xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ดึงคนนอกร่วมปฏิรูป ห่วง “ปู” ให้สาวกป่วนขู่คดีโกงข้าว ซัดปัดสวะถูกยกเลิก GSP

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
โฆษก ปชป.เผยที่ประชุม กก.บห.พรรคตอบรับบุคคลภายนอก 4-5 คนร่วมปฏิรูป ชี้ รบ.ปลดล็อกขัดแย้งพร้อมเลือกตั้งหวังชนะ ห่วงนายกฯ ตกที่นั่งลำบากจำนำข้าว ทำให้การเมืองเดือดขึ้น ใช้ความรุนแรง คุกคาม หวังศาลกลัว ดิสเครดิตองค์กรอิสระ ใช้ข้อ กม.ขู่ ป.ป.ช. และให้แดงแย้มแยกประเทศ นำปัญหาตัวเองเป็นปัญหาชาติ ทำขัดแย้งหนัก ประสานเสียงโฆษก กปปส. ฉะโบ้ยการเมืองทำถูกตัดสิทธิ GSP ตอก 1 ปีเต็มไม่ทำอะไร

วันนี้ (6 มี.ค.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุตย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมกรรมการบริหารพรรคว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงแนวทางการปฏิรูปพรรค โดยขณะนี้มีตอบรับบุคคลภายนอกเข้ามาช่วยงานปฎิรูปพรรคประมาณ 4-5 คน โดยเป็นอดีต ส.ว. อดีตอธิบดีที่เคยทำงานราชการ อดีตนักวิชาการอิสระ และเอ็นจีโอ ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ โดยการลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง และพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองใหญ่ หากรัฐบาลปลดล็อกเงื่อนไขความขัดแย้ง ทำให้การเลือกตั้งมีความน่าเชื่อถือ สามารถเป็นทางออกประเทศ พรรคยินดีที่จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งอย่างแน่นอน ทั้งนี้การจัดตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นมาเป้าหมายหนึ่งคือเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคแสดงความเป็นห่วงถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กำลังตกที่นั่งลำบากโดยเฉพาะกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แจ้งข้อกล่าวหา และกำลังจะมีการพิจารณาเอาผิดต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในกรณีโกงจำนำข้าว ซึ่งนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่ากรณีทุจริตรับจำนำข้าว ผู้มีอำนาจวิตกและหวาดกลัวที่จะถูกดำเนินคดี ซึ่งพรรคได้วิเคราะห์ว่าสาเหตุดังกล่าวน่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ร้อนแรงขึ้น เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย พยายามใช้องคาพยพส่วนอื่นของสังคมไทยแก้ไขปัญหารทุจริตคอร์รัปชันของตนเอง เช่น 1. การพยายามใช้ความรุนแรง ข่มขู่ คุกคามฝ่ายที่เห็นต่าง เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องการสร้างความหวาดกลัว เพื่อหวังให้กระบวนการยุติธรรมจะเกรงกลัวอิทธิพลมืด และปล่อย น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้พ้นผิดจากการทุจริตคอร์รัปชัน 2. เพื่อลดความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระ ผ่านการให้สัมภาษณ์ของนายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม ถือเป็นความรุนแรงทางจริยธรรม โดยเฉพาะนายชัยเกษม เป็นอดีตอัยการสูงสุด และตำแหน่งดังกล่าวก็ให้กำเนิดนายชัยเกษม แต่กลับพูดจาลดความน่าเชื่อถือกระบวนการยุติธรรมของไทย ตรงนี้เปรียบเหมือนการกินบนเรือนขี้รดบนหลังคาของข้าราชการในระบอบทักษิณ ที่เปลี่ยนแปลงตัวเองถึงขนาดย่ำยีคนที่ให้กำเนิดอนาคตของตนองขึ้นมาได้

นายชวนนท์กล่าวต่อว่า 3. พยายามใช้ข้อกฎหมายมาข่มขู่การทำงานของ ป.ป.ช.เพราะมีข่าวว่านายสุนัย จุลพงศธร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย จะยื่นถอดถอนนายวิชา ต่อวุฒิสภา เพราะเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์เรื่องทุจริตจำนำข้าว 4. พรรคประชาธิปัตย์มีความกังวลมากที่สุด กรณีที่พยายามนำคนเสื้อแดงมาเป็นเกราะป้องกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ และมีการพูดถึงการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งคาดว่าจะนำเรื่องนี้ขึ้นมาต่อรองกับกระบวนการทางกฎหมายของประเทศ เพราะน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่สามารถรับกระบวนการยุติธรรมของไทยได้ โดยกำลังนำปัญหาส่วนตัวมาเป็นปัญหาประเทศ และของคนสองกลุ่ม ซึ่งจะสร้างความขัดแย้งไม่รู้จบ ซึ่งน่ากลัวในเรื่องนี้ เพราะพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เคยนำยุทธศาสตร์ลักษณะนี้มาใช้

นายชวนนท์กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โพสต์เฟซบุ๊กระบว่าสถานการณ์การเมืองทำให้ประเทศไทยถูกลดการได้สิทธิพิเศษ อัตราภาษีศุลกากร หรือ GSP (Generalized System of Preferences) ส่งผลให้การเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป หรือ EU ทำไม่ได้ เนื่องจากปัญหาทางการเมือง ตนคิดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์กำลังลักไก่พยายามนำเรื่องการเมืองมากลบปัญหาอื่น แต่ความจริงแล้วการที่ไทยหมดสิทธิในเรื่องนี้เพราะ 1. อัตรารายได้ประชากรในประเทศไทยยกระดับสูงขึ้น พ้นขีดที่ประเทศในยุโรปจะให้สิทธิพิเศษ ไม่ใช่เรื่องของการเมือง หรือการไร้ความสามารถของกลุ่มบุคคลใด 2. เมื่อไทยพ้นการได้รับ GSPแล้ว ก็ต้องไปเจรจา FTA กับ EU เพื่อรับสิทธิในการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร และมาตรการอื่นๆ อย่างไรก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์มักจะนำเหตุการณ์ทางการเมืองไปผูกติดเรื่องอื่น เพื่อดิสเครดิตการชุมนุมเพื่อใส่ร้าย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ทำซ้ำอย่างไม่ละอาย ตนขอให้ตระหนักด้วยว่าผลเสียที่เกิดขึ้น ณ วันนี้เกิดจากต้องการอำนาจและหวงอำนาจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์

ขณะที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการ ว่าสหภาพยุโรปปรับหลักเกณฑ์การให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือที่เรียกกันว่า GSP ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป การปรับครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่จะถูกยกเลิกสิทธิ GSP ในขณะที่ประเทศที่เป็นคู่แข่งทางการค้าไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม อินเดีย และอื่นๆ ยังคงได้รับสิทธิพิเศษนี้ต่อไป ดังนั้น ประเทศไทยจะสูญเสียความได้เปรียบทางการค้า ดังนั้น รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป หรือที่เรียกกันว่าFTA (Free Trade Agreement) เพื่อให้ประเทศไทยได้รับสิทธิทางการค้าอื่นๆ เป็นการชดเชยการเสียสิทธิพิเศษ GSP และเพื่อเป็นการเพิ่มความได้เปรียบทางการค้า (แต่ต้องไม่เจรจาให้ไทยเสียสิทธิอื่นๆ หรือเสียเปรียบนะครับ)

“ทั้งหมดที่พูดมาเป็นข้อเท็จจริงที่ผมเห็นตรงกับข้อความที่คุณยิ่งลักษณ์โพสต์ในFacebook แต่ปัญหาก็คือ วันนี้มีแนวโน้มว่าการเจรจา FTA ไม่น่าจะเสร็จทันก่อนที่การปรับหลักเกณฑ์ GSP ใหม่มีผลบังคับใช้ในปี 2558 แต่คุณยิ่งลักษณ์แทนที่จะระดมความรู้ความสามารถของบุคลากรในรัฐบาลและส่วนราชการทั้งหมดเพื่อเร่งดำเนินการแก้ปัญหาให้กระบวนการการเจรจา FTA นั้นสำเร็จเสร็จสิ้นให้เร็วที่สุด แต่กลับมาโทษปัญหาทางการเมือง เช่นเดียวกับปัญหาเงินค่าข้าวที่ไม่สามารถจ่ายคืนชาวนาได้มาเป็นเวลากว่าครึ่งปีแล้ว ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างที่ถูกบิดเบือนจากข้อเท็จจริง อ้างลอยๆ ใช้วาทกรรมหรูๆ แต่ไร้หลักการและเหตุผล หวังสร้างกระแสกดดันเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง”

โครงการ GSP ของสหภาพยุโรปเริ่มมาตั้งแต่ปี 2514 จะมีการปรับหลักเกณฑ์ของโครงการทุกๆ 10 ปี ปัจจุบันอยู่ในรอบที่ 4 ในช่วงปี 2549-2558 โครงสร้างของโครงการ GSP ใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้กับไทยตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไปถูกประกาศตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. 2555 เพราะฉะนั้นรัฐบาลทราบดีอยู่แล้วว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ตามรอบของโครงการและที่สำคัญรายละเอียดของหลักเกณฑ์ใหม่ก็ได้มีการประกาศให้ทราบตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. 2555 แล้ว หลังจากที่มีการประกาศหลักเกณฑ์ใหม่รัฐสภาก็เร่งพิจารณากรอบการเจรจา FTA ไทย-ยุโรป ซึ่งรัฐสภาก็ได้มีมติเห็นชอบในวันที่ 29 ม.ค. 2556 เพื่อให้รัฐบาลและฝ่ายข้าราชการได้เร่งเจรจาความตกลงต่อไป ก็มีเวลากว่า 1 ปีเต็มๆ แล้วที่ผ่านมาท่านนายกฯมัวไปทำอะไรอยู่

อันที่จริงก็มีการจัดประชุมเพื่อเจรจาความตกลงทั้งหมด 3 ครั้งมาแล้ว ครั้งสุดท้ายจัดขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ในเดือน ธ.ค. 2556 และครั้งต่อไปก็ถูกกำหนดให้มีการประชุมภายในเดือนหน้า ซึ่งตามปกติการประชุมจะถูกกำหนดขึ้นทุกๆ 3-4 เดือน มีข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ได้ยืนยันกับผมว่าการประชุมยังเดินหน้าเหมือนเดิมครับ

“แล้วที่คุณยิ่งลักษณ์มาอ้างว่าทางสหภาพยุโรประงับการเจรจา ด้วยเหตุผลเนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมือง และความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มันจริงหรือไม่อย่างไร ถ้าเป็นความจริงช่วยกรุณานำหลักฐานมาแสดงด้วย การแสดงออกของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยิ่งทำให้เห็นว่าไม่เข้าใจและไม่ตั้งใจที่จะทำความเข้าใจ เหมือนกับการที่ท่านได้ทำให้ประเทศไทยต้องเสียโอกาสที่จะจัดงาน World Expo มาแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์อย่าได้เอาทุกปัญหามาโยงกับเหตุการณ์ทางการเมือง โทษคนอื่นดื้อๆ โดยไม่มีเหตุผล คนที่ทำผิดถ้ารับผิดแล้วปรับแก้ยังสามารถให้อภัย แต่ถ้าทำผิดและตั้งใจกล่าวอ้างผิดๆ เพื่อโยนความผิดให้คนอื่น คงไม่สามารถให้อภัยได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น