“ยิ่งลักษณ์” อ้างยุบสภารับผิดชอบบริหารล้มเหลวแล้ว ย้ำรักษาการตามรัฐธรรมนูญ ชี้นายกฯ คนกลางเข้ามาก็ไม่มีอำนาจ แนะช่วยกันรักษาประชาธิปไตย ไม่อยากเห็นฉีกรัฐธรรมนูญ โว 20 ล้านคนหนุนเดินหน้าต่อ ปัดรัฐละทิ้งชาวนา โบ้ยข้อจำกัดเยอะทำจ่ายไม่ได้ ยันจี้อยู่ อย่าโยงเรื่องการเมืองจะทำได้เงินช้า แต่ไม่พูดให้จ่ายได้เมื่อไหร่
วันนี้ (7 ก.พ.) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เมื่อเวลา 15.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แนะให้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เพื่อเปิดทางให้นายกฯ คนกลางเข้ามาแก้ปัญหา เนื่องจากบริหารงานล้มเหลวว่า คงต้องพูดคำเดิม ในแง่การทำงานเราแสดงความรับผิดชอบด้วยการยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ดังนั้นหลังยุบสภา ครม.มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องปฏิบัติ หากจะหานายกฯ คนกลาง ก็ต้องถามว่าการที่นายกฯ คนกลางมาทำงานภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ จะมีกฏข้อไหนในการทำและภายใต้การทำงานด้วย พ.ร.บ.ยุบสภา ก็ไม่มีอำนาจต่างจากตนเองทำอยู่ คือทำได้เท่าที่อยู่ในระหว่างมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.เลือกตั้ง
นายกฯ กล่าวว่า แต่ถ้าจะเข้ามามีอำนาจมากกว่านี้ คือการฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งวันนี้เราต้องช่วยกันรักษาประชาธิปไตยนั้นคือสิ่งสำคัญหลัก นอกเหนือจากหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เราต้องช่วยกันประคับประคองให้สามารถผ่านวิกฤตต่างๆ ได้ โดยรักษากลไกให้ระบอบประชาธิปไตยเดินได้
เมื่อถามว่า นายกฯ คิดว่ากลุ่มที่ต้องการฉีกรัฐธรรมนูญจะสามารถทำสำเร็จหรือไม่ในห้วงเวลานี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ต้องขึ้นอยู่กับทุกคน ถ้าทุกคนร่วมกันบอกว่านี่ไม่ใช่ทางออกของประเทศ และประเทศเราต้องการประชาธิปไตย ไม่ต้องการเห็นการฉีกรัฐธรรมนูญ ก็ช่วยกันในการแกั อันนี้คือสิ่งสำคัญ ตนเองคงไม่สามารถอยู่ในภาวะที่จะบอกได้ เราต้องให้คนส่วนใหญ่ร่วมกันบอกว่า เราต้องมาร่วมกันรักษาประชาธิปไตย อย่างน้อยในส่วนของการเลือกตั้ง เราจะถกเถียงกันว่าเสียงของใครมากหรือน้อย ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะเป็นตัวบอก แต่สิ่งที่เป็นตัวบอกคือ อย่างน้อยคน 20 ล้านคน ต้องการรักษาระบอบประชาธิปไตย ต้องการให้ประเทศเดินต่อไป
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงความมั่นใจให้กับชาวนาในการจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวว่า ในส่วนของพี่น้องชาวนาที่มีใบประทวน ซึ่งตามหลักเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ต้องมีหน้าที่ชำระให้กับชาวนาอยู่แล้ว แต่เนื่องจากขั้นตอนต่างๆ มีข้อจำกัดหลายอย่าง และมีหลายกระบวนการทำให้รัฐบาลทำงานยากลำบาก
“ดังนั้นต้องขอความเห็นใจ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลนี้จะละทิ้งประชาชน ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะทิ้งความเดือดร้อน และละทิ้งประชาชนโดยที่ไม่สนใจเหลียวแลแต่หลายๆ อย่างเป็นเรื่องข้อจำกัดที่รัฐบาลได้พยายามให้กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเร่งทำงานให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และผู้ที่เกี่ยวข้อง หวังว่าจะได้เร่งหาทางออกให้ประชาชน และต้องขอความเห็นใจจากชาวนาทุกคน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องหาทุกวิถีทางในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน” นายกฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายการเมืองตรงข้ามพยายามที่จะนำเรื่องการจ่ายเงินล่าช้าให้กับชาวนาไปโยงผสมกันเป็นเรื่องการเมือง นายกฯ กล่าวว่า ตนไม่อยากให้นำความเดือดร้อนประชาชนมาใช้เป็นประเด็นทางการเมือง เพราะจะทำให้กระบวนการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหารวนไปหมด ถ้าสมมติว่ามีขบวนการมองเป็นเรื่องของการเมือง ก็จะมีการพูดกันต่างๆ นานา ฉะนั้นกลไกในการแก้ปัญหา ก็จะมีความกังวล ทุกกระบวนการไม่ใช่ว่าต้องทำได้คนเดียวจะต้องมีการขอความร่วมมือ ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดความยากลำบากสุดท้ายคนที่เดือดร้อนคือชาวนา แทนที่จะได้รับเงินเร็ว กลับได้รับเงินช้า
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์อ้างว่ารัฐบาลไม่ได้จ่ายเงินชาวนามา 6 เดือนแล้วนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ได้ชี้แจงแล้ว ซึ่งบางส่วนมีรายละเอียดกติกาต่างๆ โดยกระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินการ คิดว่ามีจำนวนไม่มาก กระทรวงพาณิชย์ทราบปัญหาแล้ว
ต่อกรณีชาวนาอยากได้ความชัดเจนเรื่องการจ่ายเงินรับจำนำข้าว นายกฯ กล่าวว่า ต้องขอเวลาหน่วยงานที่ลงไปทำงาน ซึ่งระยะเวลาในการจ่ายบางพื้นที่ แตกต่างกัน และแน่นอนผู้ที่เข้ามาก่อน คงต้องได้รับเงินเร็ว อย่างไรก็ตาม ในส่วนผู้มีมีใบประทวน ข้าวก็อยู่ในคลังของรัฐแล้ว ยังไงทุกรัฐบาลต้องมาจ่าย อย่างรัฐบาลนี้ตอนที่เข้ามา อะไรเป็นข้อสัญญาของรัฐบาลกับประชาชน ทุกรัฐบาลเป็นภาระที่ต้องจ่าย ยังไงก็ตามประชาชนยังจะต้องได้รับเงิน
เมื่อถามว่า หากยังไม่มีรัฐบาลใหม่ก็ยังไม่สามารถจ่ายเงินได้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ มีกระบวนการอยู่ ตามขั้นตอนของกฎหมาย อาจจะไม่ได้เกิดความคล่องตัว เหมือนตอนไม่ยุบสภา ยืนยันทุกฝ่ายทำงานอย่างเต็มที่
“ขอความกรุณการดูแลพี่น้องชาวนา ขอให้เป็นขั้นตอนในการทำงาน อย่ามองไปเป็นประเด็นการเมืองเลย อย่าให้ประเด็นการเมืองมาทำให้ชาวนาต้องเดือดร้อน และทำให้กระบวนการในการทำงานช้าลง เพราะไปมองเป็นประเด็นการเมืองหมด” นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รอคำตอบจากนายกฯ จะแย้งกรรมการบางคนหรือไม่ในคณะกรรมการไต่สวน นายกฯ ตอบว่า ยังมีข่ายระยะเวลาในการทำงานอยู่ ก็ต้องขอเวลาทำงาน ซึ่งได้ทำตามขั้นตอน และขอยังไม่ตอบจะแย้งคณะกรรมการบางคนหรือไม่