xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” เชื่อ ถกวันเลือกตั้งใหม่ไร้ข้อสรุปก่อนศาล รธน.ฟัน “คดีสำคัญ” 7 พ.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา (ภาพจากแฟ้ม)
“ส.ว.คำนูณ” คาด วงถก กกต.- พรรคการเมือง 22 เม.ย. ทุกพรรคเว้น ปชป. จะเร่งให้จัดการเลือกตั้งภายใน มิ.ย. 57 แต่โอกาสเป็นไปได้ยาก เทียบกับปี 49 ที่ใช้เวลา 5 เดือนเศษ หลังศาล รธน. วินิจฉัยเลือกตั้ง 2 เม.ย. เป็นโมฆะ และสถานการณ์ปีนี้สาหัสกว่า เชื่อ กกต. ขอยืดถึงสิงหาฯ ตามไทม์ไลน์ “กกต.สมชัย” ทำให้ยังตกลงกันไม่ได้ก่อนศาล รธน. ชี้ขาดคดีสำคัญ 7 พ.ค. นี้

วันนี้ (21 เม.ย.) เมื่อเวลา 08.32 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “คำนูณ สิทธิสมาน” ในหัวข้อเรื่อง “ว่าด้วยการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ?” โดยระบุว่า วันที่ 22 เมษายนนี้ ในการหารือกับ กกต. แทบทุกพรรคการเมือง ยกเว้นประชาธิปัตย์ คงจะมีความเห็นประสานเสียงกันกับพรรคเพื่อไทยใน 2 ประการสำคัญ คือ 1. ให้สามารถตกลงวันเลือกตั้งใหม่เพื่อตราพระราชกฤษฎีกาให้ได้ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ 2. ให้วันเลือกตั้งใหม่ที่ตกลงกันตาม 1 อยู่ภายใน 60 วันนับแต่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ หรือนัยหนึ่งให้วันเลือกตั้งทั่วไปใหม่อยู่ภายในเดือนมิถุนายน 2557 แต่โอกาสจะเป็นอย่างนั้นยาก ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557 แม้จะผ่านไป 1 เดือนแล้วยังไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ ดูเหมือนช้า แต่ไม่ช้า อยากให้เทียบกับเหตุการณ์ใกล้เคียงกันเมื่อปี 2549

8 พฤษภาคม 2549 - ศาลรัฐธรรมนูญยุคนั้นวินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบและให้จัดการเลือกตั้งใหม่ทั้งกระบวนการ, 20 กรกฎาคม 2549 - ประกาศพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2549 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอน 75 ก. วันที่ 21 กรกฎาคม 2549), 24 สิงหาคม 2549 - วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ, 15 ตุลาคม 2549 - วันเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดขึ้นใหม่

จะเห็นว่านับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ใช้เวลาถึง 2 เดือน 12 วัน จึงจะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ และแทนที่จะให้พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับทันทีอันจะทำให้การเลือกตั้งใหม่ต้องทำภายในไม่เกิน 60 วัน ยังใช้เทคนิคทางกฎหมายให้พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับในอีก 1 เดือน 4 วันข้างหน้า แล้วกำหนดวันเลือกตั้งในอีกเกือบ 60 วันตามบังคับ รวมแล้วคือกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ภายใน 90 วัน เท่ากับรวมแล้วนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กว่าจะถึงวันกำหนดเลือกตั้งใหม่ยังใช้เวลาอีก 5 เดือนเศษโดยประมาณ

เทียบกับปี 2557 นี้แล้ว เวลาเพิ่งผ่านมาเดือนเดียว และกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ที่แทบทุกพรรคต้องการภายในสิ้นมิถุนายนนั้นก็จะห่างจากวันวินิจฉัยเพียง 3 เดือนเศษเท่านั้น

สถานการณ์ ณ ปี 2549 ก็มีการชุมนุมต่อต้านระบอบทักษิณเหมือนวันนี้ และการเลือกตั้งครั้งแรกพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ลงสมัครเหมือนวันนี้ ระยะเวลา 2 เดือน 12 วันแรกคือระยะเจรจาระหว่าง กกต. กับทุกฝ่าย เมื่อลงตัวพอสมควรแล้วยังทอดระยะเวลาอีก 1 เดือน 4 วันจึงจะมีผลเริ่มต้นกระบวนการใหม่

สถานการณ์ ณ ปี 2557 ที่หนักหนาสาหัสกว่าคือมีการขัดขวางการเลือกตั้งจากมวลชน สถานการณ์นี้ยังคงดำรงอยู่ เชื่อว่าวันนี้ปีนี้ กกต. คงพยายามนำเทคนิคทางกฎหมายเดิมมาใช้อีก เพื่อทอดระยะเวลาให้พูดคุยตกลงกันได้ ตามเทคนิคนี้อย่าว่าแต่ภายใน 90 วันหลังตราพระราชกฤษฎีกาเลย 180 วันหรือมากกว่ายังได้ ! ดัง timeline ของ กกต. สมชัย ศรีสุทธิยากร เมื่อวันก่อนว่ากำหนดวันเลือกตั้งใหม่อาจเป็น 20 หรือ 27 สิงหาคม 2557

นี่จะเป็นประเด็นถกเถียงสำคัญ อันน่าจะทำให้ยังไม่สามารถหาฉันทามติจนสามารถตราพระราชกฤษฎีกาได้ภายในสิ้นเดือนเมษายน 2557 ตาม timeline ของ กกต. สมชัย ศรีสุทธิยากร ได้ ทำให้เป็นไปได้สูงว่าจะยังตกลงกันไม่ได้ก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีสำคัญ ! เพราะคำวินิจฉัยคดีสำคัญมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 !!
กำลังโหลดความคิดเห็น