ศาล รธน. เผยต้องดูรายละเอียดคำร้องปมนายกฯสิ้นสภาพเชื่อมโยงถึง ครม. หรือไม่ โต้ “อุกฤษ” ยันศาลรธน. เสนอร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาแล้วแต่ยุบสภาก่อนกฎหมายจึงตก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 22 เม.ย. รายงานข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญเปิดเผยถึงการพิจารณาคำร้องเกี่ยวกับสถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สิ้นสุดลงหรือไม่จากกรณีที่แต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ขอขยายเวลาในการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นเวลา 15 วัน ก็ต้องดูว่าการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวาระดังกล่าวในวันที่ 23 เม.ย. จะอนุญาตให้เป็นไปตามคำขอหรือไม่
ส่วนกรณีที่มีการนำคำร้องนี้มาเปรียบเทียบกับกรณีของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้สิ้นสภาพความเป็นรัฐมนตรี แต่ไม่มีผลเชื่อมโยงไปถึงคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ซึ่งครั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาไปคำร้องดังกล่าวให้มีผลไปถึงคณะรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ และเป็นการยื่นคำร้องตามมาตราใด หากคำร้องไม่ได้ระบุถึงคณะรัฐมนตรี และถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกฯสิ้นสภาพจริง คณะรัฐมนตรีก็ไม่น่าจะต้องสิ้นสภาพด้วย
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ส่วนกรณีที่ นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธาน คนธ. ออกแถลงการณ์ว่าการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาขัดต่อหลักนิติธรรมไม่เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นการพิจารณาวินิจฉัยที่ไม่มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญนั้น กรณีดังกล่าวรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเสนอร่างพ.ร.บ. ภายในเวลา 1 ปี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ดำเนินการแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ปรากฏว่าเกิดการยุบสภาเสียก่อนทั้ง 2 ครั้ง เมื่อเกิดการยุบสภาร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ในการพิจารณาของสภาจึงตกไป ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงได้ออกข้อกำหนดวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญมาบังคับใช้ ซึ่งถือว่าข้อกำหนดนี้มีศักดิ์ทางกฎหมายเทียบเท่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว และการออกข้อกำหนดก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจึงไม่ได้เป็นการขัดต่อหลักนิติบัญญัติแต่อย่างใด ปัจจัยไม่ได้เกิดจากศาลรัฐธรรมนูญ เพราะได้มีการดำเนินการแล้ว