวุฒิสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางมาให้ปากคำด้วยตัวเอง โดยจะมาถึงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในเวลา 09.30 น. ขณะที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะถ่ายทอดสดในการไต่สวนพยานทั้ง 4 ปาก
ต่อมาเวลา 09.30 น. น.ส.ยิ่งลัษณ์ ได้เดินทางเข้าสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม(สป.กห.) จากนั้นเวลา 10.00 น. นายกรัฐมนตรี พร้อมทีมทนายความ เดินทางออกจาก สป.กห. ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อชี้แจงถูกร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลัษณ์ สิ้นสุดลงหรือไม่ จากกรณีการแต่งตั้งโยกย้าย นายถวิล โดยมิชอบ ซึ่งโดยหลังการชี้แจงเสร็จสิ้น นายกฯ จะกลับไปเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมตรี (ครม.)
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังได้ประสานงานเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 5 กองร้อย พร้อมกับเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ระเบิด (อีโอดี) มาดูแลรักษาความปลอดภัยรอบสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันทีมรักษาความปลอดภัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทางมาตรวจสถานที่ไว้ล่วงหน้า บรรยากาศเป็นไปด้วยความปกติเรียบร้อย ยังไม่มีมวลชนกลุ่มใดเดินทางมาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
โดย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสมช. กล่าวก่อนให้ถ้อยคำว่า วันนี้ตนมาในฐานะพยานไม่ได้มาต่อสู้ในคดีของตนเอง ซึ่งในข้อเท็จจริง ตนได้ชี้แจงต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ไปแล้ว รวมทั้งยังให้คำชี้แ...จงต่อศาลปกครองจนมีคำพากษา ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวไม่สามารถก้าวล่วงได้ อย่างไรก็ตามการพิจารณาคำร้องดังกล่าวขึ้นอยู่กับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าจะซักถามตนในประเด็นใดบ้าง ซึ่งอาจจะมีบางประเด็นที่อยู่นอกเหนือในสำนวนของศาลปกครองที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคำร้อง ตนก็พร้อมที่จะชี้แจงข้อเท็จจริง แต่ส่วนตัวแล้วไม่รู้สึกกังวลที่มาในฐานะพยานฝั่งผู้ร้องแม้ว่าผู้ถูกร้องจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม ซึ่งการชี้แจงของตนอาจจะเป็นข้อมูลที่ให้ประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายก็ได้
จากนั้นนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวก่อนเข้าชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ประเด็นที่ตนจะชี้แจงต่อคณะตุลาการ ในคำร้องดังกล่าวจะมี 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาว่า นายกรัฐมนตรีแต่ตั้งนายถวิล เปลี่ยนศรี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2.หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีมีความผิด คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีความเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ และ 3.หากศาลวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีและครม.สิ้นสภาพก็จำเป็นต้องเร่งแต่งตั้งให้มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ทันทีหรือไม่ ซึ่งตนเห็นว่าหากศาลวินิจฉัยเป็นไปตามแนวทางดังกล่าว นั้นก็จะทำให้ครม.ไม่ครบองค์ประกอบจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีภายในเวลา 7 วัน โดยให้เป็นไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้โดยอนุโลมในการทำให้ครม.ครบองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรคท้าย ซึ่งส่วนนี้จะเป็นความเห็นที่ตนจะเสนอให้ศาลพิจารณา
ล่าสุด องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ ไต่สวนพยานในคำร้องให้วินิจฉัยสถานภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี โดยมิชอบแล้ว โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ร้อง เป็นผู้ให้ถ้อยคำเป็นปากแรก และยืนยันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้อำนาจโดยมิชอบ เข้าไปแทรกแซงการโยกย้ายนายถวิล ให้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. เพื่อจะเป็นการเปิดทางผลักดันให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เครือญาติของนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมกับยกคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดขึ้นมากล่าวอ้าง ขณะเดียวกัน ชี้ว่า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ้นสภาพ คณะรัฐมนตรีทั้งหมดควรจะสิ้นสภาพไปด้วย และจะต้องแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม ทนายความของนายกรัฐมนตรีได้พยายามซักค้านว่า นายไพบูลย์ นั้นมีอคติ และมีเจตนาที่จะล้มล้างรัฐบาล รวมทั้งเคยขึ้นเวที กปปส.มาแล้วหลายครั้ง พร้อมทั้งระบุว่า ก่อนหน้านี้ นายไพบูลย์พูดว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีพ้นสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็นการชี้นำศาลด้วย
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้ถูกร้อง ได้ให้คำถ้อยยืนยันว่า การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นไปตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่ได้มีเจตนาจะช่วยเหลือเครือญาติ ซึ่งที่ผ่านมาในรัฐบาลชุดอื่นๆ เคยมีการแต่งตั้งโยกย้ายในลักษณะนี้ ซึ่งถือว่าเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่สามารถกระทำได้ พร้อมทั้งมีการยกตัวอย่างถึงการแต่งตั้งโยกย้ายบุคคลอื่นๆ ในรัฐบาลชุดที่แล้วด้วย
อย่างไรก็ตาม หากศาลได้รับฟังคำไต่สวนข้อเท็จจริงจากพยานจนครบถ้วนแล้ว และเห็นว่ามีมูลและข้อเท็จจริงที่เพียงพอ อาจจะมีคำสั่งนัดวันแถลงด้วยวาจาก่อนลงมติ หรือคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา
ทั้งนี้มีรายงานจากผู้สื่อข่าวว่าศาลรธน.ได้มีการออกคำสั่งนัดวินิจคดีสถานภาพนายกรัฐมนตรี ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 7 พ.ค. เวลา 12.00 น.