เลขาฯ กกต.สรุปเบื้องต้น เหนือ-อีสานเปิดเลือกตั้งได้ครบ ตะวันออกปิด 5 เขต ใต้ เปิดได้แค่ 6 จว. ภาพรวม 68 จว.โหวตได้ ด้าน ผอ.เลือกตั้งปัตตานี ระบุเหตุโจรใต้บึ้มป่วนจนปลัด อ.โคกโพธิ์สิ้นชีพพร้อมทหารอีก 3 ไม่เกี่ยวการเมืองหลัก
วันนี้ (2 ก.พ.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงภาพรวมหลังเปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง 77 จังหวัดในเวลา 08.00 น.ว่า เบื้องต้นภาคกลาง ภาคตะวันออก รวม 26 จังหวัด รวม 127 เขต สามารถเปิดการลงคะแนนได้ใน 26 จังหวัด 122 เขต มีเพียง 5 เขตที่เปิดการลงคะแนนไม่ได้, ภาคเหนือ 16 จังหวัด รวม 66 เขต สามารถเปิดการลงคะแนนได้ครบ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด 126 เขตสามารถเปิดการลงคะแนนได้ครบ, ภาคใต้ 15 จังหวัด 56 เขต สามารถเปิดหน่วยเลือกตั้งได้ 6 จังหวัด 19 เขต ไม่สามารถเปิดได้ 9 จังหวัด 37 เขต รวม 77 จังหวัด 375 เขต สามารถเปิดลงคะแนนได้ 68 จังหวัด 333 เขต มีเพียง 10 จังหวัด 42 เขตที่ไม่สามารถเปิดการลงคะแนนได้
โดยในกรุงเทพมหานคร 33 เขต มีหน่วยเลือกตั้งใน 5 เขตเลือกตั้งที่เปิดการลงคะแนนไม่ได้ แยกเป็นจากเหตุถูกปิดล้อม 3 เขตเลือกตั้ง ประกอบด้วย เขตเลือกตั้งที่ 5 ราชเทวี เปิดไม่ได้ 86 หน่วยเลือกตั้งจากทั้งหมด 231 หน่วย, เขตเลือกตั้งที่ 6 ดินแดง เปิดไม่ได้ 175 หน่วยเลือกตั้งจากทั้งหมด 265 หน่วย และเขต 11 หลักสี่ เปิดไม่ได้ 128 หน่วยเลือกตั้ง จากทั้งหมด 156 หน่วย ส่วนอีก 2 เขตเลือกตั้ง คือ เขตเลือกตั้งที่ 15 บางกะปิ เปิดไม่ได้ 38 หน่วยเลือกตั้งจาก 164 หน่วยเลือกตั้ง และเขตเลือกตั้งที่ 16 บึงกุ่มเปิดไม่ได้ 10 หน่วยเลือกตั้งจาก 215 หน่วยเลือกตั้ง โดยมาจากเหตุไม่มีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมารับหีบบัตรเลือกตั้ง จึงไม่มีการเปิดหน่วยลงคะแนน
ทั้งนี้ ในส่วนของเขตหลักสี่ ที่ประกอบไปด้วย แขวงบางเขน ทุ่งสองห้อง และแขวงสนามบินของเขตดอนเมืองนั้น มีเพียง 28 หน่วยเลือกตั้งของแขวงสนามบินที่สามารถเปิดลงคะแนนได้ เนื่องจากอุปกรณ์และบัตรเลือกตั้งถูกส่งไปไว้ที่เขตดอนเมือง จึงทำให้สามารถนำมาทำการเปิดหน่วยเลือกตั้งได้และไม่มีการปิดล้อมของมวลชน
สำหรับกรณีภาคใต้นั้น ที่ไม่สามารถเปิดการลงคะแนนได้ทั้งจังหวัด เนื่องจากไม่มีผู้สมัคร ส.ส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ไม่มีบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ไม่มีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งไปปฏิบัติหน้าที่ มีการปิดล้อม มีทั้งสิ้น 9 จังหวัด คือ สงขลา ตรัง พัทลุง ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ระนอง กระบี่ ชุมพร และพังงา ขณะที่ จ.สตูล ยะลา นราธิวาส และปัตตานี สามารถเปิดการลงคะแนนได้ แต่จะไม่มีการลงคะแนนระบบบัญชีรายชื่อ ส่วน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดการลงคะแนนได้ในเขตเลือกตั้งที่ 1 จำนวน 194 หน่วย และเปิดไม่ได้เพียง 19 หน่วย ขณะที่หน่วยเลือกตั้งที่ 2 เปิดการลงคะแนนได้175 หน่วย เปิดไม่ได้ 33 หน่วยเลือกตั้ง และเขตเลือกตั้งที่ 3 เปิดการลงคะแนนได้ 69 หน่วย เปิดไม่ได้ 133 หน่วย จ.นครศรีธรรมราช เปิดการลงคะแนนได้ 4 เขต คือ เขตเลอืกตั้งที่ 1, 5, 6 และ 9 และเปิดการลงคะแนนไม่ได้คือ เขตเลือกตั้งที่ 2, 3, 4, 7 และ 8 ซึ่งเป็นการลงคะแนนเฉพาะแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
นายภุชงค์ยังกล่าวด้วยว่า ในกรณีของ จ.ปัตตานี มีรายงานว่า เมื่อคืนวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา นายจักรตรา พรหมแก้ว ปลัด อ.โคกโพธิ์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้งที่ 4 ของเขตเลือกตั้งที่ 2 จ.ปัตตานี ได้เสียชีวิตจากเหตุลอบวางระเบิดพร้อมทหารอารักขาอีก 3 นาย ระหว่างตรวจเหตุการณ์ปะทะระหว่างผู้ก่อความไม่สงบกับชุดป้องกันหมู่บ้าน
นายประภาส ไชยนาพงษ์ ผอ.เลือกตั้ง จ.ปัตตานี กล่าวว่า เหตุการณ์เสียชีวิตดังกล่าวเชื่อว่าไม่ได้เกิดจากปัญหาการเลือกตั้ง แต่เป็นกรณีความไม่สงบในพื้นที่ เนื่องจากมีการปะทะกันระหว่างผู้ก่อความไม่สงบกับชุดรักษาคุ้มครองหมู่บ้าน นายจักรตราในฐานะปลัดอำเภอด้วยได้เดินทางไปดูที่เกิดเหตุ โดยจอดรถไว้ริมถนน พอจะกลับเข้ามาขึ้นรถก็ถูกระเบิดที่ผู้ก่อความไม่สงบวางไว้จนเสียชีวิต
นายประภาสยืนยันว่า เหตุดังกล่าวไม่กระทบกับการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งของ จ.ปัตตานีแต่อย่างใด เนื่องจากมีการแต่งตั้ง ผอ.หน่วยทดแทนแล้ว รวมทั้งส่วนอุปกรณ์การเลือกตั้งที่เสียหายจากการระเบิดก็มีการเบิกทดแทนแล้ว โดยไม่มีบัตรเลือกตั้งได้ความความเสียหาย เนื่องจากมีการเบิกมาฝากไว้ที่ตำรวจก่อนหน้านี้แล้ว
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า กรณีของนายจักตรา ถือว่าเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ โดยการตรวจตราเหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงที่มีการเลือกตั้ง ก็ถือเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งของ ผอ.หน่วยเลือกตั้งด้วย จึงมีสิทธิได้รับการเยียวยาช่วยเหลือจากเงินกองทุนของ กกต. สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่งานเลือกตั้งให้กับ กกต.