“อภิสิทธิ์” ระบุ ศอ.รส.ออกแถลงการณ์ไม่เหมาะสม ชี้ทำผิดหน้าที่ ไม่ดูแลรักษาความมั่นคง แต่กลับแสดงท่าทีเป็นคู่ขัดแย้ง ข่มขู่องค์กรอิสระ เรียกร้อง “ยิ่งลักษณ์” แสดงท่าทีต่อแถลงการณ์ พร้อมแนะสลายตัว เหตุทำแต่เรื่องเสียหาย ถามขอพระบรมราชวินิจฉัย คำตัดสินศาล รธน.ที่ดำเนินการภายใต้พระปรมาภิไธย จะทำได้หรือ ยันพร้อมร่วมวงหารือ กกต. 22 เม.ย.นี้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตำหนิศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) ที่ออกแถลงการณ์ไม่เหมาะสม ทั้งที่ควรเป็นหน่วยงานที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และออกแถลงการณ์ให้ทุกฝ่ายยอมรับคำตัดสินขององค์กรอิสระ หากเห็นว่าการตัดสินเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่สุจริตของผู้ที่เกี่ยวข้องก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย แต่กลับแสดงท่าทีเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง เป็นการตอกย้ำให้เห็นสภาพของปัญหาให้รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะท่าทีของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ที่พูดเชิงข่มขู่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นการสะท้อนอาการของคนที่รู้ว่าตัวเองกระทำผิดแล้วไม่รู้จะต่อสู้อย่างไรในทางกฎหมาย ดังนั้น องค์กรอิสระจะต้องมีความกล้าหาญ หนักแน่น ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และต้องพร้อมที่จะอธิบายเหตุผลที่รองรับคำวินิจฉัยด้วย
“เรื่องนี้ควรตั้งคำถามไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งรักษาการตามกฎหมายความมั่นคง และเป็นผู้แต่งตั้ง ศอ.รส. มีความเห็นอย่างไรต่อแถลงการณ์ จะปฏิเสธว่าไม่รู้เห็นไม่ได้ โดยจะต้องมีท่าทีชัดว่าตั้ง ศอ.รส.มาเพื่ออะไร ผมว่าขอให้สลายตัว เพราะไม่ได้ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาความมั่นคงแต่อย่างใด”
ส่วนประเด็นข้อเสนของ ศอ.รส.ให้รัฐบาลนำความกราบขึ้นทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไปหรือไม่ หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสถานภาพความเป็นนายกฯ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สิ้นสุดและมีผลผูกพันต่อทุกองค์กร แต่หากมีพยานหลักฐานยืนยันว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใดมีความไม่สุจริต สามารถดำเนินการโต้แย้งทางกฎหมายได้ แต่ในกรณีที่ ครม.จะนำความขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อขอพระบรมราชวินิจฉัยนั้น ตนขอเตือนว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำในพระปรมาภิไธย ดังนั้นกรณีที่นำคำวินิจฉัยในพระปรมาภิไธยเพื่อขอพระบรมราชวินิจฉัยอีกจะทำได้หรือไม่ และที่สำคัญหากศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ ครม.ต้องพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ รัฐบาลจะใช้สถานะใดนำความขึ้นทูลเกล้าฯ
นอกจากนี้ ตนได้ทำหนังสือยืนยันไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้วว่า พร้อมที่จะร่วมหารือกับพรรคการเมืองในวันที่ 22 เม.ย. ส่วนที่พรรคเพื่อไทยจะส่งนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับนายโภคิน พลกุล ไปร่วมหารือด้วยนั้น ก็เป็นเรื่องที่ดีและถูกต้อง เพราะตนตั้งใจว่าจะร่วมหารือพูดคุยในสิ่งที่มีประโยชน์ ไม่อยากให้เป็นเวทีที่มาทะเลาะกัน แต่หากฝ่ายหนึ่งบอกให้เลือกตั้งเร็ว อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าทำให้ถูกต้องก็คงไม่มีอะไรคืบหน้า