ผ่าประเด็นร้อน
การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่มวลชนคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยฯ (กปปส.) ได้กระจายกำลังกันไปยังจุดที่มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า เช่น หน้าสำนักงานเขตต่างๆในกรุงเทพฯ หรือสนามกีฬากลางในต่างจังหวัด เพื่อคัดค้านการเลือกตั้งล่วงหน้า
เป็นไปตามคาด ในช่วงบ่ายหน่วยเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ได้ประกาศปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ว 46 เขตจากทั้งหมด 50 เขต เช่นเดียวกับอีกหลายจังหวัด โดยเฉพาะในภาคใต้อย่าง นครศรีธรรมราช ที่ยกเลิกการลงคะแนน เพราะมีการปิดล้อมสถานที่ลงคะแนน และไม่มีบัตรให้ประชาชนลงคะแนน
การที่เกิดปัญหามากมายในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าเช่นนี้ แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อการจัดการเลือกตั้ง 2 ก.พ.แน่นอน หากไม่ยอมมีการเลื่อนออกไปที่จะรู้ความชัดเจนในวันอังคารที่ 28 ม.ค.นี้ หลังมีคำยืนยันมาจากฝ่ายรัฐบาลแล้วว่า วันดังกล่าว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีจะไปร่วมพูดคุยกับ ศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อหารือเรื่องการเลื่อนวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ออกไปหรือไม่อย่างไร
หลังมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมาว่า วันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร กำหนดขึ้นใหม่ได้หากมีเหตุอันควร โดยการกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปขึ้นมาใหม่เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันของนายกรัฐมนตรีและประธาน กกต.
ท่าทีก่อนร่วมวงหารือดังกล่าวพบว่า ฝ่ายรัฐบาล-เพื่อไทย ก็ไม่ได้ถึงกับตั้งป้อมจะไม่ยอมเลื่อนเลือกตั้ง แม้จะแสดงท่าทีไม่พอใจคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ถึงกับออกแถลงการณ์คัดค้านไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
แค่ฮึดๆ ฮัดๆ เท่านั้น เพราะเกรงจะเพลี่ยงพล้ำเหมือนตอนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.
จับทางรัฐบาล-เพื่อไทยได้ว่า พร้อมร่วมพูดคุยถกกับประธาน กกต. แต่ก็ตั้งการ์ดไว้เช่นกันว่าหากจะให้มีการเลื่อนการเลือกตั้ง เงื่อนไขสำคัญหลักๆ 3 ข้อ ก็คือ
1. ต้องมีความชัดเจนก่อนว่าหากเลื่อนจาก 2 ก.พ.ไปแล้ว ต้องไม่มีการขัดขวางการเลือกตั้ง 2. กลุ่มต่อต้านการเลือกตั้งที่มีเวลานี้ต้องยกเลิกการชุมนุม และ 3. ไม่มีการบอยคอตการเลือกตั้ง
โดยอ้างว่า เพราะหากเลื่อนการเลือกตั้งไปแล้วยังมีปัญหาขัดขวางการเลือกตั้งอยู่อีก ก็ไม่รู้จะเลื่อนการเลือกตั้งไปทำไม
ถือเป็นเงื่อนไขที่ดูแล้วอาจทำให้การหารือระหว่าง ยิ่งลักษณ์ กับ กกต.ในวันที่ 28 ม.ค.นี้ คงคุยกันได้ยากพอสมควร หากฝ่ายรัฐบาล-เพื่อไทย ตั้งการ์ดสูงแบบนี้โดยไม่ยอมลดเงื่อนไขลงมา ที่เพื่อไทยแสดงออกแบบนี้ เพราะคิดว่า หากยิ่งลักษณ์ ไม่ยอมเสียอย่าง การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก็ทำได้ยาก
เห็นได้ชัดว่ารัฐบาล-เพื่อไทย ยังคิดว่าตัวเองยังเป็นผู้คุมเกมนี้อยู่ครึ่งๆ กับ กกต. เพราะหากถกกันไม่ลงตัว รัฐบาลก็อาจใช้วิธีการเดิมคือ ขอให้นัดตัวแทนทุกพรรคการเมืองในสารบบ กกต.มาหารือ เพื่อหามติว่าเห็นด้วยกับการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปหรือไม่ และควรเลื่อนออกไปถึงเมื่อใด ที่เพื่อไทยน่าจะคอนโทรลเสียงกันได้ ที่จะให้มติออกมาตามที่ต้องการ
ดูได้จากฝ่ายเพื่อไทยอย่าง จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย หรือ พิชิต ชื่นบาน มือกฎหมายพรรคเพื่อไทย ที่พูดตรงกันโดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ว่า กรณีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ต้องมีการเลือกตั้งภายใน 45-60 วันเท่านั้น ดังนั้นหากจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ก็ต้องอยู่ในกรอบ 60 วัน คือไม่เกินวันที่ 6 ก.พ.
หากจะเลื่อนเป็นวันที่ 6 ก.พ. ก็ไม่รู้ว่าจะเลื่อนไปทำไม เพราะไม่ได้แตกต่างอะไรกันเลยกับการขยับออกมาอีกแค่ 4 วัน จาก 2 ก.พ.
ด้านลูกหาบทักษิณอย่าง สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ในฐานะที่ปรึกษาศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ออกมาแบะท่าว่าไม่ควรมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพราะการคัดค้านการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อ 26 ม.ค. มีคนออกมาแค่ 10 %
ท่าทีดังกล่าวของรัฐบาล-เพื่อไทย ก็พอจะเข้าใจกันได้ เพราะพวกนี้อยากให้เลือกตั้งจบเร็วๆ ไม่อยากให้ยืดเยื้อยาวนาน เพราะเกรงเวลาที่ทอดยาวออกไป ถึงขั้นเลยไปถึงช่วงเดือนพฤษภาคม อย่างที่ กกต. สมชัย ศรีสุทธิยากร เสนอไว้ว่า ควรจัดให้มีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 4 พ.ค.
เป็นเวลาที่ยาวนานเกินไป ไม่ควรไปรับลูก กกต. เพราะเกรงช่วงเวลาที่เขยิบออกไปเรื่อยๆ จากกุมภาพันธ์ไปเป็นพฤษภาคม มันจะมีตัวแปรการเมืองอื่นๆ เข้ามาเรื่อยๆ ทำให้รัฐบาล-เพื่อไทย อาจพลาดท่าได้ เพื่อไทยก็เลยต้องส่งสัญญาณขวางการเลื่อนวันเลือกตั้งไว้ก่อน
เหมือนอย่างเช่นแกนนำพรรคอย่าง จาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ วิเคราห์ไว้ในที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และศูนย์อำนวยการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า หากทอดเวลาวันเลือกตั้งออกไปจากเดิมหลายเดือน อาจเปิดช่องให้องค์กรอิสระเข้ามาจัดการกับพรรคเพื่อไทย เช่น ในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิด ส.ส.-ส.ว. ในคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.จนทำให้การเมืองติดเดดล็อก เป็นต้น
เพื่อไทยเลยแสดงท่าทีพร้อมคุย กกต.แต่ก็ต้องได้อย่างที่ตัวเองต้องการเหมือนกัน ทั้งที่ในเงื่อนไขต่างๆ ที่เพื่อไทยต้องการความชัดเจนคือ กปปส.ต้องยุติการชุมนุม เรื่องนี้ต่อให้รัฐบาลคุยกับ กกต.-ตัวแทนพรรคการเมืองกันหลายรอบ ก็ใช่ว่าจะได้ข้อสรุป
แต่เป็นหมากของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการดึงให้ กปปส.และพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาอยู่ในเจรจาด้วยหากต้องการเลื่อนการเลือกตั้ง
ดูแล้วในส่วนของ กปปส.คงไม่ไปร่วมหารืออะไรด้วยแน่นอน เรื่องนี้ได้ปิดประตูไปแล้ว เพราะวันนี้จะเลื่อน-ไม่เลื่อนเลือกตั้ง หรือเลื่อนไปวันไหน แต่หาก ยิ่งลักษณ์ไม่ยอมลาออก เพื่อเปิดทางให้มีสภาประชาชน-นายกฯ คนนอก มันก็ไม่อยู่โหมดที่ สุเทพ-กปปส. จะไปเจรจาด้วยกับยิ่งลักษณ์ และ กกต.
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ถึงเวลานี้ก็ยังคงสงวนท่าที โดยอ้างว่า ต้องรอการหารือในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคที่ชัดขึ้นหน่อยก็คือ ท่าทีของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ที่แสดงออกเมื่อ 26 ม.ค. ย้ำไปในแนวทางให้เลื่อนเลือกตั้ง โดยระบุว่าการเลื่อนเลือกตั้งก็เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ ไม่ใช่เรื่องการต่อรองกัน รัฐบาลอยู่ในฐานะผู้ก่อปัญหา จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะมาต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น หากนายกฯ ไม่ดำเนินการใดๆ ก็เสี่ยงจะถูกยื่นถอดถอนได้จากกรณีจงใจให้เกิดการเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
แบบนี้ก็จับทางได้ไม่ยากว่า ฝ่ายประชาธิปัตย์ก็ต้องเดินเรื่องนี้ให้ประสานสอดรับกับการเคลื่อนไหวของสุเทพ-กปปส. แม้ที่ผ่านมาประชาธิปัตย์จะไม่ได้บอกชัดว่าให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเหมือนอย่างที่ กปปส.ประกาศ แต่เมื่อฐานเสียงประชาธิปัตย์กับกลุ่มมวลมหาประชาชนฯ เป็นกลุ่มเดียวกัน ประชาธิปัตย์ก็คงต้องเดินจังหวะให้สอดคล้องกับมวลชน
กระนั้นก็พบว่า กกต.เองก็คงรู้ดีว่า การเลื่อนเลือกตั้งออกไปอาจช่วยทำให้มีเวลาในการแก้ปัญหาได้ยาวนานขึ้น แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่า หลายปัญหาที่ กกต.ต้องพบเจอในการจัดการเลือกตั้ง 2 ก.พ.จะไม่เจออีก หากมีการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป
กกต.จึงพยายามแสดงท่าทีจะเป็นเจ้าภาพออกบัตรเชิญคู่ขัดแย้งการเมืองทุกกลุ่มมาถอยคนละก้าว เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันซึ่งเป้าหมายของ กกต.ที่ต้องการให้มาร่วมมากสุดก็คงไม่พ้น กปปส.-ประชาธิปัตย์แน่นอน จนถูกวิเคราะห์ว่ามันก็คือการกดดันแบบกลายๆ จาก กกต. ว่าหากขอให้มาร่วมพูดคุยหาทางออกแล้วใครไม่ร่วมพูดคุย สังคม-ประชาชนจะตัดสินเอง ทั้งที่ กกต.เองอาจไม่ได้คิดในเหลี่ยมมุมการเมือง แต่เมื่อช่วงนี้เป็นช่วงจังหวะแย่งชิงความได้เปรียบทางการเมือง เจตนาของ กกต.ก็คงไม่สบอารมณ์มวลมหาประชาชนเท่าใดนัก
แต่ก่อนจะไปถึงขั้นจะเอา กปปส.-ประชาธิปัตย์ มาร่วมนั่งคุยกับรัฐบาล-กกต.-พรรคเพื่อไทย ยกแรก ยิ่งลักษณ์ หารือ กกต. อังคารที่ 28 ม.ค.นี้ เอาให้ได้ข้อสรุปเสียก่อนจะดีกว่า ว่าจะเอาอย่างไรกัน เพราะเพื่อไทย ก็ดูจะไม่ยอม กกต.ง่ายๆ แน่นอน