โฆษก กอ.รมน.เผย ผบ.ทบ.แจงที่ประชุม ศปก.ทบ. ชี้ 2 เหตุลอบยิงยะลา โจรใต้อาจนำไปปลุกกระแสล้างแค้น สั่ง มทภ.4 เชิญทุกกลุ่มทำความเข้าใจ ให้มอบตัวสู้คดี กำหนดการควบคุมอาวุธเชื่อมเข้าฐานข้อมูล ศชต. เสริม รปภ.เชิงรับ-รุก ตามคนร้ายได้เมื่อมีเหตุ ย้ำไฟใต้เรื่องในประเทศ ไม่ถึงขั้นสงคราม แนะพวกป่วนศึกษาบทเรียน 10 ปีผ่านมาสร้างผลกระทบทุกด้าน หวังลดรุนแรงแสดงความจริงใจแก้ไฟใต้
วันนี้ (21 เม.ย.) พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในฐานะรอง ผอ.รมน. ได้กล่าวในที่ประชุมติดตามสถานการณ์ประจำวันของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) ถึงกรณีเหตุลอบยิงประชาชน 2 เหตุการณ์ในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ว่าเครือข่ายแนวร่วมของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงอาจชูประเด็นดังกล่าวนี้เพื่อปลุกกระแสจนนำไปสู่การก่อเหตุแก้แค้นต่อเป้าหมายอ่อนแอ และเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ระหว่างคนทั้งสองศาสนา เบื้องต้นได้สั่งการให้ พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 เชิญทุกกลุ่มที่มีความขัดแย้งกันภายในท้องถิ่นเข้ามาทำความเข้าใจกันอีกครั้ง เพื่อให้มอบตัวต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม พร้อมกับกำหนดมาตรการควบคุมอาวุธปืนทุกประเภทอย่างเป็นรูปธรรม โดยรวมเข้ากับระบบฐานข้อมูลอาวุธปืนของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) และให้หน่วยงานนำยุทโธปกรณ์พิเศษที่ได้รับมอบมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเสริมมาตรการรักษาความปลอดภัย ทั้งเชิงรับและเชิงรุก ให้สามารถแจ้งเตือนแนวโน้มการเกิดเหตุ และติดตามความเคลื่อนไหวของคนร้ายได้เมื่อเหตุร้ายเกิดขึ้นแล้วด้วย
พ.อ.บรรพตกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ขอทำความเข้าใจว่าสภาพพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังอยู่ในระดับการต่อสู้ของกลุ่มที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ เป็นเรื่องภายในประเทศ ไม่ใช่สถานการณ์สงคราม ตราบใดที่มีการละเมิดกฎหมายฝ่ายเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายตามกระบวนการของกฎหมายปกติ โดยอาศัยการรวบรวมหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาล สำหรับโครงสร้างหน่วยภายใต้ กอ.รมน.ในพื้นที่ขอให้ มทภ. 4 เร่งรัดบูรณาการหน่วยงานภายในกลุ่มงานรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างสอดคล้องกันตามลำดับความเร่งด่วนของพื้นที่ ทั้งงานปกติและงานด้านความมั่นคงตามแนวทางที่เคยสั่งการไว้แล้ว
นอกจากนี้ ตามที่ปรากฏข่าวแจ้งเตือนแนวโน้มการก่อเหตุในวันเชิงสัญลักษณ์ภายในเดือนเมษายนนั้น อยากให้กลุ่มที่คิดจะก่อเหตุได้ศึกษาบทเรียนของเหตุรุนแรงในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาว่าได้ส่งผลกระทบต่อระบบสังคมและเศรษฐกิจในทุกด้าน สร้างความเดือดร้อนให้เกิดแก่ประชาชนโดยตรง ฝ่ายเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ทำให้พื้นที่เกิดความปลอดภัยจึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมกับขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันเฝ้าระวังการก่อเหตุร้าย สิ่งที่พึงประสงค์ลำดับแรกคือการทำให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหยุดหรือลดการก่อเหตุร้ายให้ได้ก่อน เพื่อแสดงความจริงใจเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป