เผย 6 ขั้นตอนโรดแมปการเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาล-กปปส.6 องค์กรตามรัฐธรรมนูญเตรียมแถลงพรุ่งนี้ วาง 4 ประเด็นให้สองฝ่ายหาข้อยุติ จะปฏิรูปหรือเลือกตั้งก่อน รูปแบบรัฐบาลรักษาการก่อนเลือกตั้ง พร้อมให้สังคมร่วมส่งเสริม-กดดันเจรจา รับฟังคำตอบทุกฝ่าย ระบุ “ผบ.ทบ.” เห็นด้วยแล้ว
รายงานข่าวแจ้งว่าในการแถลงของ 6 องค์กรตามรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอตัวเป็นคนกลางในการให้คู่ขัดแย้งคือ รัฐบาลและแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือ กปปส.ได้เจรจาเพื่อทางออกประเทศนั้น จะมีการเสนอกรอบเนื้อหาการเจรจากับสองฝ่ายรวม 4 ประเด็น และแผนที่ความสำเร็จ หรือ Road Map การเจรจา 6 ขั้นตอน โดยกรอบเนื้อหาการเจรจา 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ท่าทีต่อการเลือกตั้งในฐานะทางออกของประเทศในประเด็นว่าจะเดินหน้าเลือกตั้งหรือปฏิรูปการเลือกตั้ง หรือจะมีข้อเสนอใหม่ที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย 2.พันธสัญญาในประเด็นปฏิรูปประเทศที่จะทำก่อนการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้งในประเด็นว่า ก่อนเลือกตั้งต้องปฏิรูปอะไร หลังเลือกตั้งจะปฏิรูปอะไร และมีหลักประกํนอะไรที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ 3.รูปแบบของรัฐบาลรักษาการที่เป็นกลางและเป็นที่เชื่อถือในช่องก่อนเลือกตั้ง ในประเด็นว่ารัฐบาลปัจจุบันควรรักษาการจนวันเลือกตั้ง หรือจะมีข้อเสนออื่นเพื่อให้มีรัฐบาลที่เป็นกลางและเป็นที่ยอมรับโดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และ 4.การยุติความรุนแรงและพฤติกรรมทำร้ายประเทศ ในประเด็นว่า จะมีวิธีการอย่างไรเพื่อยุติความรุนแรง และพฤติกรรมการทำร้ายประเทศโดยแต่ละฝ่ายมีข้อเสนอต่ออีกฝ่ายและแนวทางของฝ่ายตนเอง
ส่วนโรดแมปการเจรจา 6 ขั้นตอน ก็จะประกอบด้วย 1.การประกาศต่อสาธารณะและให้สังคมมีส่วนร่วมในการส่งเสริม กดดันให้เกิดการเจรจา 2.การเดินสายเพื่อรับฟังแนวคำตอบของแต่ละฝ่าย 3.การสังเคราะห์ ข้อเสนอทั้งสองฝ่ายและสร้างข้อเสนอใหม่ที่เป็นกลาง และคาดว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะยอมรับได้ 4.การประสานและเจรจาทางลับเพื่อปรับข้อเสนอของทั้งสองฝ่ายให้เข้าใกล้กันมากที่สุด 5.การประชุมอย่างเป็นทางการระหว่างผู้มีอำนาจสูงสุดของทั้งสองฝ่ายเพื่อสร้างข้อยุติที่ยอมรับได้โดยมี 6 องค์กรตามรัฐธรรมนูญทำหน้าที่คนกลางในการประชุม และ 6.การร่วมแถลงผลการเจรจาต่อสาธารณะ ซึ่งทั้งหมดจะมีการแถลงรายละเอียดในวันพรุ่งนี้ โดยจะมีการแถลงถึงความห่วงใยขององค์กรตามรัฐธรรมนูญต่อสถานการณ์ปัจจุบันและความจำเป็นในการเจรจาหาทางออกด้วย
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ที่มาของการแถลงเสนอตัวเป็นคนกลางของ 6 องค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้นมาจากเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมขององค์กรตามรัฐธรรมนูญระดับองค์ ซึ่งที่ประชุมได้พูดคุยถึงปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมือง โดยนายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เสนอให้ 7 องค์กรตามรัฐธรรมนูญในขณะนั้น (รวมอัยการสูงสุด) ควรเข้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและหาทางออกให้กับประเทศ โดยอาจจะเป็นผู้จัดเวทีทั้งแบบลับและเปิดเผยเพื่อให้คู่ขัดแย้งมีการเจรจา โดยมีการระบุให้ใช้สถานที่ราชการแห่งหนึ่งเป็นที่เจรจา รวมถึงมีการระบุว่า การรวมพลังของ 7 องค์กรตามรัฐธรรมนูญในฐานะคนกลางเพื่อทำหน้าที่ผู้ประสานการเจรจานั้น ผู้บัญชาการทหารบก เห็นว่าแนวทางดังกล่าวมีความเหมาะสมและยินดีเข้าร่วมกับ 7 องค์กรในการเปิดเวทีเจรจาแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ซึ่งถือว่าอยู่ในจังหวะเหมาะสมที่สุด และเห็นว่ากรณีที่รัฐบาลจะให้ต่างชาติมาร่วมเจรจาเกรงว่าไม่เหมาะสม และนายโอกาสรับที่จะเป็นคนไปพูดคุยกับฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.เกี่ยวกับการจัดเวทีการเจราจาและนำไปหารือกับ ผบ.ทบ.โดยที่ประชุมในวันนั้นได้ข้อสรุปในการเห็นควรว่า 7 องค์กรเจ้าภาพ และเป็นสักขีพยานในการจัดเวทีเจรจาให้แก่คู่ขัดแย้ง แต่ยังไม่ได้ว่าผู้ใดที่มีความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่เป็นทูตหรือคนกลางในการเจรจา กรอบเจรจา และประเด็นควรเป็นอย่างไร จึงได้มีการนัดประชุมในวันที่ 14 มี.ค.จนที่สุดก็ได้กรอบเนื้อหาเจรจา 4 ประเด็นและแผนที่ความสำเร็จ 6 ขั้นตอนที่นำไปสู่การแถลงรายละเอียดในวันพรุ่งนี้