“ยุทธศักดิ์” อ้างบึ้มยะลาเอี่ยวเปลี่ยน มทภ.4 “ภราดร” บอกเดือนสัญลักษณ์ เชื่อเกี่ยวสลับตำแหน่งเลขาฯ สมช.ทำเจรจาชะงัก ต้องก่อเหตุให้คุยต่อ ดูความชัดเจนนโยบาย ระบุประมาทไม่ได้ คาดส่งสัญญาณเหตุเกิดตลอดเดือน โอ่คุยพวกป่วนเปิดเผยไม่ปิดลับ
วันนี้ (8 เม.ย.) ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน จ.นครปฐม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม กล่าวถึงเหตุระเบิดหลายจุดใน จ.ยะลา ว่าส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการสับเปลี่ยนแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเราไม่ได้ประมาทและไม่ใช่การวัดกำลังจากฝ่ายรัฐ
ด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนาถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า เดือน เม.ย.เป็นเดือนสัญลักษณ์อยู่แลัวทุกปีที่ผ่านมาก็มีเหตุการณ์รุนแรง มีการติดป้ายผ้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงแม่ทัพภาคที่ 4 สัญญาณการเปลี่ยนแปลงเลขาฯ สมช. การพูดคุยที่สะดุดหยุดลง ซึ่งในการพูดคุยก็มีการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่ เพราะกลุ่มที่ประสงค์และกลุ่มที่ไม่ประสงค์ก็ต้องจุดสัญญาณสถานการณ์เพื่อเรียกร้องให้การพูดคุยดำเนินการต่อไปในการแก้ไขปัญหา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ท่านมองว่าเหตุการณ์ระเบิดที่ จ.ยะลา มีสาเหตุมาจากกลุ่มก่อความไม่สงบต้องการให้เกิดการพูดคุยขึ้นอีกครั้งใช่หรือไม่ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกัน ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางการบังคับบัญชา และสัญญาณว่ารัฐบาลจะเดินนโยบายไหนต่อไปเพราะไม่ใช่รัฐบาลหลักในการปฏิบัติหน้าที่ และยุทธศาสตร์ของสมช.ที่จะครบลงในปีนี้ และเขาจะดูสัญญาณในการพูดคุยว่าจะเป็นอย่างไร
เมื่อถามว่า จากนี้ไปจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอีกหรือไม่ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า ประมาทไม่ได้ เพราะที่เขาส่งสัญญาณมาย่อมชี้ให้เห็นว่า โอกาสที่จะเกิดมีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน เม.ย. ทั้งนี้แม่ทัพภาคที่ 4 ได้กำชับความเข้มข้นของการรักษาความปลอดภัยและเฝ้าระวังพื้นที่เศรษฐกิจวงใน ทั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
เมื่อถามว่า มีการคาดหมายกลุ่มที่ก่อเหตุไว้แล้วหรือไม่ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่เกิดความชัดเจน เพราะมีหลายสาเหตุประกอบร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยของกลุ่มกระบวนการ กลุ่มภัยแทรกซ้อน และเรื่องส่วนตัว ทำให้มีการร้องขอกันตลอดเป็นเรื่องปกติ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะละทิ้งไม่ได้เลย
เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าสาเหตุระเบิดมาจากการเจรจาระหว่างเลขาฯ สมช.กับกลุ่มที่เห็นต่าง พล.ท.ภราดรกล่าวว่า เป็นทัศนะของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะการพูดคุยของตนทุกครั้งมีการชี้แจงอย่างเปิดเผยไม่มีอะไรปิดลับซ่อนเร้น แต่ในจังหวะเดียวกันที่ผ่านมามีผู้ใหญ่บางท่านไปสื่อว่าการพูดคุยนั้นกลุ่มบีอาร์เอ็นไม่ได้เต็มใจ เป็นสภาพบังคับ แต่ที่จริงแล้วเป็นความเห็นพ้องในกระบวนการทั้งฝ่ายเราและฝ่ายมาเลเซียที่มาลงนามร่วมกันทางนโยบายและการปฏิบัติอยู่แล้ว แต่พอมีการสื่อสารไปก็อาจทำให้ฝ่ายกระบวนการรู้สึกไม่สบายใจจึงมีการส่งสัญญาณออกมาในระดับหนึ่ง
เมื่อถามว่า เป็นการส่งสัญญาณเพื่อเรียกร้องความสนใจจากปัญหาทางการเมืองหรือไม่ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า มีความเกี่ยวพันกันอยู่ เพราะทางนโยบายต้องการความชัดเจนของผู้ที่จะมาดูแลเรื่องการพูดคุยว่าคนใหม่ที่มาแทนจะมีแนวทางอย่างไร
เมื่อถามว่า การที่รัฐบาลมีปัญหาเรื่องการเมืองมีผลกระทบในการแก้ปัญหาหรือไม่ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า มีความเกี่ยวข้องในความชัดเจนของนโยบาย เรื่องงบประมาณที่จะเข้ามาแก้ไขในเรื่องบุคคลากรที่จะมีการปรับกำลังในช่วงเดือน เม.ย. เมื่อรัฐบาลไม่มีอำนาจเต็มก็เกิดข้อจำกัดในการจัดการ