“คำนูณ” ยกเหตุการณ์ปี 49 เปรียบเทียบหากศาลตัดสินเลือกตั้งโมฆะ ชี้เทคนิคทางกฎหมายจะถูกนำมาใช้อีกทำให้ยื้อเลือกตั้งรอบใหม่ออกไปได้ถึง 5 เดือนเศษ เชื่อการต่อสู้จะเข้มข้นยาวนาน ไม่ต่างจากปี 49 แต่ขออย่าให้มีปรากฏการณ์ “บิ๊กบัง 2” เพราะครั้งเดียวก็มากเกินพอแล้ว
วันนี้ (21 มี.ค.) เมื่อเวลา 06.30 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “คำนูณ สิทธิสมาน” ว่า “ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวันนี้ให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และให้จัดการเลือกตั้งใหม่ทั้งกระบวนการ สถานการณ์จากนี้ไปหลายเดือนก็จะเป็นการต่อสู้ที่เข้มข้น โดยเฉพาะในสนามเจรจาต่อรอง แน่นอนว่าจะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ แต่จะไม่ง่าย และไม่เร็ว จะขอยกเหตุการณ์คล้ายกันมากๆ เมื่อปี 2549 มาเป็นตัวเปรียบเทียบ
8 พฤษภาคม 2549 - ศาลรัฐธรรมนูญยุคนั้นวินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบ (มติ 8 : 6) ให้จัดการเลือกตั้งใหม่ทั้งกระบวนการ (มติ 9 : 5) ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินร้องมา (เหมือนวันนี้)
20 กรกฎาคม 2549 - ประกาศพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2549 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอน 75 ก. วันที่ 21 กรกฎาคม 2549)
24 สิงหาคม 2549 - วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ
15 ตุลาคม 2549 - วันเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดขึ้นใหม่
จะเห็นว่านับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ใช้เวลาถึง 2 เดือน 12 วันจึงจะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ และแทนที่จะให้พระราชกฤษฎีกาใหมีมีผลใช้บังคับทันทีอันจะทำให้การเลือกตั้งใหม่ต้องทำภายในไม่เกิน 60 วัน ยังใช้เทคนิคทางกฎหมายให้พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับในอีก 1 เดือน 4 วันข้างหน้า แล้วกำหนดวันเลือกตั้งในอีกเกือบ 60 วันตามบังคับ
รวมแล้วนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กว่าจะถึงวันกำหนดเลือกตั้งใหม่ยังใช้เวลาอีก 5 เดือนเศษโดยประมาณ
กระนั้นก็ไม่ได้เลือกตั้งใหม่อยู่ดี เพราะมีเหตุเกิดขึ้นก่อน 26 วัน
สถานการณ์ ณ ปี 2549 ก็มีการชุมนุมต่อต้านระบอบทักษิณเหมือนวันนี้ และการเลือกตั้งครั้งแรกพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ลงสมัครเหมือนวันนี้ ระยะเวลา 2 เดือน 12 วันแรกคือระยะเจรจาระหว่าง กกต.กับทุกฝ่าย เมื่อลงตัวพอสมควรแล้วยังทอดระยะเวลาอีก 1 เดือน 4 วันจึงจะมีผลเริ่มต้นกระบวนการใหม่
เชื่อว่าวันนี้ปีนี้เทคนิคทางกฎหมายแบบเดียวกันก็จะถูกนำมาใช้อีก
ดังนั้นหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะในวันนี้ กว่าจะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ กกต.จึงมีเวลาเจรจาหาข้อสรุปกับทุกฝ่ายได้อีก 1-2 เดือน และมีระยะทอดเวลาให้พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับหลังประกาศอีก 1 เดือน
สรุปแล้วกว่าจะถึงกำหนดวันเลือกตั้งใหม่คงไม่เร็วกว่าปลายเดือนสิงหาคม 2557
และระหว่างทางจากนี้ไปก็จะมีปรากฏการณ์ทางกฎหมายอื่นส่งผลลบต่อรัฐบาลเหมือนเมื่อปี 2549 เช่นกัน แน่นอนว่าการชุมนุมมวลชนก็ยังคงดำรงอยู่เหมือนกัน แต่ทุกประการก็ยังคงไม่ลงตัวเหมือนกัน
สถานการณ์เช่นนี้ การเมืองที่เล่นกันหลังฉากโดยทุกฝ่ายเข้มข้นยิ่งนัก!
ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยปี 2549 ทั้งหมดหรือไม่? ไม่รู้!
ถ้าเลือกได้ ขออย่าให้มีปรากฏการณ์ “บิ๊กบัง 2” เป็นพอ
ครั้งเดียวก็มากเกินพอแล้ว!”