ศูนย์วิจัย ม.กรุงเทพ สำรวจนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติพบ 94% ทราบข่าวการชุมนุมประท้วง แต่ไม่มีผลต่อการตัดสินใจ 61% เห็นว่ารุนแรงน้อยกว่าที่คิด 33% ระบุที่ต้องมาเพราะมีแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องมาให้ได้ 84% คิดว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่มีผลต่อการตัดสินใจมาเที่ยว แนะควรให้ข้อมูลและแผนที่เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางการชุมนุม
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “การท่องเที่ยวประเทศไทยของชาวต่างชาติ ท่ามกลางการชุมนุมประท้วง” โดยเก็บข้อมูลจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 1,094 คน พบว่า ชาวต่างชาติ ร้อยละ 96.4 ทราบข่าวการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้น ก่อนการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย ขณะที่ร้อยละ 3.6 ไม่ทราบ โดยในจำนวนผู้ที่ทราบบอกว่าเหตุผลที่ทำให้ยังตัดสินใจมาท่องเที่ยว เพราะประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องมาให้ได้ ร้อยละ 33.8 รองลงมาคือ สถานที่ที่ตั้งใจจะไปไม่มีการชุมนุมประท้วง ร้อยละ 32.3 ซื้อตั๋วเครื่องบิน แพ็กเกจที่พักไว้แล้ว ร้อยละ 15.4 และการชุมนุมไม่อันตรายร้ายแรง ร้อยละ 14.9
ส่วนการการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผลต่อการตัดสินใจมาท่องเที่ยวประเทศไทยในระดับใด ร้อยละ 84.4 เห็นว่ามีผลน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 15.6 เห็นว่ามีผลมากถึงมากที่สุด ทั้งนี้เมื่อถามต่อว่ามีการปรับตัวอย่างไรบ้าง ในการท่องเที่ยวประเทศไทยท่ามกลางการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้น ร้อยละ 46.5 บอกว่า หลีกเลี่ยงสถานที่ท่องเที่ยวที่มีการชุมนุมในกรุงเทพฯ รองลงมาร้อยละ 34.6 บอกว่า ไม่ต้องปรับตัว/ท่องเที่ยวได้หมด และร้อยละ 23.4 บอกว่าต้องวางแผนวันต่อวัน และติดตามข่าวสารตลอดเวลา
สำหรับการสัมผัสบรรยากาศการท่องเที่ยวในพื้นที่การชุมนุม (เช่น แถวสยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ ชิดลม) พบว่า ชาวต่างชาติร้อยละ 59.1 ไม่มีโอกาสสัมผัส ขณะที่ร้อยละ 40.9 ได้มีโอกาสสัมผัส
ส่วนสิ่งที่อยากให้ปรับปรุงการให้บริการการท่องเที่ยวในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงมากที่สุดคือ ควรมีการให้ข้อมูลการท่องเที่ยว การเดินทาง หรือแผนที่บอกเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีการชุมนุมประท้วง ร้อยละ 32.5 รองลงมาคือ ควรมีการอัปเดตข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงเป็นภาษาอังกฤษวันต่อวัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว ร้อยละ 27.0 และอยากให้มีการดูแลระบบขนส่งสาธารณะให้ดีกว่านี้ รถโดยสารไม่สามารถเข้ามาส่งถึงแหล่งท่องเที่ยวที่มีการชุมนุมได้ รวมถึงรถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก มีการโก่งค่าโดยสาร ร้อยละ 14.5
เมื่อสอบถามนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติถึงความต้องการจะกลับมาเที่ยวประเทศไทยอีกหรือไม่ ในโอกาสถัดไป ร้อยละ 89.9 ระบุว่าจะกลับมาอีก มีเพียงร้อยละ 1.3 เท่านั้นที่ระบุว่าจะไม่กลับมาอีก และเมื่อถามต่อว่ายินดีที่จะแนะนำหรือบอกต่อให้ผู้อื่นมาเที่ยวประเทศไทยหรือไม่ ร้อยละ 94.6 ระบุว่าจะแนะนำหรือบอกต่อ มีเพียงร้อยละ 1.0 เท่านั้นที่ระบุว่าจะไม่แนะนำ
สุดท้ายเมื่อถามว่าในภาพรวมเมื่อมาเที่ยวประเทศไทยแล้ว คิดว่าการชุมนุมประท้วงมีความรุนแรงเป็นอย่างไร กับที่คิดไว้ก่อนเดินทางมา ร้อยละ 61.5 เห็นว่ารุนแรงน้อยกว่าที่คิดไว้ และร้อยละ 27.5 เห็นว่ารุนแรงพอๆ กับที่คิดไว้ ขณะที่ร้อยละ 11.0 เห็นว่ารุนแรงมากกว่าที่คิดไว้