xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหนังสือ “ยิ่งลักษณ์” แจง ป.ป.ช.ซัดมีอคติ-เป็นปฏิปักษ์ร้ายแรง ไม่มีอำนาจไต่สวนคดีโกงจำนำข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เปิดหนังสือ “ยิ่งลักษณ์” ชี้แจงข้อกล่าวหา ป.ป.ช.คดีพัวพันทุจริตจำนำข้าว โวยกระบวนการรับคำร้องและเริ่มคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช้อำนาจเกินขอบเขต ใช้คำ “เป็นปฏิปักษ์อย่างร้ายแรง” เพราะเคยเสนอให้ยกเลิกจำนำข้าวนานมาแล้ว ดีดดิ้นอยากได้ผู้ไต่สวนอิสระ จวก “วิชา” จ้อสื่อถากถาง ขอเปลี่ยนตัวแต่ไม่ยอม อีกทั้งปากคำ “อภิสิทธิ์-หมอวรงค์” เป็นคู่แข่งทางการเมือง ขาดทุน 2 แสนล้านจินตนาการเท่านั้น



อ่านประกอบ : หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อ ป.ป.ช.

วันนี้ (31 มี.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้จัดทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ต่อประธานและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีร้องขอถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และกรณีกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว โดยหนังสือดังกล่าวมีความยาว 151 หน้า สาระสำคัญที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ชี้แจงต่อ ป.ป.ช.ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมิได้กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.ปี 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 อีกทั้งมิได้จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 และไม่มีเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ดังเหตุผลดังต่อไปนี้

1. กระบวนการรับคำร้องและเริ่มคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการดำเนินกระบวนการของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม มีลักษณะเป็นการดำเนินการตามอำเภอใจ และจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย และฝ่าฝืนระเบียบ ป.ป.ช.ว่าด้วยประมวลจริยธรรม เนื่องจากกระบวนการรับคำร้องและเริ่มคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ชอบ ทั้งๆ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2556 นายถาวร เสนเนียม นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายวิทยา แก้วภราดัย นายชุมพล จุลใส นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายเอกณัฏ พร้อมพันธุ์ และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ มิได้เป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์แล้ว จึงไม่มีอำนาจร่วมลงชื่อในการยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อส่งเรื่องดังกล่าวให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวน และดำเนินการเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอน

ประกอบกับตามคำร้องก็มิได้มีการระบุในคำร้องเกี่ยวกับรายละเอียดของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชื่อ อายุ ที่อยู่ ของผู้ยื่นคำร้อง นอกจากนี้ตัวอักษรที่พิมพ์ในคำร้องกับตัวอักษรที่พิมพ์ท้ายคำร้องก็เป็นคนละแบบกันทำให้มีพิรุธสงสัยว่ามีการแอบอ้างชื่อ หรือใช้ลายมือชื่อเดิมมาประกอบ ดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็มิได้ไต่สวนแสดงให้ปรากฏโดยชัดแจ้งเป็นที่ยุติ แต่เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช.กลับมีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริงโดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวนตนโดยรีบด่วน โดยอ้างว่ามีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จึงเป็นข้อสังเกตและมีข้อระแวงสงสัยอย่างมีข้อพิรุธอย่างยิ่งว่าเป็นการรับคำร้องและเริ่มคดีต่อตน ตามอำเภอใจ เป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. ปี 2542

2. คณะกรรมการ ป.ป.ช.ใช้อำนาจเกินขอบแห่งอำนาจ เดิมเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2554 คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยใช้อำนาจหน้าที่ของตนเองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. ปี 2542 เสนอแนะนายกรัฐมนตรีว่ารัฐบาลควรยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวเปลือกและให้นำระบบการประกันความเสี่ยงด้านราคาข้าวมาดำเนินการ แต่รัฐบาลมิได้ยกเลิกจึงถือว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.เข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียและเป็นปฏิปักษ์อย่างร้ายแรงกับรัฐบาลตน ในขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็อ้างว่ายังคงติดตามนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลต่อไป ต่อมามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ระหว่างวันที่ 25-27 พ.ย. 2555 ในประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการตามนโยบายรับจำนำข้าวและการระบายข้าวที่ฝ่ายค้านโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อ้างว่ารัฐบาลของตนไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่กลับปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าว ซึ่งตามกระบวนการเป็นกรณีสืบเนื่องที่จะต้องร้องขอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ถอดถอนตนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยเพียงกรณีนี้กรณีเดียวเท่านั้น

ดังนั้น ในการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2557 จึงคงมีอำนาจเพียงกรณีมีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องกรณีกล่าวหา โดยอ้างว่ามีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว เท่านั้น ไม่มีอำนาจในการมีมติให้ไต่สวนโดยอ้างว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น อ้างว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่านายกรัฐมนตรีได้ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว โดยเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการตามที่มีอำนาจหน้าที่แต่อย่างใด เพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เปิดช่องทางสำหรับการกล่าวหาด้วยการเริ่มช่องทางด้วยการใช้อำนาจหน้าที่ของตนเองเสนอแนะนายกรัฐมนตรีว่ารัฐบาลควรยกเลิกนโยบายโครงการรับจำนำข้าวเปลือกและนำระบบการประกันความเสี่ยงด้านราคาข้าวมาดำเนินการ

คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจที่จะเลือกใช้บทบัญญัติมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.ปี 2542 มากล่าวหาพร้อมกันทั้งสองกรณีแต่อย่างใด เพราะจะกลายเป็นว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจเหนือรัฐบาลสามารถสั่งรัฐบาลให้ดำเนินโครงการตามนโยบายที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องการได้ตามอำเภอใจ ซึ่งถือว่าเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม เท่ากับว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจกล่าวหาได้ในประเด็นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้เสนอคำแนะนำ และหากไม่ดำเนินการตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แนะนำก็จะถูกดำเนินคดีโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเป็นผู้กล่าวหาเสียเองในประเด็นที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ ซึ่งหากคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจกระทำได้เช่นนั้น ก็จะเป็นการใช้อำนาจโดยการแทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหารโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญขัดกับหลักนิติธรรม เป็นการไม่ชอบด้วยหลักการแบ่งแยกอำนาจ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมืองอย่างใหญ่หลวง ไร้ความซึ่งความยุติธรรม

ส่วนการดำเนินการตามกระบวนการคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นการดำเนินการอันเป็นมีผลเป็นคำสั่งทางปกครอง โดยใช้หลักกฎหมายมหาชนและใช้วิธีการไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนี้หากอยู่ในฐานะเป็นผู้กล่าวหาเสียเองเท่ากับเป็นคู่กรณี คณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่มีสถานะเป็นคู่กรณีไม่มีอำนาจในการไต่สวนพิจารณาคดีนี้ต่อไปในอีกกรณีหนึ่งด้วย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 275 วรรคสี่ ช่องทางในการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างร้ายแรงอย่างมีอคติในประเด็นเกี่ยวกับการเลือกนโยบายในการแทรกแซงกลไกการตลาดของการค้าข้าว ควรเป็นการขอให้ดำเนินการตั้งผู้ไต่สวนอิสระตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะยึดเป็นหลักในการพิจารณา ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. ปี 2542 เป็นเพียงกฎหมายลำดับรอง จึงไม่มีอำนาจ แต่จะต้องตั้งผู้ไต่สวนอิสระมาแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับตนตามสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม และมีโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ และเป็นไปโดยชอบด้วยหลักนิติธรรมเท่านั้น ความยุติธรรมจึงจะบังเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า ป.ป.ช.รายงานเสนอต่อวุฒิสภา โดยต้องระบุให้ชัดเจนว่าข้อกล่าวหาตามคำร้องขอข้อใดมีมูลหรือไม่ เพียงใด มีพยานหลักฐานที่ควรเชื่อได้เพียงใด พร้อมทั้งระบุข้อยุติ แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องอยู่ในฐานะเป็นคนกลางระหว่างผู้กล่าวหากับผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาไต่สวนในประเด็นอื่นนอกคำร้องขอถอดถอน โดยเข้าไปเป็นคู่กรณีในฐานะผู้กล่าวหาเสียเอง แล้วนำพยานหลักฐานทั้งหมดมารวมกับคำร้องถอนถอนของผู้ร้องมาเพื่อกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หาได้ไม่ ดังนั้น ในคดีนี้จึงต้องดำเนินการผ่านผู้ไต่สวนอิสระตามที่ได้รับแต่งตั้งจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ผู้ที่มีกรณีเป็นปฏิปักษ์อย่างร้ายแรงนั้นไม่อาจจะเป็นกรรมการหรือคณะกรรมการในการไต่สวนคดีนี้ได้เพราะจะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง อันเป็นผลทำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่มีอำนาจยึดเอาสำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการโดยมิชอบดังกล่าวมาเป็นหลักในการพิจารณา เพราะถือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบ

3.คณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ นายวิชา มหาคุณ มีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบ ป.ป.ช. เนื่องจากนายวิชา มีสาเหตุโกรธเคืองกับตนได้ให้สัมภาษณ์ ต่อหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, ASTV, ผู้จัดการออนไลน์ และทางสถานีโทรทัศน์ THAI PBS ในรายการ “ตอบโจทย์” ออกอากาศ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2556 ในทำนองเป็นการชี้นำต่อสังคม ว่าตนได้กระทำผิดแล้ว ทั้งที่การไต่สวนข้อเท็จจริงยังไม่เสร็จสิ้นและข้าพเจ้ายังไม่มีโอกาสยื่นคำชี้แจง และขอตรวจพยานเอกสาร อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. ปี 2542 ซึ่งตนได้ยื่นคำขอคัดค้านและขอให้เปลี่ยนตัวบุคคลเป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ปรากฏตามหนังสือเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2557 เพื่อให้ตนได้ได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอย่างเหมาะสม

แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือลงวันที่ 19 ก.พ. 2557 ขอให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา และแจ้งด้วยว่า มีมติยกคำคัดค้าน โดยพิจารณาเห็นว่า คำคัดค้านดังกล่าวไม่เข้าเหตุ อย่างหนึ่งอย่างใด ตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. ปี 2542 ปรากฏว่า ต่อมาระหว่างวันที่ 9-12 มี.ค. 2557 นายวิชา ก็ยังให้สัมภาษณ์ต่อ หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ในลักษณะทำนองพูดจา “เหน็บแนม อันเป็นการพูดจากระทบกระเทียบ กระแหนะกระแหน ในลักษณะถากถาง ดูถูก เย้ยหยัน และดูหมิ่นตนให้ได้รับความเสียหาย เช่น ให้สัมภาษณ์ว่า “ดิฉันไม่มีเวลา ต้องไปถางต้องไปดับไฟป่า ท่านก็ส่งคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรมา” รวมทั้งข้อความที่ว่า “ไม่มีใครนั่งอยู่ ขออยู่ขอตายคาประชาธิปไตย” ซึ่งตนเห็นว่าถ้อยคำดังกล่าวเป็นถ้อยคำที่ถากถาง ดูถูก เย้ยหยัน และดูหมิ่น จนต่อมาวันที่ 20 มี.ค. จึงได้ยื่นคำร้องคัดค้านและเรียกร้องให้นายวิชา ถอนตัวจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช.ผู้รับผิดชอบสำนวนและกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ได้มีคำสั่งให้ยกคำคัดค้านในวันเดียวกัน

การที่ตนข้อรังเกียจ นายวิชา และได้ยื่นคำคัดค้านไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.ถึง 2 ครั้ง ย่อมแสดงให้เห็นว่าตนไม่มีความเชื่อมั่นที่จะให้นายวิชา เป็นกรรมการ ป.ป.ช.ผู้รับผิดชอบสำนวนและกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีของ ตนซึ่งการตั้งข้อรังเกียจดังกล่าวของข้าพเจ้านั้น หากทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะดำเนินการเปลี่ยนตัวก็มิใช่เป็นเรื่องกระทำการตามที่ตนต้องการ แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและมีความเป็นกลางอยู่เป็นจำนวนมาก ย่อมที่จะทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนแทนนายวิชาได้ และจะเป็นการป้องกันข้อครหาจากสังคมได้ อีกทั้งตนยังเห็นได้ว่าในการรับฟังพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใดๆ จากนายวิชา จึงเป็นพยานหลักฐานที่ไม่ควรรับฟังเข้าสู่สำนวนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นพยานหลักฐานที่มีที่มาจากบุคคลที่มีอคติต่อตน และมีปัญหาด้านจริยธรรม คณะกรรมการ ป.ป.ช.ท่านอื่นควรมีข้อสังเกตข้อระแวงสงสัยต่อนายวิชา ในสำนวนที่บุคคลท่านนี้นำเสนอทั้งในข้อเท็จจริงและในข้อกฎหมายด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในการนำเสนอพยานหลักฐานต่อที่ประชุมคณะกรรมการที่อาจเป็นการนำเสนอเอกสารแต่ในแง่มุมที่เป็นผลร้ายต่อผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น พยานหลักฐานที่เป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหาอาจหาได้นำเสนอต่อที่ประชุมกรรมการหรือไม่

4.คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนโดยไม่เป็นธรรม รวบรัด รีบร้อน เร่งรีบ อย่างเป็นพิเศษ อันเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นปฏิปักษ์ ปิดบังพยานหลักฐานในการตรวจพยานหลักฐาน โดยมุ่งแต่จะเอาผิดผู้ถูกกล่าวหาโดยไม่รวบรวมพยานหลักฐานที่อาจพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน จึงถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ได้รับความเสียหาย รวมทั้งมีลักษณะที่ยังมีความเคลือบแคลงน่าสงสัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมและไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น เช่น คดีเกี่ยวกับโครงการประกันราคาข้าวที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับพวกเป็นผู้ถูกกล่าวหา คดีทุจริต ปรส.คดีทุจริตคุรุภัณฑ์อาชีวะศึกษา คดีทุจริตโครงการไทยเข้มแข็ง คดีก่อสร้างสถานีตำรวจ จำนวน 390 กว่าแห่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งสิ้น และเป็นคดีที่มีผู้กล่าวหาก่อนคดีของตน แต่การไต่สวนข้อเท็จจริงของกรรมการ ป.ป.ช. กลับล่าช้า ซึ่งแตกต่างกับคดีของตนซึ่งใช้ระยะเวลาไต่สวนข้อเท็จจริงเพียง 21 วัน ก็แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ที่น่าประหลาดใจก็คือ คดีรับจำนำข้าวของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ เป็นรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวโดยตรงคณะกรรมการ ป.ป.ช.กลับแจ้งข้อกล่าวหาภายหลัง จึงถือว่ามีข้อพิรุธเคลือบแคลงสงสัยในคุณธรรมทางกฎหมายของกระบวนการแห่งคดี

5.การรับฟังพยานบุคคลของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ปากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และปากนายวรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการรับฟังพยานบุคคลที่มีข้อบกพร่องอันกระทบต่อความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานโดยมีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีที่ไม่อาจเชื่อ และไม่อาจรับฟังพยานหลักฐานของบุคคลทั้งสองที่มีลักษณะที่เป็นโทษแก่ตน เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าพยานทั้งสองปากนั้น นอกจากจะสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ยิ่งเป็นพรรคการเมืองที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองและเป็นคู่แข่งทางนโยบายเกี่ยวกับนโยบายการรับจำนำข้าวแล้ว การดำเนินการนโยบายเรื่องข้าวก็ยังมีความแตกต่างกัน อีกทั้งที่มีการกล่าวอ้างว่ามีข้อเท็จจริงเรื่องการทุจริตในทุกขั้นตอนของโครงการรับจำนำข้าว หรือที่มีการอ้างข้อเท็จจริงว่าโครงการรับจำนำข้าวมีการขาดทุน จำนวนกว่า 2 แสนล้านบาทนั้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เป็นการคาดการณ์จินตนาการเท่านั้น จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟัง เพื่อกล่าวหาตนได้

6.มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2557 ที่มีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ชอบด้วยระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการไต่สวนข้อเท็จจริง เพราะการอ้างว่ามีการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว ได้พบว่ามีนายกรัฐมนตรี ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ไม่มีมูลความจริงเพียงพอที่จะมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายกรัฐมนตรี ได้ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว โดยเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทางราชการตามที่มีอำนาจหน้าที่ จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่เริ่มคดี ด้วยการสั่งให้ไต่สวนตนได้ อีกทั้งนายวิชา ได้ให้ข่าวกับสื่อมวลชนตอนหนึ่งว่า “เรามีมติเป็นเอกฉันท์ แต่มีมติอยู่อันหนึ่งที่มีการหารือกันว่าจะแจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปในคราวเดียวกันเลยหรือไม่ แต่ที่ประชุมเห็นว่าควรจะรอไว้ก่อน เพื่อให้โอกาสในการไต่สวนก่อน ซึ่งเราให้ความเป็นธรรมที่สุดแล้ว” เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2557 เท่ากับเป็นการยอมรับอยู่ในตัวว่า ผลการไต่สวนของอนุกรรมการไต่สวนกรณีนายบุญทรง ถือว่าไม่ได้ข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟังว่า นายกรัฐมนตรีมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดดังที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.อ้าง

7.การตรวจพยานหลักฐานไม่ชอบด้วยระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าด้วยการไต่สวนข้อเท็จจริง ปี 2555 ข้อ 40 เพราะในวันตรวจพยานหลักฐาน เมื่อวันที่ 11 มี.ค. กรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกลับมอบเอกสารให้เพียง 12 รายการ จำนวน 49 แผ่น เท่านั้น ส่วนพยานหลักฐานอย่างอื่น อ้างไม่มี แต่นายวิชา กลับไปให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจว่า “แต่เรื่องจำนำข้าวจีทูจี บังเอิญท่านเป็นประธาน กขช.ไม่ใช่รับผิดชอบเฉพาะตัวงานที่เป็นนายกฯ ท่านไปยุ่งเกี่ยวด้วยในฐานะประธาน กขช.มัน 2 ซ้อน ท่านรับรู้ทั้งหมดว่าจะทำอย่างไรเอาจีทูจีหรือไม่ จะบอกว่าไม่ได้รับผิดชอบโดยตรงมอบให้ รมต.ไปดูแลแล้ว มันไม่ใช่ หนีไม่พ้นเลย ท่านรับรู้หมด มีมติในที่ประชุมชัดเจน เวลารายงานท่านสุภา ปิยะจิตติ ซึ่งเป็นรองประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชี ก็ส่งตรงถึงประธานซึ่งก็คือ นายกรัฐมนตรี...” คำว่า “แต่เรื่องจำนำข้าวจีทูจี บังเอิญท่านเป็นประธาน กขช.” และ “...รับรู้หมด มีมติในที่ประชุมชัดเจน...” แสดงว่ายังมีเอกสารเกี่ยวกับจีทูจี และมติที่ประชุม ที่กรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้ให้ตรวจและไม่มอบให้แก่ตน และการที่นายวิชานำข้อเท็จจริงในสำนวนไปเปิดเผยต่อสาธารณชน อันไม่ใช่เป็นประโยชน์แก่ทางราชการ จึงเป็นการขัดต่อกฎหมายและตามระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วย ประมวลจริยธรรม ปี 2555 ข้อ 34

นอกจากนี้ เมื่อตนได้รับเอกสาร จำนวน 49 แผ่น และนำมาตรวจสอบแล้วปรากฏว่า เอกสารลำดับที่ 8-9 นั้น ไม่ได้ให้รายละเอียดคำอภิปรายของนายอภิสิทธิ์ และของนายวรงค์ ให้เฉพาะใบปะหน้าและคำอภิปรายนายอภิสิทธิ์ 1 หน้า และใบปะหน้ากระทู้ถามของนายวรงค์ 1 หน้า โดยไม่มีเอกสารรายละเอียดประกอบ อีกทั้งเมื่อนำเอกสารทั้ง 49 แผ่นไปตรวจสอบกับบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ก็ปรากฏว่าไม่มีเอกสารใดๆ เกี่ยวข้องกับข้อหาในอันที่จะทำให้ตนเข้าใจข้อหาได้ดี จึงขัดแย้งต่อข้อเท็จจริงที่นายวิชาอ้างว่า คดีดังกล่าวได้ไต่สวนมาเป็นปีแล้ว และขัดแย้งกับมติในการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2557 อันแสดงว่าเพิ่งมีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริง โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวน นอกจากนี้จากการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนของนายวิชา แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องมีเอกสารอีกเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น มติที่ประชุมที่นายวิชาให้สัมภาษณ์ ถึงเป็นมติที่ประชุมอะไรที่นายวิชามีอยู่ และเป็นเอกสารในสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงหรือไม่ กรรมการ ป.ป.ช.มิได้ให้ผู้ถูกกล่าวหาตรวจสอบ ปรากฏตามคำร้องขอตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 18 มี.ค. 2557 ในสำนวนคดี

การกระทำของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ไม่มีการให้ทนายความของตนตรวจพยานหลักฐานใด ๆ ทั้งสิ้น และเพียงแต่ถ่ายเอกสาร จำนวน 49 แผ่น มอบให้ทนายความของตนเท่านั้น จึงถือว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปิดบัง ซ่อนเร้นพยานหลักฐานเพื่อไม่ให้ตนได้เข้าใจข้อหาได้ดี และเพื่อไม่ให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้อย่างถูกต้องอันเป็นการเอาเปรียบในเชิงคดี มุ่งแต่จะเอาผิด หรือกล่าวโทษกับตนในลักษณะที่เป็นการฝ่าฝืนต่อหลักการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและถือว่าเป็นการขัดจริยธรรมตามระเบียบ ป.ป.ช.ที่จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานที่อาจพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาด้วย แต่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เป็นองค์คณะในการไต่สวนหาได้กระทำไม่ จึงถือว่าการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในชั้นรับคำร้องและเริ่มคดีนั้น เป็นการดำเนินการที่ถือว่าไม่ชอบด้วยตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.ปี 2542 มาตรา 123/1 โดยเทียบเคียงตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 3509/2549 คดีระหว่าง นายประทีป ปิติสันต์ โจทก์ นายสุกรี สุจิตติกุล จำเลย ตนขออ้างนำสืบพยานบุคคล ราย พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ อดีตกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อหักล้างนำสืบการใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ไต่สวนคำร้องถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 แต่กลับเป็นผู้กล่าวหาร่วมด้วยกับผู้ร้องถอดถอนและพิจารณาคดีคำร้องถอดถอนรวมกันกับคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวหาโดยผิดระเบียบการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตามเนื้อหาประเด็นดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น

นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังชี้แจงว่า ตนมิได้กระทำความผิดในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวตามที่กล่าวหาแต่อย่างใดทั้งสิ้น และลำพังเพียงข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.และตามภาพถ่ายเอกสาร จำนวน 49 แผ่น ที่เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.มอบให้ทนายความเมื่อไปขอตรวจพยานหลักฐานนั้น ก็ไม่เป็นการเพียงพอที่จะชี้ว่ามีมูลความผิดใดๆ ดังที่มีการกล่าวอ้างในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรี ที่ดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ปฏิบัติตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 171 ซึ่งนโยบายรับจำนำข้าวเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ตรงกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 84(8) และความรับผิดชอบของรัฐบาลตามที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 178 ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีตามหลักการพื้นฐาน การแปลงนโยบายเป็นแผนงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และมิได้ละเว้นกระทำการโดยไม่ใช้อำนาจ ตามมาตรา 11(1) แห่ง พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน ปี 2534 เป็นต้น









กำลังโหลดความคิดเห็น