รายงานการเมือง
เดินเครื่องกันไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งได้เริ่มทำการทดลองรออกอากาศ “ทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน” (Terrestrial Digital TV) ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล, เชียงใหม่, สุโขทัย, นครราชสีมา และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
กลุ่มผู้ที่สนใจและเตรียมตัวรอชม “ดิจิตอลทีวี” ที่ว่าก็ได้รับชมรับฟังกันไปแล้วตามสภาพ แต่ก็เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ในพื้นที่นำร่องยังไม่รู้เลยว่า วันนี้มีการยิงสัญญาณทีวีดิจิตอลให้ดักจับ และทรรศนาถึงคุณภาพความคมชัด รวมทั้งช่องทีวีที่เพิ่มขึ้นจากเดิมฟรีทีวี 6 ช่อง ก็ขยายเพิ่มขึ้นมาเป็น 24 ช่องธุรกิจ และหากรวมทีวีสาธารณะเข้าไปก็จะทำให้ประเทศไทยมีฟรีทีวีดูกันตาแฉะถึง 48 ช่องด้วยกันเมื่อออกอากาศครบสมบูรณ์ในอนาคต
ในระยะนำร่องนี้นอกเหนือจากกล่องแปลงสัญญาณ (Set Top Box) ที่มีความสำคัญในการจับสัญญาณ “ดิจิตอลทีวี” แล้ว เชื่อหรือไม่ว่ายังต้องใช้ “เสากางปลา” หรือ “หนวดกุ้ง” มาเป็นตัวช่วยในการควานหาสัญญาณอีกด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของการส่งสัญญาณภาคพื้นดิน
และแน่นอนว่าในระยะนำร่องก็ยังมีปัญหาให้ทั้ง กสทช. บริษัทแม่ข่าย หรือบริษัทเอกชนเจ้าของช่องต่างๆ ตามล้างตามเช็ดกันพอสมควร ทั้งในเรื่องการจัดเรียงช่องที่บ่นกันขรม หรือเรื่องสัญญาณภาพที่มาๆหายๆในบางพื้นที่ บางจังหวะมีภาพแต่ไม่มีเสียง รวมไปถึงการปรับจูนความถี่หาสัญญาณที่เจอบ้างไม่เจอบ้าง
ถือเป็นการบ้านกองโตที่ กสทช.ต้องหาทางแก้ไขร่วมกับผู้ประกอบการโครงข่าย (Multiplex : Mux) ทีวีดิจิตอล ที่ได้รับใบอนุญาตทั้ง 4 รายต่อไป
ยังไม่รวมไปถึงปัญหาอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือของผู้บริโภคที่ยังไม่ได้ข้อยุติ สำหรับการซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ใหม่ หรือซื้อกล่องแปลงสัญญาณ (Set Top Box) ที่ กสทช.มีนโยบายในการแจกคูปองให้กับประชาชน 22 ล้านครัวเรือน ทั่วประเทศ เพื่อนำไปซื้อกล่องแปลงสัญญาณ หรือเป็นส่วนลดในการซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ ที่คาดว่ากว่าจะเห็นหน้าเห็นหลังก็คงราวเดือน ก.ค.นู้น
แต่อย่างน้อยก็อุ่นใจได้เปลาะหนึ่ง เพราะในส่วนสัญญาณระบบอนาล็อกก็ยังจะมีให้รับชมกันอีก 5 ปีถึงจะยกเลิก ทำให้ช่วงนี้คงไม่ต้องกลัวว่าจะ “จอดำ” แบบไมรู้เนื้อรู้ตัว
ณ ตอนนี้หากบ้านไหนปรับจูนหาสัญญาณ “ดิจิตอลทีวี” ก็จะเห็นรายชื่อของของผู้ประกอบการโครงข่าย (Multiplex : Mux) ทั้ง 4 เจ้าปรากฏขึ้นมา ทั้ง ททบ.5 (TV5), กรมประชาสัมพันธ์ (PRD), อสมท (MCOT) และไทยพีบีเอส (TPBS)
ซึ่งก็แล้วแต่พื้นที่ว่าเจ้าไหนจะสัญญาณเข้มสัญญาณหาย
และตามที่ทราบกันว่า ในส่วนของเครื่องส่งสัญญาณของ ททบ.5 (TV5) ที่รับผิดชอบ 2 Mux และของไทยพีบีเอส (TPBS) นั้นเป็นการใช้เครื่องส่งสัญญาณ “ตัวจริง” ในการส่งสัญญาณขณะนี้ เพราะจัดหาแล้วเสร็จตามกระบวนการไปนานแล้ว
แต่ในส่วนของ กรมประชาสัมพันธ์ (PRD) และ อสมท (MCOT) ที่รับผิดชอบคนละ 1 Mux นั้นยังใช้เครื่องส่งสัญญาณที่ “ยืม” มาจากเอกชนในการส่งสัญญาณ เนื่องจากกระบวนการจัดซื้อจัดหามาเป็นของตัวเองนั้นยังไม่แล้วเสร็จ
โดยในส่วนของ กรมประชาสัมพันธ์ (PRD) นั้นขณะนี้ยังไม่มีวี่แววในการจัดหา เนื่องจากที่ผ่านมามีการตั้งโครงการแล้ว แต่ถูกทาง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงในส่วนของงบประมาณ จนเรื่องถูกนำไปซุกไว้แบบไร้ร่องรอย
ขณะที่ในส่วนของ อสมท (MCOT) นั้นถือว่าคืบหน้าไปมาก หลังจากที่มีการให้ผ็สนใจเข้ารับซองและนัดชี้แจงรายละเอียดโครงการ (TOR) รวมถึงให้ผู้สนใจยื่นเสนอราคาไปแล้วเมื่อช่วงสัปดาห์ก่อน ก็มีการกำหนดว่าในนี้ (8 เม.ย.) จะมีการเปิดซองหรือประกาศผลเบื้องต้นกันแล้ว
โดยจากก่อนหน้านี้ที่มีเอกชนแสดงความสนใจไว้เบื้องต้น 8 ราย สุดท้ายมีผู้สนใจยื่นเสนอราคาเครื่องส่งทีวีดิจิตอลของ อสมท ด้วยกันทั้งหมด 5 ราย ได้แก่ 1.บริษัท กิจการค้าร่วม เทคทีวี จำกัด (TEQTV and Rohde&Schwarz) 2.บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) (Loxley) 3.บริษัท UCI จำกัด (UCI) 4.บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) (Samart) และ 5. บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสิรช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (IRPC)
โดยขั้นตอนการจัดหาของ อสมท มีข่าวหนาหูมาตลอดว่ามีการ “ล็อกสเปก” จนถูก สตช.ท้วงติงเช่นเดียวกับกรณีของกรมประชาสัมพันธ์ ทั้งในเรื่องงบประมาณที่สูงเกินจริง และการปรับแก้ TOR ที่มีพิรุธหลายจุด
แม้จะถูกจับตามอง แต่ อสมท ก็ยังเดินหน้าโครงการต่อไป โดยไม่ได้มีการแก้ไขใดๆ ตามข้อท้วงติงของ สตง.หรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องแม้แต่น้อย
พูดง่ายๆ คือเดินหน้าจัดหาโดย “ล็อกสเปก” ไปที่ “บริษัทเบอร์หนึ่ง” ที่แต่งตัวเข้าเพื่อรับงานนี้เป็นการเฉพาะ โดยมีนักการเมือง “ย.ย.” อยู่เบื้องหลัง ซึ่งรูปแบบการ “ล็อกสเปก” ก็มีการตระเตรียมแก้ไขเนื้อหาของ TOR ไว้ในหลายจุด จนผู้ประกอบการรายอื่นบ่นกันระงม อีกทั้งระยะเวลาการส่งงานค่อนข้างกระชั้น คงจะมีแต่บริษัทที่สั่งของไว้ล่วงหน้าเท่านั้น ที่อาจจะจะส่งได้ทันโดยไม่เสียค่าปรับ
ในส่วนของค่าปรับการส่งงานล่าช้าหรือปัญหาการใช้งานที่มีแนวโน้มที่จะต้องเสียนี่เอง ทั้งค่าปรับต่อ กสทช.หรือค่าปรับจากบรรดาเอกชนที่มารับช่วงแม่ข่ายต่อ ตรงนี้ก็กลายเป็นช่องให้ “บวกราคา” เผื่อเหลือเผื่อขาด ส่งผลราคาที่แข่งขันกันพุ่งกระฉูดโดยไม่จำเป็น
นี่คือ “แผนเดิม” ที่วางไว้ ในการเตรียมทุกอย่างให้เข้าทาง “บริษัทเบอร์หนึ่ง” แต่ด้วยกระบวนการที่ไม่ชอบมาพากลและไม่แนวเนียน ทำให้ชื่อของ “บริษัทเบอร์หนึ่ง” ถูกเพ่งเล็งอย่างมาก ทำให้มีการเกรงกันว่า หากผลออกมาตามที่ถูกจับตามองจริง อาจก่อให้เกิดปัญหาลุกลามไปถึง “ผู้อยู่เบื้องหลัง” ด้วยก็ได้
ล่าสุดก็มีรายงานว่า มีการปรับแผนเตรียม “แผนสอง” สำรองไว้แล้ว โดยหลังจากการเปิดซองราคา จะมีการพิจารณาด้วย “ดุลพินิจ” ของคณะกรรมการตัดชื่อผู้ยื่นซองเหลือเพียง 3 จาก 5 ราย โดยมี “บริษัทเบอร์หนึ่ง” พ่วง “บริษัทยักษ์ใหญ่” ติดเข้ารอบมาด้วย ซึ่งเบื้องต้นได้ผ่านการ “ฮั้ว” กำหนดราคากันให้แตกต่างกันไม่มาก
แม้ชื่อของ “บริษัทยักษ์ใหญ่” จะค่อนข้างผูกติดกับขั้วอำนาจเก่า แต่ก็ทราบกันในวงการว่า มีการต่อสายสร้างสัมพันธ์ไว้กับผู้ใหญ่ใน “รัฐบาลเพื่อไทย” หลายสาย ทั้งสาย “เจ๊ ด.” ผู้ยิ่งใหญ่ หรือสาย “นครบาล” ที่คุมงานด้านไอทีอยู่
โดยตาม “แผนเดิม” นั้นจะให้ “บริษัทเบอร์หนึ่ง” ได้คะแนนสูงสุด แม้จะเสนอราคาสูงที่สุดก็ตาม เพราะ TOR ได้กำหนดไว้ว่าให้พิจารณาผู้ที่ได้คะแนนสูงที่สุดก่อน ก่อนที่จะให้ปรับลดราคาลงเท่ากับรายที่เสนอราคาต่ำสุด ซึ่งแตกต่างกันไม่มาเพราะมีการพูดคุยกันมาก่อนแล้ว
แต่หากนาทีสุดท้ายเกรงว่าเมื่อ “บริษัทเบอร์หนึ่ง” เข้าวินจะทำให้เกิดปัญหาตามมา ก็เตรียมโยนให้ “บริษัทยักษ์ใหญ่” เข้าวินแทนตามที่ได้จกลงกันมาก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนผลประโยชน์ก็แบ่งสรรปันส่วนกันไปตามเรื่อง
ถือเป็นขบวนการสวาปามแบบสุดคลาสสิค มาครบทั้ง “ล็อกสเปก-ฮั้วประมูล” สุดท้ายผลเป็นดังที่คาดกันไว้หรือไม่
ต้องจับตา!!!